เพราะ “โควิด-19” ไวรัสร้ายทำพลเมืองโลกเดือดร้อนแสนสาหัส มาตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน และยังไร้วี่แววว่าจะซาลง ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ 19 มิ.ย.2564 รวม 178.89 ล้านราย เสียชีวิต 3.86 ล้านราย ส่วนในไทย ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 214,449 ราย เสียชีวิต 1,609 ราย
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย รัฐบาลยังต้องออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อแบ่งเบาบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพ ครอบคลุม ประชากรตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป ราว 51 ล้านคน ประชากร 1 คน สามารถเข้าร่วมได้ 1 โครงการ
โดยระลอก 3 นี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกครั้ง แม้จะเป็นมาตรการเก่า ที่เคยนำออกมาใช้แล้ว แต่เป็นมาตรการที่ได้รับความนิยมและได้รับเสียงชื่นชม เริ่มต้น จากโครงการ “คนละครึ่ง” เปิดตัวอีกครั้งด้วยเฟสที่ 3 ไฟเขียวให้มีการลงทะเบียน 31 ล้านคน คนละ 3,000 บาท ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com และผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง
สำหรับโครงการคนละครึ่งนั้น ให้สิทธิประชาชนใช้จ่ายซื้อสินค้าไม่เกินวันละ 300 บาท โดยภาครัฐจะร่วมจ่ายสมทบให้ 50% หรือไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน ประชาชนควักเงินจ่ายเองอีก 150 บาท เช่น ซื้อข้าวผัดกะเพราหมูสับไข่ดาว 1 กล่อง ราคา 45 บาท ประชาชนออกเงินเอง 22.50 บาท รัฐบาลจ่ายสมทบ 22.50 บาท
“คนละครึ่ง” ครั้งนี้รัฐใช้เงิน 93,000 ล้านบาท แบ่งจ่าย 2 รอบ รอบแรกเดือน ก.ค.-ก.ย.2564 วงเงิน 1,500 บาทต่อคน และรอบสองเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2564 อีก 1,500 บาท คาดหวังว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 186,000 ล้านบาท
ส่วนมาตรการถัดมาเป็นมาตรการใหม่ถอดด้าม คือ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” เพื่อกระตุ้นให้คนมีกะตังค์ออกมาจับจ่ายใช้สอย โดยจะได้รับวงเงินสนับสนุนในรูปของบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) วงเงินใช้จ่ายที่จะนำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher ไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน และยอดใช้จ่ายไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน และจะได้รับสิทธิ e-Voucher สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โครงการจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย. นี้ ส่วนเงินสิทธิ e-Voucher จะเริ่มคืนให้ผู้เข้าร่วมโครงการแล้วนำไปใช้ได้ตั้งแต่เดือน ส.ค.-ต.ค.นี้ โดยโครงการนี้รัฐใช้เงิน 28,000 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 268,000 ล้านบาท
และมาตรการสุดท้าย คือ การเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ทั้งกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ด้วยการเพิ่มเงินให้คนละ 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือน รวมเป็นเงิน 1,200 บาท สำหรับผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.65 ล้านคน สามารถใช้บัตรสวัสดิการจับจ่ายซื้อสินค้าได้ผ่านร้านธงฟ้า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ส่วนกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ 2.5 ล้านคน สามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนจับจ่ายซื้อสินค้าได้ที่ร้านธงฟ้าและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ โดยมาตรการเพิ่มกำลังซื้อ จะมีเม็ดเงินหมุนสู่ระบบเศรษฐกิจ 19,380 ล้านบาท
“เฉพาะมาตรการเยียวยาโควิดระลอก 3 รัฐบาลจะใช้เงิน 140,380 ล้านบาท คาดหวังมีเม็ดเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจ 473,000 ล้านบาท หรือกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า 1% โดยปี 2564 ตั้งเป้าเศรษฐกิจขยายตัวที่ 2.3%” น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าว
ส่วนมาตรการเยียวยาก่อนหน้านี้ และกำลังจะสิ้นสุดการช่วยเหลือลงในวันที่ 30 มิ.ย.2564 อันได้แก่ โครงการเราชนะ แจกเงินช่วยเหลือคนละ 9,000 บาท รวม 33.50 ล้านคน วงเงิน 280,242 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 259,997 ล้านบาท, โครงการ ม.33 เรารักกัน คนละ 6,000 บาท วงเงิน 48,841 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 39,317 ล้านบาท รวมเป็นเงินช่วยเหลือทั้ง 2 มาตรการ 329,083 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายจริง 299,314 ล้านบาท
ทั้งนี้ ประชาชนรายใดที่ยังใช้วงเงิน “เราชนะ-ม.33 เรารักกัน” ไม่ครบเต็มจำนวนที่รัฐบาลให้ ควรรีบใช้จ่ายภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ หากไม่ใช้เงินที่เหลือต้องคืนรัฐ
และยังมีมาตรการก่อนหน้านี้เมื่อปี 2563 คือ “เราไม่ทิ้งกัน” ช่วยเหลือประชาชน 15.27 ล้านคน วงเงิน 228,919 ล้านบาท, เยียวยาเกษตรกร 7.57 ล้านคน วงเงิน 113,303 ล้านบาท, ส่งเงินสมทบกลุ่มผู้ประกันตน 13,000 คน วงเงิน 208 ล้านบาท, การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ คนพิการ เด็กแรกเกิด 6.66 ล้านคน วงเงิน 19,990 ล้านบาท, เยียวยาผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1.03 ล้านคน วงเงิน 3,080 ล้านบาท และการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ถือบัตรสวัสดิ การแห่งรัฐอีกคนละ 200 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวม 13.59 ล้านคน วงเงิน 41,284 ล้านบาท ตลอดจนมาตรการบรรเทาค่าน้ำ ค่าไฟ ช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.2564 วงเงิน 4,512 ล้านบาท ประชาชนได้ประโยชน์ 28 ล้านคน
รวมเบ็ดเสร็จทุกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมาตั้งแต่ปี 2563–2564 เป็นเงินกว่า 740,074.99 ล้านบาท
อัดฉีดกันขนาดนี้ ก็เพื่อหวังช่วยเหลือประชาชน ฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักได้ไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่สำคัญกว่า น่าจะเป็นการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ถล่มแจกแบบหมดเนื้อหมดตัว หากวัคซีนไม่มา เศรษฐกิจน่าจะฟื้นยาก...
ดวงพร อุดมทิพย์