เคล็ดลับความสำเร็จ "น้ำพริกรุ่งเจริญ" แพ็กเกจเปลี่ยนชีวิต มูลค่ากว่าร้อยล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เคล็ดลับความสำเร็จ "น้ำพริกรุ่งเจริญ" แพ็กเกจเปลี่ยนชีวิต มูลค่ากว่าร้อยล้าน

Date Time: 15 มี.ค. 2564 17:13 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • เคล็ดลับความสำเร็จ "น้ำพริกรุ่งเจริญ" น้ำพริกไซส์มินิ จากความพยายามต่อยอดธุรกิจครอบครัว เปลี่ยนแพ็กเกจตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ทำยอดขายเกินร้อยล้านต่อปี

Latest


เคล็ดลับความสำเร็จ "น้ำพริกรุ่งเจริญ" น้ำพริกไซส์มินิ จากความพยายามต่อยอดธุรกิจครอบครัว เปลี่ยนแพ็กเกจตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ทำยอดขายเกินร้อยล้านต่อปี  

วันที่ 15 มีนาคม รายการ "เศรษฐีป้ายแดง" ทางช่องไทยรัฐ 32 วันนี้ ไปทำความรู้จักกับ "น้ำพริกรุ่งเจริญ" น้ำพริกไซส์มินิ ธุรกิจมูลค่าร้อยล้านต่อปี คุณเอส ธนาวัฒน์ โพธิ์เผื่อนน้อย เจ้าของน้ำพริกรุ่งเจริญ เล่าจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า คุณพ่อกับคุณแม่ขายน้ำพริกที่นครปฐม แล้วย้ายมาที่สมุทรปราการ เช่าแผงขายที่ตลาดสำโรง ชื่อร้านน้ำพริกรุ่งเจริญ ในตอนนั้นยังไม่มียี่ห้อหรือโลโก้อะไร เป็นน้ำพริกแบบตักใส่ถุงชั่งกิโลขาย

ผมโตมากับแผงน้ำพริก แม่จะขายน้ำพริกไปด้วยเลี้ยงผมไปด้วย ตอนที่เปิดแผงขายของก็ขายดีขึ้นเรื่อยๆ จากอยู่ห้องเช่าเล็กๆ ก็ย้ายไปอยู่บ้านเช่า จนมีรถ มีบ้านเป็นของตัวเอง เวลามีงานแสดงสินค้าก็จะไปออกงานด้วย ขายมานานหลายสิบปีก็ยังไม่มีแพ็กเกจจิ้ง ไม่มีโลโก้เหมือนเดิม

จนกระทั่งคุณพ่ออายุมากขึ้นก็ได้ไปทำอพาร์ตเมนต์ให้เช่า ท่านก็มาบอกว่าจะเลิกทำน้ำพริกแล้วนะ แต่น้ำพริกสูตรของคุณพ่ออร่อย มีลูกค้าเขียนจดหมายมาชม หากจะเลิกทำก็รู้สึกเสียดาย ประกอบกับเพิ่งเรียนจบการตลาดมาพอดี เลยอยากลองทำ ส่วนแผงน้ำพริกในตลาดพี่สาวก็รับไป ซึ่งผมก็ผลิตน้ำพริกส่งให้ลูกค้าเดิมของพ่อและแผงของพี่สาว

คุณเอส เล่าต่อว่า หลังจากเลิกกิจการ คุณพ่อได้ให้อุปกรณ์ต่างๆ แต่ก็ยังเป็นการทำแบบครัวเรือน แต่ก็มีโอกาสดีที่ทางเทศบาลชวนเข้า OTOP ซึ่งเขามีสถานที่ให้ใช้เป็นที่ผลิต เราก็ย้ายไปทำตรงนั้น พอทำได้ 6 เดือน พ่อก็เสียชีวิตกะทันหัน ตอนนั้นเคว้งเลย เพราะลูกมือคนเดียวที่รู้สูตรทุกอย่างได้ลาออก เราเองก็ยังไม่ทันซึมซับวิธีการทำน้ำพริกจากคุณพ่อ คุณแม่เองก็ไม่ถนัด เพราะขายอย่างเดียว แต่ทุกคนจะรู้รสชาติมือพ่อว่ารสชาติเป็นยังไง พอตั้งสติได้ก็ค้นหาสูตรที่พ่อจดไว้ พยายามแกะสูตรแล้วชิมเอง

ขณะที่ทาง OTOP ก็ได้เน้นย้ำเรื่องแพ็กเกจจิ้งของสินค้าที่สวยงาม น้ำพริกขายแบบตักใส่ถุงของเรายังไม่ได้มาตรฐาน จึงนำกลับมาคิดและเริ่มเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งมาเป็นกระปุกติดฉลาก ทำเรื่องขอ อย. และยังใช้ชื่อน้ำพริกรุ่งเจริญเหมือนเดิม ผลิตส่งลูกค้าเดิมของพ่อและส่งพี่สาวพร้อมกับทำขายในงานแสดงสินค้า ทำแบบนี้อยู่หลายปี จนอยากลองขายส่งดู ไปติดต่อขอวางตามร้าน บางร้านก็ให้วาง แต่ยังเก็บเงินไม่ได้ทันที ต้องวางบิล ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ร้านที่ไม่ให้วางก็เพราะมีน้ำพริกเจ้าดังๆ วางแล้ว

หลังจากนั้นเราก็กลับมาคิดว่า ถ้าเราใช้แพ็กเกจจิ้งเหมือนเจ้าอื่นๆ คงทำตลาดยาก เลยเปลี่ยนแพ็กเกจให้ทันสมัยขึ้น จนปิ๊งไอเดียว่าเราน่าจะทำน้ำพริกเป็นถ้วยฉีกทานในมื้อเดียว และได้ไปกินน้ำจิ้มเจ้าดังที่เป็นถ้วยเล็กๆ พกพาสะดวก ราคาไม่แพง จากนั้นก็พยายามหาโรงงานผลิตถ้วย ขั้นต่ำ 2 แสนชิ้น 7-8 หมื่นบาท หลังจากได้ถ้วยมาแล้วก็ต้องหาเครื่องซีลปิดปากถ้วย กว่าจะได้เครื่องมือครบค่อนข้างใช้เวลานานเป็นปี

คุณเอส เล่าต่อว่า หลังจากเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งก็รู้สึกมั่นใจมาก ร้านที่ปฏิเสธไม่รับวางหน้าร้าน ตอนนี้ไปที่ไหนร้านก็อยากให้วาง ทั้งเส้นเหนือ อีสาน ใต้ แต่กลับผิดคาด ขายไม่ได้เลย ทางร้านก็บอกว่ามีคนหยิบเยอะ แต่ไม่ซื้อกันเลย จนสินค้าหมดอายุต้องเก็บกลับมาทิ้งเป็นคันรถกระบะ กลับมานั่งคิดว่าทำไมขายไม่ได้ คิดว่าไม่ไปต่างจังหวัดแล้ว แต่ไม่คิดล้มเลิก

หลังจากนั้นได้ไปวางขายในห้างจัสโก้ (ปัจจุบันเป็น แม็กซ์แวลู) เราก็ไปแอบเก็บข้อมูลว่ามีใครซื้อของเราบ้าง ปรากฏว่าขายหมดเกลี้ยง ก็คิดได้ว่าสินค้าของเราเหมาะกับคนเมือง ประกอบกับมีสื่อเอาไปทำข่าว คนก็รู้จักมากขึ้น ต่อมามีทีมจัดซื้อของ 7-11 ติดต่อเข้ามา พาเราเข้าโครงการยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบการ จากเดิมยอดขายหลักแสน พอเข้า 7-11 ยอดกระโดดเป็น 10 ล้านบาท ซึ่งตอนนั้นเป็นวิกฤติน้ำท่วมปี 2554 แต่เราไม่ได้รับผลกระทบเลย ขายดี ได้ขยายโรงงานใหญ่ขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ