จับตา ชงต่ออายุ "เราชนะ" 2 เดือน ทุ่ม 2 แสนล้าน เคาะเยียวยาโควิดฯรอบใหม่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตา ชงต่ออายุ "เราชนะ" 2 เดือน ทุ่ม 2 แสนล้าน เคาะเยียวยาโควิดฯรอบใหม่

Date Time: 20 เม.ย. 2564 02:37 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • จับตาการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 เม.ย.2564 เตรียมคลอดมาตรการเยียวยาโควิดฯรอบใหม่ เพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชน โดยเล็งต่ออายุโครงการ "เราชนะ" อีก 1-2 เดือน ใช้เงินเพิ่ม 1-2 แสนล้านบาท

Latest


  • จับตา "คลัง" เคาะมาตรการช่วยโควิดฯ ชง ครม.ต่ออายุ "เราชนะ" ช่วยเหลือประชาชน
  • กระทรวงการคลัง ชง ครม.ต่ออายุ “เราชนะ” เพิ่ม 1-2 เดือน
  • "คลัง" ชงครม. ขยายเวลาใช้เงินเราชนะ 7,000 บาท อีก 1-2 เดือน

จับตา การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 เม.ย.นี้ "กระทรวงการคลัง" จะเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน จากผลกระทบโควิด-19 ให้พิจารณา เนื่องจากประเมินว่า "โควิดฯระลอกใหม่" ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง จากการแพร่กระจายไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ จึงจะเสนอให้ต่ออายุและเพิ่มเงินในมาตรการ "เราชนะ" ออกไปอีก 1-2 เดือน จากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.นี้ เป็นสิ้นสุดเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ซึ่งจะใช้เงินเพิ่ม 100,000-200,000 ล้านบาท และดำเนินการต่อเนื่องได้ทันที

อย่างไรก็ตาม หาก ครม.เห็นชอบยังต้องหารือกับคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ เนื่องจากต้องมีการขออนุมัติและเสนอขอ ครม.โยกเงินในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิดฯ ซึ่งปัจจุบันเหลืองบไม่มาก ให้มาอยู่ในส่วนของวงเงินเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ เพื่อใช้เยียวยาช่วยเหลือประชาชนต่อไป

ผู้รับสิทธิ์พุ่ง 32.8 ล้านคน ยอดใช้จ่ายเฉียด 2 แสนล้าน

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการเราชนะ ณ วันที่ 19 เมษายน 2564 ว่า มีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการฯ แล้วรวมทั้งสิ้นจำนวน 32.8 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 199,944 ล้านบาท

ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1.3 ล้านกิจการ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • 1) ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 73,133 ล้านบาท
  • 2) ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 16.8 ล้านคน และมีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 112,772 ล้านบาท

  • 3) ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 2.3 ล้านคน มียอดใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา จำนวน 14,039 ล้านบาท

มี "งบกลาง-เงินกู้" ใช้เยียวยาโควิดฯ ได้อีก 2.6 แสนล้าน

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ปัจจุบันวงเงินที่ใช้เยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 เหลืออยู่ประมาณ 300,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเหลืออยู่ 200,000 ล้านบาท และ 2.งบกลางในปี 2564 ซึ่งเดิมตั้งงบกลางไว้ 139,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบกลางรายการสำรองจ่าย ในกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 99,000 ล้านบาท ปัจจุบันใช้แล้ว 19,000 ล้านบาท คงเหลือ 80,000 ล้านบาท และงบกลางในส่วนโควิดฯ 40,000 ล้านบาท คงเหลือ 20,000 ล้านบาท โดย 20,000 ล้านบาทที่ใช้ไปนั้น รัฐบาลใช้มัดจำซื้อวัคซีนและเพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากรทางการแพทย์

"รวมแล้วงบกลางที่คงเหลือ 2 ส่วน สามารถใช้ได้ 100,000 ล้านบาท หากนำไปเยียวยาประชาชนคงใช้ 50,000-60,000 ล้านบาท เพราะต้องกันบางส่วนไว้รองรับภัยพิบัติจากภัยแล้ง น้ำท่วม หรืออื่นๆ 40,000-50,000 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อรวมเงินกู้ที่เหลือและงบกลางที่ใช้เยียวยาประชาชนได้ จะอยู่ที่ 250,000-260,000 ล้านบาท"

อย่างไรก็ตามในปีงบ 2564 ไม่จำเป็นต้องโอนงบจากส่วนราชการมาใช้เยียวยาผลกระทบโควิดฯเพิ่ม เหมือนปี 2563 ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน และการโอนเงินจากส่วนราชการใช้เวลา 2-3 เดือน หากจะทำตอนนี้คงไม่ทัน และขณะนี้วงเงินที่เหลืออยู่ยังมีเพียงพอรับมือโควิดฯได้ เพราะการออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละครั้งใช้เงินไม่เกิน 100,000 ล้านบาท ส่วนงบจัดซื้อวัคซีนที่อนุมัติแล้ว 6,000 ล้านบาท อยู่ในส่วนของงบปี 2564 ไม่ได้ตั้งงบจัดซื้อไว้ในงบปี 2565 แต่หากจำเป็นต้องใช้เงิน สามารถใช้งบของกรมควบคุมโรคสำหรับการจัดซื้อวัคซีนทั่วไปได้

หากจำเป็นอาจขยายเพดานหนี้สาธารณะ เพื่อกู้เงินเพิ่ม

นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 20 เม.ย.นี้ สำนักงบประมาณจะเสนอให้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท เพื่อขอจัดทำเอกสารงบประมาณ โดยแบ่งเป็นประมาณการรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท และการกู้งบประมาณขาดดุล 700,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากมีการแพร่ระบาดของโควิดฯรอบ 4 รัฐบาลยังมีงบกลางที่จะดึงมาใช้ได้อีก 89,000 ล้านบาท รวมทั้งงบกลางฉุกเฉินเมื่อจำเป็นที่สำรองไว้สำหรับภัยพิบัติอีก 50,000 ล้านบาท ส่วนความจำเป็นในการกู้เงินเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ตามวินัยการเงินการคลังกำหนดว่า หนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งสามารถใช้เกณฑ์นี้ได้ในภาวะปกติ แต่ในช่วงโควิดฯถ้าจะกู้เงินเพิ่ม อาจต้องขยับเพดานวินัยการเงินการคลัง.

เรียบเรียงโดย : หงเหมิน

กราฟิก : Varanya Phae-araya


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ