นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมีแผนก่อหนี้ 1,539,832.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74,394.17 ล้านบาท จากเดิม 1,465,438.61 ล้านบาท แผนบริหารหนี้เพิ่มเป็น 1,403,981.17 ล้านบาท เพิ่ม 124,534.37 ล้านบาท จากเดิม 1,279,446.80 ล้านบาท และชำระหนี้ 387,860.72 ล้านบาท เพิ่ม 505.88 ล้านบาท จากเดิม 387,354.84 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลังการปรับปรุงหนี้แล้วจะทำให้หนี้สินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศ เป็น 56.74% ซึ่งยังไม่เกินเป้าหมาย 60% ตามกรอบนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด โดยแผนหนี้สาธารณะปรับปรุงใหม่สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนงานหรือโครงการตามพระราชกำหนดกู้เงินโควิด-19 ภายใต้กรอบวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยได้บรรจุให้รัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สามารถกู้เงินเพื่อและบริหารหนี้ได้ โดยรายละเอียดการกู้เงินเพิ่มตามแผนก่อหนี้ใหม่ของภาครัฐ 66,687.92 ล้านบาท ส่วนแผนการกู้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 7,706.25 ล้านบาท
นายอนุชา ยังเปิดเผยด้วยว่า ครม.เห็นชอบถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็นในการตรา พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากการจัดทำร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ....ที่หวังจะใช้บังคับในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจทั่วไปท่ามกลางระบบเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้นทำได้ยาก นอกจากนั้น การให้สิทธิประโยชน์บางประการแก่ผู้ประกอบการเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในขณะนี้มีความแตกต่างไปจากเดิม.