ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทางการเงิน ทำให้ระบบการเงินทั่วโลกเปลี่ยนผ่านสู่การชำระเงินดิจิทัล และกำลังก้าวสู่ “สังคมไร้เงินสด”
ไบโอเมตริก (Biometrics) หรือข้อมูลชีวมิติ ได้ถูกนำมาใช้พิสูจน์ตัวตน เพื่อการทำธุรกรรมด้านความมั่นคงมากมาย รวมทั้งใช้ในการพิสูจน์ตัวตนในการทำธุรกรรมทางการเงิน และในอนาคตอันใกล้นี้ คาดการณ์ว่า Biometrics จะเข้ามาทดแทนการใช้บัตรพลาสติก หรือการใช้เอกสารทางการเงินมากยิ่งขึ้น
สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมา ได้พัฒนานวัตกรรมการเงินเหล่านี้เช่นกัน โดยส่วนหนึ่งผ่านการทดสอบจาก Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อใช้ในวงกว้าง และอีกส่วนอยู่ระหว่างการทดสอบ
ขณะเดียวกัน วิกฤติโควิด-19 ยังเป็นอีกส่วนที่สำคัญที่ทำให้การใช้เงินสด และการไปธนาคารลดน้อยลง รวมทั้งเป็นแรงผลักดันให้คนไทย ให้เริ่มคุ้นชินกับการสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อชำระเงิน คุ้นชินกับการโอนเงินทางโทรศัพท์ หรือการสแกนหน้าเพื่อเข้าแอปพลิเคชันธนาคาร เข้าใจการใช้คำสั่งเสียง หรือใช้ลายนิ้วมือเพื่อเปิดบัญชี
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้โลกการเงินในอนาคตจะแตกต่างจากปัจจุบัน การสแกนใบหน้า ม่านตา หรือฝ่ามือ เพื่อหาตัวตน ที่เคยเห็นกันในภาพยนตร์ไซไฟ กำลังใกล้เคียงมากขึ้นเรื่อยๆในชีวิตจริง
วันนี้ ความคืบหน้าของการใช้ Biometrics ในระบบสถาบันการเงินอยู่ที่ไหน และมองไปข้างหน้า “โลกการเงินใบใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร” “ทีมเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์ และฝ่ายระบบการชำระเงิน ธปท.รวมทั้ง สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
ทั้งนี้ ก่อนจะไปท่องโลกการเงินใหม่ จะขอเริ่มต้นจากการทำความรู้จักว่า Biometrics คืออะไรก่อน
Biometrics เป็นการผสมผสานกันระหว่างคุณลักษณะทางชีวภาพของมนุษย์ กับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน ทำให้สามารถตรวจวัดคุณลักษณะทางกายภาพ และพฤติกรรม ที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละคน เพื่อการระบุตัวตนบุคคล ซึ่งมีความแม่นยำกว่ารูปแบบอื่นค่อนข้างมาก
โดยทั่วไปข้อมูลชีวมิติจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ลักษณะทางกายภาพ (Physiological Biometrics) ยกตัวอย่าง เช่น ลายนิ้วมือ ลักษณะใบหน้า ลักษณะมือ รูปทรงมือ เส้นเลือดบริเวณฝ่ามือ จอตา (Retina) ม่านตา (Iris) และลักษณะทางพฤติกรรม (Behavioural Biometrics) เช่น ลักษณะการพิมพ์ ลายมือเขียน การเซ็นชื่อ เสียงพูด
ปัจจุบันมีการใช้งาน Biometrics ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก โดยนำมาใช้งานในเรื่องที่ต้องการความมั่นใจว่าเป็นบุคคลนั้นจริงๆ เช่น การตรวจสอบใบหน้า หรือลายนิ้วมือของผู้ที่เดินทางเข้าออกประเทศ การจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน หรือการทำ Passport และ Visa รวมทั้งการติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ขณะที่ในภาคการเงินธนาคาร มีการนำ Biometrics มาใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งการให้บริการผ่านสาขา ช่องทางออนไลน์ คอลเซ็นเตอร์ ตู้ เอทีเอ็ม และซุ้มการเงินอัตโนมัติแบบบริการตนเอง (Kiosk) ยืนยันตัวตนเพื่อฝาก–ถอนเงิน โอนเงิน ชำระเงิน หรือทำธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ
นอกจาก นั้น เรายังสามารถเห็นการใช้ Biometrics เพื่อใช้ยืนยันตัวตนในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งทำให้การใช้จ่ายของผู้คนในโลกสะดวกสบายมากขึ้น เช่น ผู้ให้บริการอี-มันนี่ e-Money รายใหญ่ในประเทศจีน มีบริการที่เรียกว่า Smile-to-pay ซึ่งใช้เทคโนโลยี facial recognition ทำให้ผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องหยิบกระเป๋าเงิน หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือในการชำระเงิน เพียงแค่สแกนใบหน้าผ่านกล้องที่ติดอยู่กับจุดรับชำระเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปั๊มน้ำมันบางแห่งในสหรัฐฯ ยังมีบริการที่เรียกว่า Touchless Gas Payment โดยใช้เทคโนโลยี voice recognition หรือการจดจำเสียง ทำให้การเติมน้ำมันในสหรัฐฯ สามารถโดยผู้ใช้บริการการสั่งจ่าย e-money เพียงใช้คำสั่งเสียงเท่านั้น
สำหรับหลักการทำงานของ Biometrics ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด ในต่างประเทศ หรือในประเทศไทย จะประกอบด้วย 5 ขั้นตอน
1.การรวบรวมข้อมูล Biometrics จากบุคคล เช่น การถ่ายภาพใบหน้าของลูกค้า
2.การแปลงข้อมูล Biometrics ให้เป็นข้อมูลต้นแบบสำหรับใช้เปรียบเทียบในอนาคต เช่น แปลงจากภาพใบหน้าให้เป็นข้อมูลการระบุตำแหน่งขององค์ประกอบที่สำคัญบนใบหน้า เช่น ม่านตา ปลายจมูก มุมปาก
3.การจัดเก็บข้อมูลต้นแบบลงในระบบเพื่อใช้เปรียบเทียบในอนาคต เช่น บันทึกข้อมูลภาพใบหน้าที่ถูกแปลงให้เป็นข้อมูลต้นแบบแล้วลงในฐานข้อมูล
4.เปรียบเทียบระหว่างข้อมูล Biometrics 2 ชุดคือ Biometrics ที่เราต้องการจะนำมาตรวจสอบ และชุดข้อมูลต้นแบบ เช่น เปรียบเทียบระหว่างภาพที่ลูกค้าถูกถ่ายด้วยกล้อง Web Cam ที่สาขา กับข้อมูลต้นแบบจากภาพที่สถาบันการเงินเคยเก็บรวบรวมจากบัตรประชาชนของลูกค้า
และขั้นตอนที่ 5 คือ การแจ้งผล หากมีระดับความเหมือนผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ระบบจะแจ้งผลว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน
โดยข้อดีของการนำ Biometrics มาใช้ในการยืนยันตัวตน หรือ KYC (Know Your Customer) ช่วยให้แยกแยะได้ว่าใครเป็นใครได้โดยอัตโนมัติและรวดเร็ว เพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรม โดยไม่ต้องลำบากพกเอกสารประจำตัว และยังช่วยป้องกันไม่ให้คนอื่นปลอมเป็นเรา เพราะ Biometrics จะแสดงลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน นอกจากนั้น การใช้ Biometrics ยังช่วยเพิ่มโอกาสแก่บริษัทต่างๆ ในการสร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่ๆ ทางออนไลน์ได้มากขึ้น
สำหรับ Biometrics ในระบบการเงินของไทย ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งเสริมให้ภาคการเงินไทยนำ Biometrics มาใช้งานมากขึ้น โดย “ปลดล็อก” ข้อจำกัดของกฎเกณฑ์เดิม
โดยให้ธนาคารนำ Biometrics มาใช้ทดแทนการยืนยันตัวตนที่สาขาได้ รวมทั้ง จัดทำแนวปฏิบัติเพื่อเป็นมาตรฐานขั้นต่ำให้สถาบันการเงิน หากจะนำ Biometrics มาใช้ ซึ่งจะเสมือนเป็นคู่มือสำหรับสถาบันการเงิน ซึ่งทำให้การให้บริการปลอดภัย น่าเชื่อถือ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดนวัตกรรมการเงินใหม่ที่ใช้ประโยชน์จาก Biometrics มากขึ้น โดยมองว่า Biometrics เป็นชิ้นส่วนที่สำคัญต่อยอดให้ภาคธุรกิจสร้างนวัตกรรมใหม่ จากความสามารถการพิสูจน์ยืนยันตัวตนลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์
ช่วงที่ผ่านมา ธปท.จึงได้เปิด Regulatory Sandbox ซึ่งเปรียบเสมือน “กระบะทราย” ที่เปิดโอกาสสถาบันการเงิน และฟินเทค นำนวัตกรรม หรือการให้บริการทางการเงิน มาทดสอบการให้บริการภายใต้สิ่งแวดล้อมในวงจำกัดเพื่อควบคุมผลกระทบ ก่อนการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาใช้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการได้เข้าใจ และรู้ถึงปัญหาของระบบ ขณะที่ผู้กำกับดูแลได้เรียนรู้ เข้าใจ เพื่อวางกรอบการกำกับดูแลที่เหมาะสม
ระหว่างการทดสอบใน Regulatory Sandbox ธปท.จะช่วยตรวจสอบและติดตามการนำ Biometrics มาใช้อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความพร้อมในแง่มุมต่างๆ เช่น ความเหมาะสมของกระบวนการให้บริการ การคุ้มครองลูกค้า การให้บริการที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ก่อนให้บริการแก่ลูกค้าในวงกว้าง
และที่ผ่านมามีสถาบันการเงินนำ Biometrics มา เข้าร่วมทดสอบ โดย Biometrics ที่สถาบันการเงินเคยนำมาทดสอบใน Regulatory Sandbox แล้วได้แก่ ใบหน้า ลายนิ้วมือ และม่านตา แต่ Biometrics ที่ทดสอบจนประสบความสำเร็จ และสามารถออกให้บริการในวงกว้างจะเป็น “การพิสูจน์ลักษณะใบหน้า”
และนอกเหนือจากการใช้ Biometrics เพื่อให้บริการในแต่ละสถาบันการเงินแล้ว ธปท. หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน กำลังอยู่ในระหว่างผลักดันให้เกิดช่องทางการพิสูจน์ตัวตนข้ามสถาบันการเงิน ผ่านระบบออนไลน์นี้เรียกว่า NDID Platform (National Digital Identity Platform) โดยสถาบันการเงินที่ไม่ได้จัดเก็บข้อมูล Biometrics ของลูกค้า สามารถใช้ข้อมูล Biometrics ของลูกค้าที่สถาบันการเงินอื่นเก็บไว้เพื่อพิสูจน์ตัวตนได้ ทำให้ลูกค้าไม่ต้องให้ข้อมูลกับทุกสถาบันการเงิน แต่ทำธุรกรรมการเงินได้ โดยอยู่ระหว่างการทดสอบใน Regulatory Sandbox เช่นกัน
ทั้งนี้ หลังจากการผ่าน Regulatory Sandbox ของ ธปท.แล้ว ในปัจจุบัน สถาบัน การเงินในประเทศไทย มากกว่า 20 แห่ง ทั้งธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ ผู้ให้บริการสินเชื่อ บัตรเครดิต และอีวอลเล็ต ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ได้นำ Biometrics มาใช้ในการให้บริการทางการเงินลูกค้าแล้วในหลากหลายประเภท
โดยหลังจากการทดลอง และศึกษาร่วมกันทั้งสถาบันการเงินและ ธปท. พบว่า “ใบหน้า” เป็นประเภทของ Biometrics ที่มีสถาบันการเงินไทย เลือกใช้งานมากที่สุด โดยถูกนำมาใช้บริการในธุรกรรมทางการเงินต่างๆ เช่น
การพิสูจน์ตัวตนลูกค้าที่มาเปิดบัญชีที่สาขา โดยเมื่อลูกค้ามาเปิดบัญชีที่สาขา พนักงานสาขาจะเปลี่ยนจากการตรวจสอบตัวตนของลูกค้าด้วยการเปรียบเทียบใบหน้าลูกค้ากับภาพที่อยู่ในบัตรประชาชนโดยใช้ตาของพนักงานมาเป็นขอถ่ายภาพใบหน้าลูกค้าแล้วให้ระบบ Biometrics เป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งแม่นยำน่าเชื่อถือมากขึ้น
นอกจากนั้น ยังใช้ใน การเปิดบัญชีช่องทางออนไลน์ ซึ่งขั้นตอนคร่าวๆ คือ ทำการดาวน์โหลด Mobile Banking Application กรอกข้อมูลเพื่อสมัครบัญชี ระบบจะขอให้ลูกค้าถ่ายภาพหน้าบัตรประชาชน และถ่ายภาพใบหน้าแบบ Selfie เพื่อเปรียบเทียบกับภาพที่อยู่ในบัตรประชาชน อย่างไรก็ตาม ในบริการประเภทที่สถาบันการเงินต้องการความมั่นใจว่าเป็นลูกค้าตัวจริงสูงขึ้น อาจมีการขอให้ลูกค้าไปเสียบบัตรประชาชนที่จุดให้บริการ
และเช่นเดียวกับการให้บริการในต่างประเทศ สถาบันการเงินไทยได้พัฒนาการใช้ Biometrics เพื่อการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ โดยจะสามารถอนุมัติยืนยันการชำระเงิน โดยการใช้ใบหน้า เพื่อให้ระบบหักเงินออกจากบัญชีที่เคยได้ลงทะเบียนไว้ แทนการชำระเงินผ่านบัตรหรือโอนแบบเดิมๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างทดสอบการให้บริการในวงจำกัดภายใต้การควบคุม โดยสถาบันการเงินทำการทดสอบเอง (Own Sandbox)
ส่วนเหตุผลที่ว่า ทำไม “ใบหน้า” จึงเป็น Biometrics หลักที่สถาบันการเงินเลือกใช้มากที่สุด เหตุผลก็เพราะเข้าใจง่าย ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะทาง หรือราคาแพง
เพราะสามารถใช้กล้องถ่ายภาพ กล้อง Web Cam หรือใช้กล้องโทรศัพท์มือถือ ขณะที่ลูกค้าสามารถเข้าใจการใช้งานได้ง่าย เนื่องจากมีวิธีการเหมือนการถ่ายรูป ยิ่งไปกว่านั้น ระบบการตรวจสอบใบหน้าส่วนใหญ่สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้จำนวนมาก รวดเร็ว แม่นยำสูง และเชื่อถือได้ โดยสามารถตรวจสอบใบหน้าแม่นยำกว่าการใช้ตามนุษย์ และเมื่อเทียบกับ Biometrics ประเภทอื่น เช่น เสียง ลายเซ็น ยังพบว่าสามารถจำแนกบุคคลได้แม่นยำกว่า ยกเว้น กรณีที่อาจมีใบหน้าที่คล้ายกันมาก เช่น ฝาแฝด ส่วนนี้อาจจะต้องมีวิธีการเพิ่มเติมในการตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม “ลายนิ้วมือ” ได้ถูกนำมาใช้ในการพิสูจน์ตัวตนลูกค้าที่มาเปิดบัญชีผ่านตู้ให้บริการอัตโนมัติที่ตั้งอยู่นอกสถานที่ในบางสถาบันการเงินเช่นกัน โดยลูกค้าต้องดาวน์โหลด Mobile Banking Application กรอกข้อมูลสมัครบัญชี จากนั้นระบบจะขอให้ลูกค้าไปเสียบบัตรประชาชนที่จุดให้บริการ เพื่อใช้เปรียบเทียบลายนิ้วมือ โดยให้ลูกค้าประทับนิ้วมือลงบนเครื่องอ่านลายนิ้วมือที่เป็นอุปกรณ์เฉพาะทาง ที่ถูกติดตั้งอยู่ ณ จุดให้บริการนั้น
หากข้อมูลถูกต้องตรงกัน ระบบจะยอมให้ลูกค้าเปิดบัญชี ซึ่งวิธีการเปรียบเทียบลายนิ้วมือแบบนี้ว่า Match on Card มีข้อดีคือจะไม่มีการส่งข้อมูลลายนิ้วมือภายในบัตรออกไปสู่ภายนอก ซึ่งจะมีความปลอดภัยสูงกว่าแบบอื่น
สำหรับ Biometrics อีกลักษณะหนึ่งที่แสดงถึงลักษณะทางพฤติกรรมของบุคคล เช่น เสียง รูปแบบการพิมพ์ ลายมือ การเคลื่อนไหว การเพ่งมอง ถูกนำมาใช้งานโดยสถาบันการเงินอยู่บ้างในธุรกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น วิเคราะห์เสียงพูดของลูกค้าเพื่อตรวจสอบว่าลูกค้าที่โทร.เข้าคอลเซ็นเตอร์นั้นเป็นลูกค้าตัวจริงหรือไม่
โดยก่อนเริ่มใช้บริการ ลูกค้าต้องลงทะเบียนใช้บริการก่อน ระบบจะขอให้ลูกค้าเปล่งเสียงพูดตามข้อความตัวอย่างเพื่อให้สถาบันการเงินทำการประมวลผลเสียงและจัดเก็บเอาไว้ในรูปแบบ “พิมพ์เสียง” เพื่อใช้เปรียบเทียบกับเสียงพูดของลูกค้าในครั้งต่อๆ ไป เมื่อโทร.เข้าคอลเซ็นเตอร์ หากการประมวลเสียงของลูกค้าเปรียบเทียบกับพิมพ์เสียงเดิมที่ระบบเคยจัดเก็บไว้ถูกต้องตรงกันระบบจะยอมให้ลูกค้าดำเนินการทำธุรกรรมต่างๆต่อไป
ขณะที่การสแกนม่านตา จอประสาทตา มือ ลายฝ่ามือ เส้นเลือดที่ฝ่ามือ และสารรหัสทางพันธุกรรม (DNA) ปัจจุบันยังไม่พบการนำมาใช้งานให้บริการทางการเงินในวงกว้าง ซึ่งอาจจะต้องรอการพัฒนาต่อไปในอนาคต
ธปท.ระบุว่าการใช้งาน Biometrics พิสูจน์ยืนยันตัวตน การทดสอบช่วงแรก มีความขรุขระอยู่บ้าง เพราะต้องจัดการปรับปรุงข้อมูลลูกค้าให้เป็นปัจจุบันและมีการถ่ายภาพเก็บไว้เพื่อเป็นฐานข้อมูล
โดยหลักๆ จะเป็นเรื่องการสื่อสารทำความเข้าใจกับทั้งพนักงานผู้ให้บริการ และลูกค้า และการปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้อง ได้มาตรฐานและเป็นปัจจุบันให้มากที่สุด เช่น ลูกค้าไม่มีข้อมูลบัตรประชาชนเก็บไว้ที่ธนาคาร หรือข้อมูลบัตรเก่าเกินไป ธนาคารจะแจ้งลูกค้าไปทำข้อมูลบัตรประชาชนใหม่ ที่สาขาธนาคารหรือจุดให้บริการ
ส่วน เรื่อง “การถ่ายภาพ” เพื่อยืนยันตัวตนนั้น บางกรณีมีประเด็นด้านเทคนิคมาเกี่ยวข้อง เช่น แสง หรือเลนส์กล้องมีผลให้ภาพที่ได้มัว อาจทำให้ไม่สามารถจับคู่ (match) กับภาพที่อยู่ในฐานข้อมูลได้ หรือกรณีใช้รูป Selfie เทียบกับรูปภาพหน้าบัตรประชาชน หากความคมชัดไม่เพียงพอก็ไม่ match เช่นกัน
อีกด้านผู้ใช้บริการอาจไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีนี้ ทำให้ครั้งแรกการถ่ายรูปหรือวางหน้า ไม่ค่อยตรง หรือยืดระยะห่างน้อยหรือมากไป ขณะที่ประสิทธิภาพบนโทรศัพท์มือถือบางรุ่น มีความยากง่ายในการใช้งานที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ดี จากความพยายามแก้ไขปัญหาของ ธปท. ธนาคารพาณิชย์ และ NDID ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงด้านการสื่อสารและการใช้งานให้ดีขึ้น โดยปรับปรุงให้มีการแจ้งขั้นตอนการทำรายการทีละขั้น (step) ให้กับลูกค้าละเอียดขึ้น และอยู่ระหว่างการปรับ version การใช้งาน ให้แจ้งเตือนลูกค้าตั้งแต่ก่อนการทำรายการ
โดยเมื่อผู้ใช้บริการพอจับหลักได้แล้ว ก็จะสามารถทำครั้งต่อๆไปได้ดีขึ้น เมื่อรวมกับเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น เพิ่มความแม่นยำในการเทียบเคียงได้ดีขึ้น การถ่ายรูปสแกนหน้าจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการด้านประกันภัยและการเงินของกลุ่มทีซีซี ให้มุมมองถึงทิศทางของการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจการเงินของไทยในยุคดิจิทัล ว่า ทุกวันนี้ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ของไทย มีการปรับตัวรับมือกับกระแส Digital Disruption ได้ดี โดยอัตราการใช้โมบายแบงก์กิ้ง ของคนไทยถือว่าเป็นอันดับต้นๆของโลก
การเกิด “พร้อมเพย์” ช่วยสร้างพื้นฐานการโอนเงินแบบไม่ต้องใช้เลขบัญชี พัฒนาต่อมาเป็นการชำระเงินผ่านคิวอาร์ ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญที่รัฐบาลนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และเชื่อว่าเราน่าจะได้เห็นการต่อยอดพัฒนาแพลตฟอร์มนี้จนกลายเป็น Thai Wallet ที่จะช่วยให้คนไทยทำธุรกรรมกับภาครัฐและเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอีกไม่นานจะเห็น Digital Thailand เต็มรูปแบบ
ภาคการเงินยังได้ริเริ่มการทำ e-KYC หรือการยืนยันตัวตน โดยใช้ใบหน้าและข้อมูลชีวภาพอื่นๆ อย่างเช่น ข้อมูลจากบัตรประชาชนจนเราสามารถเปิดบัญชีธนาคาร โดยไม่ต้องไปที่สาขาธนาคาร เรียกว่า ล้ำกว่าอีกหลายๆ ประเทศ และผมมั่นใจว่าในอนาคตการทำธุรกรรมอื่นๆ ที่ต้องยืนยันตัวตนจะสามารถต่อยอดจาก e-KYC ซึ่งนับเป็นผลบวกต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก
ขณะเดียวกัน Blockchain จะเป็นอีกเทคโนโลยีที่เหมาะกับธุรกรรมการเงินในอนาคตอย่างมาก เพราะต้องอาศัยการสร้างความเชื่อมั่น เน้นความถูกต้อง รวดเร็ว ที่สำคัญช่วยป้องกันการทุจริตได้ โดยกลุ่มสถาบันการเงินและภาคธุรกิจเอกชนได้ร่วมมือกันจัดตั้งบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Thailand Blockchain Community Initiative (BCI) ให้บริการด้านหนังสือรับรอง LG (Letter of Guarantee) บนเทคโนโลยี block– chain ที่ช่วยให้ภาคธุรกิจที่ใช้ LG มีความสะดวก ลดกระบวนการทำงานของทุกภาคส่วน
และเรายังเห็นการใช้ Blockchain ในด้านอื่นๆ ไม่ว่าการโอนเงิน การทำ Trading Finance หรือแม้แต่คริปโตเคอร์เรนซี หรือเงินสกุลดิจิทัล ก็เป็นอีกความคาดหวังที่จะเห็นประเทศไทย ที่จะเริ่มขยับตัวในการออกเงินสกุลดิจิทัล ที่มีเงินบาทเป็นตัวหนุน หรือที่เรียกกันว่า Stable Coin อย่างที่จีนกำลังเข็น ดิจิทัลหยวน ออกมาทดแทนการใช้ธนบัตร และหวังจะใช้เป็นเงินดิจิทัลที่ใช้แลกเปลี่ยนและใช้ชำระเงินได้อย่างแพร่หลายทั่วโลก
ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทในทุกภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคการเงิน ก็คือ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ โดยเราเริ่มเห็นการใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคนในกระบวนการทำงานต่างๆ รวมทั้งการใช้ข้อมูลต่างๆ ทั้งจากโลกออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเข้าใจความต้องการของลูกค้า (Customer Insights) ให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด
“คนที่ทำได้ดีที่สุด ก็คือ AI ที่จะสามารถประมวลผลข้อมูลอันมหาศาลเพื่อจะคาดเดาให้ได้ว่า อะไรจะเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ หรือสิ่งที่ลูกค้าอยากซื้อ ตอบโจทย์ ตรงใจและทันเวลา ซึ่งเราจะเห็นเทรนด์เหล่านี้มากขึ้นๆ ในระบบการเงินไทยในอนาคต”
ด้าน นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าว ว่า ธุรกรรมในภาพรวมของระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยอดการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นมาก จากความจำเป็นที่ต้องรักษาระยะห่าง ลดการสัมผัส ลดการทำธุรกรรมที่ต้องพบหน้า หรือไปที่สถานที่ทำการ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
เห็นได้จากสถิติการใช้งานของระบบธนาคารมือถือ (mobile banking) และการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบออนไลน์ (internet banking) รวมทั้งการใช้งานพร้อมเพย์โอนเงิน ชำระเงิน หรือใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
โดยล่าสุดจำนวนผู้สมัครบริการ mobile banking และ internet banking รวมกันเพิ่มขึ้นจาก 89 ล้านบัญชีในปี 63 เป็น 104 ล้านบัญชีในเดือน ม.ค.64 ขณะที่ปริมาณการใช้งานก็เพิ่มขึ้นกว่า 80%
ยอดการสมัครลงทะเบียนพร้อมเพย์ ณ ม.ค.63 จำนวน 56.4 ล้านหมายเลข เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13% ปริมาณการใช้งานเฉลี่ยต่อวันที่ 21 ล้านรายการ และมีการใช้งานสูงสุดต่อวันในช่วงต้นเดือน ธ.ค.63 ที่ 27 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 107,000 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่มีจุดสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อรับชำระเงินมาถึง 7.0 ล้านจุด ทั่วประเทศ
“ขณะที่ทิศทางระบบการชำระเงิน ธปท.ยังคงมุ่งหน้าไปสู่การพัฒนาให้การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล หรือ Digital Payment เป็นทางเลือกหลักในการทำธุรกรรมชำระเงิน ซึ่งที่ผ่านมาได้มุ่งพัฒนาบริการสำหรับภาคประชาชน ในระยะต่อไปจะไปสู่การพัฒนาบริการให้กับภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง”.
ทีมเศรษฐกิจ