แก้เกมมาตรการการเงินการคลังสู้โควิดยกสอง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แก้เกมมาตรการการเงินการคลังสู้โควิดยกสอง

Date Time: 13 ก.พ. 2564 05:03 น.

Summary

  • มาตรการเยียวยารอบแรกที่ทำไปปีก่อน ยังไม่ทันฟื้นฟูประเทศได้สักเท่าไหร่ก็เหมือนประเทศไทยทอยลูกเต๋าตกเกมบันไดงู มีเหตุให้ต้องถอยหลัง

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

วันนี้หลายหน่วยงานมั่นใจว่าโควิดระบาดครั้งใหม่ตั้งแต่ปลายปี 63 คงไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้แย่เท่าปีก่อน ขณะที่คำถามน่าคิดต่อมาคือมาตรการการเงินการคลังที่ออกไปช่วยกู้วิกฤติโควิดได้แค่ไหน พอระฆังยกสองดังขึ้น ภาครัฐจะปรับเกมมาตรการให้เพียงพอใช้ได้ทันหรือไม่อย่างไร เพราะต่างก็รู้ว่า สงครามโควิดยังไม่จบและไม่แน่นอน มาตรการเยียวยารอบแรกที่ทำไปปีก่อน ยังไม่ทันฟื้นฟูประเทศได้สักเท่าไหร่ก็เหมือนประเทศไทยทอยลูกเต๋าตกเกมบันไดงู มีเหตุให้ต้องถอยหลัง กลับไปเยียวยาเศรษฐกิจกันใหม่

ภาพใหญ่ของมาตรการการเงินการคลังปี 63 ที่สามารถนำมาแก้โจทย์โควิดรอบสองปีนี้ต่อได้ เช่น

(1) พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ส่วนใหญ่รัฐบาลใช้จ่ายวงเงินเยียวยาไปเมื่อปีที่แล้ว ยังเหลือวงเงินอีกกว่า 4 แสนล้านบาท ที่โยกมาใช้เป็นวงเงินเยียวยารอบใหม่ได้ และรัฐบาลยังมีเงินงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินฯ ของงบประมาณปี 64 ที่เหลืออีกกว่าแสนล้านบาทมาสมทบ แต่หากแหล่งเงินพิเศษเหล่านี้หมดลงเร็วและไม่มีมาเสริม แรงกระตุ้นการคลังก็อาจแผ่วลงได้ในปีนี้

(2) พ.ร.ก. Soft loan 5 แสนล้านบาทช่วยธุรกิจ SMEs แบงก์ชาติให้แบงก์กู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อไปปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยถูก 2% นาน 2 ปี เวลาผ่านไปพบว่าวงเงินนี้ออกไปไม่มาก SMEs ส่วนหนึ่งยังเข้าไม่ถึง เพราะไม่เข้าเกณฑ์ เช่น ไม่ใช่ลูกหนี้เดิมของแบงก์/เป็น NPL หรือเพราะเกณฑ์กู้ได้ครั้งเดียวไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อเดิม หรือแบงก์กังวลว่าให้กู้ดอกเบี้ย 2% และรัฐชดเชยความเสียหายหนี้เสียบางส่วนให้แค่ 2 ปีแรกยังไม่คุ้มเสี่ยง ต่อมาขอให้ บสย.เข้าค้ำประกันสินเชื่อช่วงปีที่ 3-8 ให้ ภายใต้โครงการ Soft loan พลัส 5.7 หมื่นล้านบาท และลองปรับเกณฑ์นิยาม SMEs ให้ครอบคลุมขึ้น ก็ปรากฏว่าวงเงิน soft loan ยังไม่คืบหน้า ณ 1 ก.พ.64 วงเงินออกไปราว 25% ปล่อยกู้ได้ 7.4 หมื่นราย เช่นนี้ก็น่าจะพอมีทางปรับให้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยภาคธุรกิจเยอะขึ้นได้ โดยสร้างแรงจูงใจให้แบงก์ปล่อยกู้ มีกลไกค้ำประกันความเสี่ยงที่ตอบโจทย์ มีเงื่อนไขยืดหยุ่นปรับตามสถานการณ์โควิดที่ไม่แน่นอน

(3) ช่วยเหลือลูกหนี้ ปีที่แล้วแบงก์ชาติขอให้สถาบันการเงินร่วมกันออกมาตรการพักหนี้รายย่อยและธุรกิจ SMEs แบบเหวี่ยงแหชั่วคราว 6 เดือน แล้วปรับเป็นมาตรการพักหนี้เฉพาะรายและต่อเวลาให้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้ถึงสิ้นปี 63 ซึ่งจากข้อมูล ณ 30 พ.ย.63 มาตรการนี้ได้ช่วยลูกหนี้ไป 11 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 5.6 ล้านล้านบาท (เป็นลูกหนี้รายย่อย 10 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 3.2 ล้านล้านบาท) พอมาต้นปีนี้ แบงก์ชาติออกมาตรการช่วยลูกหนี้รอบใหม่ ต่อเวลาช่วยลูกหนี้รายย่อยจนถึง 30 มิ.ย.64 และให้สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้ทุกประเภทตามประเภทสินเชื่อและความเสี่ยง โดยให้เร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะกับลักษณะธุรกิจและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

(4) มาตรการการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ออกโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อฉุกเฉินรูปแบบต่างๆ ช่วยเสริมสภาพคล่องประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและเข้าไม่ถึงแบงก์ได้อีกกลุ่มใหญ่ รวมถึง บสย. มีบทบาทเชิงรุกช่วยค้ำประกันสินเชื่อ SMEs 1.6 แสนราย ยอดสินเชื่อ 1.4 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 63 พอเจอโควิดครั้งใหม่ กระทรวงการคลังให้เร่งออกมาตรการที่มีอยู่แล้วและมาตรการเพิ่มเติมในเดือน ม.ค.64 ได้แก่ มาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ และมาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้))โดย บสย.ตั้งเป้าจะเพิ่มบทบาทค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยและ SMEs

มาตรการการเงินการคลังเน้นกลุ่มที่ต้องเร่งช่วยฝ่าโควิดรอบใหม่มากขึ้นแล้ว คาดว่าจะได้เห็นหน่วยงานภาครัฐเร่งติดตามผลมาตรการ ประเมินผลกระทบโควิดกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทยที่ต่างกันมากขึ้นในหลายๆ กลุ่ม เพื่อแก้เกมปรับมาตรการให้ตรงโจทย์ เพียงพอ และใช้ได้ทันในภายหน้าค่ะ

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด**


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ