เพื่อปลุกเศรษฐกิจให้พ้นจากวิกฤติโควิด-19 “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ได้ชงแผนลงทุนงโครงการเมกะโปรเจกต์ครั้ใหญ่ (3-5 ปีข้างหน้า) ทั้งทางน้ำ ราง ถนน และอากาศ หวังเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสร้างความคึกคักแก่เศรษฐกิจของประเทศ
นายศักดิ์สยามเปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าลงทุนพัฒนาเมกะโปรเจกต์อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์หรือการพัฒนาสนามบิน แต่ในสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ปกติที่เกิดขึ้นเช่นนี้ กระทรวงคมนาคมได้เพิ่มความสำคัญในการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และกระจายรายได้ให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น
ลงทุนน้ำ-ราง-ถนน-อากาศ
โดยเฉพาะในปี 2564 ได้ตั้งเป้าหมายเร่งรัดโครงการที่ลงทุนอยู่แล้วหลายโครงการให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ เช่น การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ การปรับเวลาเดินรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป การทำบัตรโดยสารเชื่อมโยงรถไฟฟ้า ทุกระบบ การพัฒนารถไฟทางคู่ การพัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำจากท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบฯ ไปท่าเรือแหลมฉบังท่าเรือกรุงเทพ และการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคเป็นศูนย์กลาง รวบรวมผลผลิตกระจายสินค้า
ส่วนแผนการลงทุนเมกะโปรเจกต์ที่จะเกิดขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกการขับเคลื่อนโครงการที่มีการศึกษาไว้แล้วให้เกิดขึ้นจริง ประกอบด้วย แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน อาทิ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมือง ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว อยู่ระหว่างการเสนอ ครม. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ชะอำ ที่รอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณา และอีก 2 โครงการ คือ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ที่กำลังศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนแบบพีพีพี
แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางราง ก็เป็นการลงทุนที่สำคัญมากเช่นกัน เพราะนอกจากช่วยอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยเพิ่มศักยภาพการขนส่งโลจิสติกส์ของประเทศด้วย ได้แก่ การก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 สายทาง ระยะทางรวม 1,483 กม.ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แล้วยังมีโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนมระยะทางรวม 681 กม. ซึ่งกำลังรอออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน
นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนารถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-งเวียนใหญ่-มหาชัย รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี ที่กำลังศึกษาทบทวนแบบ รวมถึงมีโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมถึงแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ มีโครงการใหญ่ๆ เช่น โครงการร่วมทุนพีพีพีพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และแผนการลงทุนทางอากาศ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ซึ่งล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้เห็นชอบแผนไปแล้ว
ปลุกจีดีพี-หนุนเอกชนลงทุน
“ผมมั่นใจว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีอยู่นี้จะมีความเป็นรูปธรรมและช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องจากจากภาคเอกชนได้ เพราะโดยพื้นฐานเมื่อเกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมจะช่วยให้เกิดการกระจายการพัฒนาเมือง และต่อยอดไปสู่การลงทุนอื่นๆของเอกชนตามมา ช่วยกระตุ้นการจ้างงาน การสร้างรายได้ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในภาวะวิกฤติ”
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเพิ่มเติมโครงการลงทุนใหม่เพื่อขับเคลื่อนประเทศ ได้แก่ โครงการ เอ็มอาร์-แม็ป พัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและรถไฟในการใช้ประโยชน์เขตทางร่วมกันเพื่อลดการเวนคืนที่ดิน โครงการแลนด์บริดจ์ ท่าเรือชุมพร-ท่าเรือระนอง เชื่อมการขนส่งอ่าวไทยและอันดามัน การตั้งศูนย์ จัดจำหน่ายและกระจายสินค้าโอทอป การพัฒนายานพาหนะด้วยพลังงานไฟฟ้า ทั้งรถยนต์ เรือโดยสาร และรถไฟทางไกล
โครงการลงทุนการแก้ไขปัญหาการจราจร บนทางด่วน ได้แก่ ทางหลวงพิเศษหมายเลข เอ็ม 7 ช่วงศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ ถนนประเสริฐมนูกิจ-งามวงศ์วาน ทางด่วนขั้นที่ 1 ต่างระดับอาจณรงค์ และทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสะพานพระราม 9-พระราม 2 การพัฒนาโครงข่ายร่วมกันระหว่างทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต และทางหลวงแนวใหม่ สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว เป็นต้น
ดันไทยผงาดโลจิสติกส์
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมประเมินว่าแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศปีนี้กลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3.5-4.5 % ซึ่งฟื้นตัวจากปี 2563 ที่เศรษฐกิจหดตัวไป 6.1% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการกลับมาขยายตัวของกำลังซื้อภายในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และปริมาณการค้าโลกด้วย
แต่นอกเหนือกว่านั้น สิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คือ การช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางโลจิสติกส์ของประเทศในระยะยาว โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งที่ประหยัด ลดต้นทุน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และสนับสนุนให้ไทยได้กลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค
เห็นได้ว่าการลงทุนพัฒนาเมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และอนาคต จะไม่ใช่แค่เป็นการต่อลมหายใจทางเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาวได้อีกด้วย.