เจ้าหนี้บินไทยกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่พอใจแผน “เจ็บหนักกว่า” โหวตให้ล้ม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เจ้าหนี้บินไทยกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่พอใจแผน “เจ็บหนักกว่า” โหวตให้ล้ม

Date Time: 14 พ.ค. 2564 06:01 น.

Summary

  • เจาะเบื้องลึกเจ้าหนี้เลื่อนโหวตแผนฟื้นฟูบินไทย ไม่พอใจผู้บริหารแผนหารือแต่กระทรวงคลัง ไม่ยอมหารือเจ้าหนี้หลัก ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์อยู่ในสถานการณ์ลำบาก

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย


เจาะเบื้องลึกเจ้าหนี้เลื่อนโหวตแผนฟื้นฟูบินไทย ไม่พอใจผู้บริหารแผนหารือแต่กระทรวงคลัง ไม่ยอมหารือเจ้าหนี้หลัก ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์อยู่ในสถานการณ์ลำบาก หวั่นหากไม่ยกมือโหวตให้ผ่านแผนฟื้นฟู จะถูกแฮร์คัทตัดหนี้สูญ 70% ซึ่งจะเสียหายหนัก ด้านธนาคารเจ้าหนี้จะยอมโหวตผ่านเช่นกัน ในวันที่ 19 พ.ค.ชี้ปรับปรุงแผน ดีกว่าปล่อยล้มละลาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมระหว่างเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี กับบรรดาเจ้าหนี้รายใหญ่ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีวงเงินรวมกัน 170,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย สถาบันการเงินเจ้าหนี้ และสหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่ง ซึ่งนำเงินของสมาชิกไปซื้อหุ้นกู้ของการบินไทย ได้รวมตัวกันขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ยืดระยะเวลาการประชุมเพื่อโหวตรับหรือไม่รับแผนฟื้นฟูกิจการของกลุ่มผู้บริหารแผนที่มี นายปิยะสวัสดิ์ อัมมระนันทน์ เป็นประธานออกไปก่อน เนื่องจากเพิ่งได้รับเอกสารแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยหมาดๆ ก่อนการประชุมที่เป็นไปตามการนัดหมายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมาเพียงวันเดียวเท่านั้น

ทั้งนี้ เจ้าหนี้บางรายเห็นว่า ผู้บริหารแผน และผู้บริหารการบินไทย พยายามปกปิดข้อมูลวิธีการบริหารแผน และการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าหนี้ต้องทราบ โดยเฉพาะเจ้าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งในเวอร์ชันเดิม ผู้บริหารแผนตั้งใจจะแฮร์คัทตัดหนี้สูญของสหกรณ์ออมทรัพย์แต่ละแห่งเกือบทั้งหมด โดยไม่ยอมให้รายละเอียดใดๆ หรือขอหารืออย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ ยังส่งเอกสารการจัดทำแผนฟื้นฟูให้พิจารณาในเวลาที่จำกัดด้วย”

ผู้สื่อข่าวได้รับการบอกเล่าด้วยว่า ผู้บริหารแผน และผู้บริหารการบินไทย เน้นหนักไปคุยกับกระทรวงการคลัง และเจ้าหนี้ไม่สำคัญบางรายเท่านั้น โดยไม่ยอมเรียกหารือกับธนาคารเจ้าหนี้ และสหกรณ์ออมทรัพย์เจ้าหนี้ ซึ่งจริงๆมีจำนวนมากถึง 82 ราย ในจำนวนนี้ มีสหกรณ์ใหญ่ๆที่เอาเงิน สมาชิกหรือพนักงานที่นำมาฝากไว้ไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ของการบินไทยตามคำโฆษณาของการบินไทย และการจัดอันดับเรตติ้งของสถาบันการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งทริส ซึ่งจัดให้เรตติ้งการบินไทยอยู่ในระดับ AAA-ทำให้ไม่รู้สถานะที่แท้จริง

สำหรับสหกรณ์ออมทรัพย์รายใหญ่ๆที่นำเงินฝากของพนักงานไปหาผลประโยชน์ตอบแทนที่น่าจะดีกว่า แต่กลับผิดพลาดไป ก็เช่น สหกรณ์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 8,300 ล้านบาท, สหกรณ์พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2,800 ล้านบาท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2,500 ล้านบาท ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด 2,200 ล้านบาท บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) 2,000 ล้านบาท กรมทางหลวง 1,900 ล้านบาท มหาวิทยาลัยมหิดล 1,600 ล้านบาท พนักงานการบินไทย 1,600 ล้านบาท กทม. 950 ล้านบาท และกรมป่าไม้ 890 ล้านบาท เป็นต้น

โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งหมด เป็นเจ้าหนี้การบินไทยอยู่ประมาณ 42,200 ล้านบาท ที่เหลือเป็นนักลงทุนรายย่อย รวมกันเป็นเงิน 70,000 ล้านบาท ทั้งนี้ นอกจากสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 24% จะขอให้มีการแก้ไขแผนแล้ว ผู้บริหารแผนยังยื่นขอแก้ไขแผนของตัวเองที่นำเข้าสู่การประชุมด้วย ทำให้ฝ่ายเจ้าหนี้เห็นความไม่พร้อม และไม่เป็นมืออาชีพของผู้บริหารแผน และผู้บริหารการบินไทยซึ่งมีเวลาในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ทำให้การบินไทยเสียหายอยู่หลายเดือน แต่กลับไม่มีความคืบหน้า

“เราไม่สบายใจในการขายทรัพย์สิน เช่น บริษัท บาฟ จำกัด (มหาชน) และศูนย์ฝึกพนักงาน แล้วเอาเงินไปใช้จ่ายผิดประเภท ไม่สบายใจที่จะขอกู้เงินเราอีก 15,000 ล้านบาท เพื่อจะเอาไปจ่ายชดเชยแก่พนักงานที่สมัครใจลาออก เพราะสถานะของการบินไทยขณะนี้ต้องถือว่าล้มละลายแล้ว จะนำเงินที่มีอยู่ไปจ่ายให้แก่พนักงานไม่ได้ เพราะพนักงานก็ต้องรอการชำระหนี้เหมือนๆกับเจ้าหนี้ด้วย...ถ้าจำเป็นต้องจ่าย มากที่สุดต้องไม่เกิน 40,000 ต่อราย”

ปัญหาสำคัญก็คือ เจ้าหนี้รับไม่ได้ที่เอาคนที่มีส่วนทำให้การบินไทยเจ๊งมาเป็นผู้บริหารแผน “มันเหมือนกับการให้รางวัลในขณะที่คุณสร้าง ปัญหาให้กับบริษัทไว้ ถ้าต้องการจะแก้ไขให้การบินไทยกลับมาทำธุรกิจการบินใหม่ได้จะต้องตั้งผู้บริหารแผนใหม่ ตลอดจนถึงผู้บริหารการบินไทยใหม่ที่สำคัญ ก็คือต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของการบินไทยใหม่ด้วยการยุติการดำเนินธุรกิจของการบินไทย แล้วใช้สายการบินไทยสมายล์ ซึ่งมีวัฒนธรรมองค์กรแตกต่างไปจากการบินไทยมาก ทั้งเงินเดือน และองคาพยพที่มีต้นทุนต่ำกว่าทุกเรื่อง

กระนั้นก็ตาม สถาบันการเงินเจ้าหนี้หวั่นว่า สหกรณ์ออมทรัพย์เจ้าหนี้ อาจจะถูกบีบจากเงื่อนไขของการบิน ไทยที่ว่า หากสหกรณ์ไม่ยกมือโหวต ให้แผนฟื้นฟูผ่าน การบินไทยจะไม่ยอมใช้หนี้สหกรณ์ และอาจแฮร์คัทตัดหนี้สูญสูงถึง 70% โดยส่วนที่เหลือจะขอยืดเวลาการชำระหนี้ออกไป 3-6 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น ซึ่งแต่ละสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่สามารถยอมให้เกิดขึ้นได้ แม้จะมองเห็นว่า อนาคตเป็นเรื่องลำบากที่การบินไทยจะอยู่รอดได้ก็ตาม

“สำหรับธนาคารเจ้าหนี้ น่าจะโหวตผ่านให้ถ้าผู้บริหารแผนยอมแก้ไขปรับปรุงแผน เพราะหากไม่โหวตให้ในวันที่ 19 พ.ค.นี้ การบินไทยก็อาจจะจบเลย โดยเฉพาะในกรณีที่ นายกรัฐมนตรีไม่ยอมพิจารณาข้อเสนอที่การบินไทยกลับมาเป็นรัฐ วิสาหกิจอีกครั้ง”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ