จ่อฟ้องคดีอาญาแก๊งถุงมือยาง ป.ป.ช.แจ้งข้อหาคน อคส.-ภาคเอกชน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จ่อฟ้องคดีอาญาแก๊งถุงมือยาง ป.ป.ช.แจ้งข้อหาคน อคส.-ภาคเอกชน

Date Time: 18 พ.ค. 2564 07:27 น.

Summary

  • ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงทุจริตถุงมือยาง 1.2 แสนล้านเสร็จแล้ว พบสมรู้ร่วมคิดกระทำผิดจริง แจ้งข้อกล่าวหา “แก๊งถุงมือยาง” ทั้งหมด ทั้งเจ้าหน้าที่อคส.-ผู้บริหารระดับสูง และภาคเอกชนแล้ว

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงทุจริตถุงมือยาง 1.2 แสนล้านเสร็จแล้ว พบสมรู้ร่วมคิดกระทำผิดจริง แจ้งข้อกล่าวหา “แก๊งถุงมือยาง” ทั้งหมด ทั้งเจ้าหน้าที่อคส.-ผู้บริหารระดับสูง และภาคเอกชนแล้ว นัดรับทราบข้อกล่าวหาสัปดาห์หน้า แต่มีเวลา 30 วันโต้แย้งได้ ถ้าข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น ชี้มูลความผิดคดีอาญา พร้อมส่งอัยการส่งฟ้องศาล จากนั้น ปปง.อายัดทรัพย์ และดำเนินคดีแพ่ง ส่วนโทษวินัยร้ายแรง “พ.ต.อ.รุ่งโรจน์และพวก 2 คน” พิจารณาเสร็จเร็วๆนี้ โดนไล่ออกแน่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีองค์การคลังสินค้า (อคส.) จัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว และพบว่า ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ร่วมกันกระทำผิดจริง และจัดซื้อโดยมิชอบ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหากระทำความผิดทางอาญาผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งเจ้าหน้าที่ อคส. และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยนัดให้มารับทราบข้อกล่าวหาสัปดาห์หน้า สำหรับเจ้าหน้าที่ อคส.ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา มีทั้ง พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการ อคส., นักบริหารระดับ 8 อีก 2 ราย รวมถึงผู้บริหารระดับสูง ที่เจ้าหน้าที่ อคส.ทั้ง 3 รายดังกล่าว ให้ข้อมูลว่าเป็นผู้สั่งให้ดำเนินการจัดซื้อถุงมือยาง ส่วนภาคเอกชน เช่น ผู้บริหารบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด คู่สัญญาของ อคส. ที่เป็นผู้ผลิตถุงมือยางให้ อคส. เป็นต้น

ภายหลังจาก ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา สามารถส่งข้อมูลโต้แย้งได้ภายใน 30 วัน หากคณะอนุกรรมการพิจารณาเห็นว่าข้อโต้แย้งมีน้ำหนัก หรือหักล้างผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการได้ ก็จะไม่ชี้มูลความผิด แต่หากข้อโต้แย้งไม่มีน้ำหนัก หรือไม่สามารถหักล้างผลการไต่สวนของคณะอนุกรรมการได้ จะชี้มูลความผิดผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา เพื่อส่งสำนวนคดีให้อัยการส่งฟ้องร้อง ดำเนินคดีอาญาต่อศาลต่อไป

สำหรับความผิดของผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหา ในส่วนเจ้าหน้าที่ อคส. มีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 พนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต มีโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 มาตรา 151 เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ โทษจำคุก 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000-40,000 บาท รวมถึงมาตรา 157 เจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต โทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ หลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และส่งให้อัยการฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีอาญาแล้ว สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะอายัดเงินในบัญชีของการ์เดียน โกลฟส์ ที่ อคส.โอนเป็นค่ามัดจำสินค้า 2,000 ล้านบาท จากนั้นเจ้าของทรัพย์ต้องพิสูจน์ทรัพย์ว่าได้มาโดยสุจริตหรือไม่ ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ จะถูกดำเนินคดีแพ่ง และถูกยึดทรัพย์ และ อคส.สามารถขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ เพราะเป็นผู้เสียหาย ส่วนเจ้าหน้าที่ อคส.ทั้งหมด จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่ง เพื่อให้ชดใช้ความเสียหายให้กับอคส. ขณะที่การพิจารณาโทษทางวินัย พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ และนักบริหารระดับ 8 อีก 2 ราย ขณะนี้คณะกรรมการพิจารณาโทษวินัยร้ายแรง อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดจะเสร็จในเร็วๆนี้ และอาจจะถูกลงโทษทางวินัยร้ายแรง คือไล่ออก ทำให้ไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญใดๆ และ อคส.จะพิจารณาพักงาน พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ และเจ้าหน้าที่อคส.ทั้ง 2 ราย เพราะไม่ต้องการให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับเอกสารหลักฐานต่างๆ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ