นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สรท.ได้ประชุม Asian Shippers’ Alliance (ASA) Online Meeting 2021 กับประเทศสมาชิก เช่น อินโดนีเซีย บังกลาเทศ ฮ่องกง และประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือโลก ผู้บริหารสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือของยุโรป เพื่อหารือถึงปัญหาที่ผู้ส่งออกทั่วโลกได้รับผลกระทบจากปัญหาตู้สินค้า และระวางเรือขาดแคลน รวมถึงการปรับขึ้นค่าระวาง โดยปัจจุบันค่าระวางเพิ่มขึ้น 4-5 เท่า ซึ่งกรณีนี้ไม่เคยเกิดมาก่อนในรอบหลายปีเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกทุกคนได้รับความเดือดร้อน
ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันว่า สภาผู้ส่งออกยุโรปจะทำหนังสือไปยังคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของแต่ละประเทศ ที่เป็นที่ตั้งของบริษัทสายเดินเรือ เพื่อให้ตรวจสอบการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากการบริหารจัดการของสายเรือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการพิจารณาค่าระวางเรือให้มีความเหมาะสม โดย คำนวณราคาจากต้นทุนที่แท้จริง รวมถึงพิจารณามาตรการยกเว้นการรวมตัวของสายเรือ เพื่อไม่ให้มีการกำหนดอุปสงค์และอุปทาน
“ถ้ายกเว้นส่วนนี้ได้ จะทำให้บริษัทสายเดินเรือไม่สามารถรวมกลุ่มเพื่อกำหนด หรือควบคุมอุปสงค์และอุปทานได้ ส่งผลให้ปริมาณเรือและตู้มีมากขึ้นในตลาด ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ต้องปรับค่าระวางเรือลง ที่ประชุมยังเห็นด้วยที่ให้สมาชิกยื่นหนังสือไปยังองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ IMO เพื่อขอให้พิจารณาเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน โดย สรท.ก็จะยื่นหนังสือไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้ผู้แทนกระทรวงที่อยู่ใน IMO ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้”
นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการ สรท. กล่าวว่า ค่าระวางเรือสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าของผู้ส่งออกไทยมาก เช่น ตู้สินค้า 1 ตู้มีราคา 1 ล้านบาท แต่โดนค่าระวางเรือไป 300,000 บาท เท่ากับต้นทุนการขนส่งไปแล้ว 30% ของราคาสินค้า หากเป็นสินค้ามูลค่าต่ำไม่เกิน 1 ล้านบาทต้นทุนก็ยิ่ง สูงมาก เกินครึ่งกว่าราคาสินค้า แต่ก็ไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ ยอมแบกรับค่าระวางที่สูงเพื่อให้ธุรกิจเดินได้ โดยจากเดิมที่คาดไว้ว่าค่าระวางเรือจะปรับลดลงในปลายเดือนนี้แต่ก็ยัง
ไม่มีสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าจะปรับลดลง.