ชงแก้กฎหมาย หนุนการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ชงแก้กฎหมาย หนุนการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน

Date Time: 23 ม.ค. 2564 05:01 น.

Summary

  • การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Biological) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) หรือบีซีจีโมเดล เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Biological) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) หรือบีซีจีโมเดล เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำและสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เป็นโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลมีเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2569 เป็นวาระแห่งชาติเรื่องที่ 2 ต่อจากการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 หรือไทยแลนด์ 4.0 จากปัจจัยที่ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรและจำนวนประชาชนที่เป็นเกษตรกรเป็นจำนวนมาก สามารถพัฒนาด้านการเกษตรให้เกิดประโยชน์มากขึ้นได้ โดยการนำโมเดลเศรษฐกิจแบบบีซีจีมาใช้

ที่ผ่านมาในส่วนองค์กรอื่นๆได้มีบทบาทในการผลักดันการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน อาทิ มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมการศึกษาด้านการจัดการทรัพยากรแด่พระภิกษุสงฆ์ การศึกษาและฝึกอบรมอาชีพแก่ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และส่งเสริมความรู้และสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมการลดใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle : 3R) แก่ภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3R) กล่าวว่า การส่งเสริมแนวความคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์และการพัฒนานวัตกรรมตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดปริมาณขยะ และเพิ่มการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ โดยเชื่อว่าพลาสติกรีไซเคิลเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติก และพร้อมสนับสนุนให้เกิดการใช้พลาสติกรีไซเคิลในไทย และมีความพร้อมในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษา เพื่อให้เกิดการคัดแยกและกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นให้มีการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด รวมถึงสนับสนุนและจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ และสร้างความตระหนักในคุณค่าของการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

จากการทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการพลาสติกและธุรกิจรีไซเคิลพบว่า เม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET ที่ผลิตจากขวดพลาสติกใช้แล้วมีปริมาณราว 20,000 ตันต่อปี โดยมากกว่าร้อยละ 50 มาจากผู้ผลิตรายใหญ่ที่สามารถผลิต rPET สำหรับฟู้ดเกรดและไฟเบอร์เกรด แต่ rPET ฟู้ดเกรดทั้งหมดไม่ได้ถูกนำกลับไปใช้หมุนเวียนในอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศเพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ขวดและบรรจุภัณฑ์อาหาร แม้กระบวนการผลิต rPET ในประเทศจะผ่านมาตรฐานรับรองคุณภาพระดับโลกทั้งจากยุโรปและอเมริกาซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ประเทศชั้นนำทั่วโลกให้การยอมรับในเรื่องความสะอาด ปลอดภัย และให้การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มใช้ rPET มาเป็นเวลานานแล้ว

โดยผู้ประกอบการพลาสติกและธุรกิจรีไซเคิลระบุว่า อุปสรรคสำคัญในเรื่องนี้ คือข้อติดขัดทางกฎหมายในเรื่องที่ว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” ทำให้ปัจจุบัน ผู้ประกอบการต้องส่งออกเม็ดพลาสติกรีไซเคิลฟู้ดเกรดที่ผลิตได้ทั้งหมดไปยังตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการสูง เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีมาตรฐานรับรองความปลอดภัยต่อสุขภาพในการใช้ rPET มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม

ทั้งนี้ การผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย กฎหมายอนุญาตให้ใช้เฉพาะเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin plastic) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ไทยผลิตได้เองส่วนหนึ่งจากกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคพลาสติก โดยประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกออกสู่ตลาดในประเทศประมาณปีละ 300,000 ตัน นั่นหมายความว่า จะยังคงมีขยะพลาสติกที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์อาหารและขวดเครื่องดื่มปริมาณมหาศาลทุกๆปี

แม้ว่าส่วนหนึ่งของพลาสติกบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นจะถูกนำกลับไปรีไซเคิลได้เพราะมีการร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากภาคประชาชนในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง แต่เม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ผลิตได้กลับถูกนำไปหมุนเวียนใช้ในอุตสาหกรรมอื่นที่มีการบริโภคพลาสติกน้อยกว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

ดังนั้น ถ้าหากประเทศไทยสามารถหมุนเวียนใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้ ก็เท่ากับสามารถลดการใช้พลาสติกใหม่ลงได้เช่นกัน มูลนิธิ 3R เชื่อว่าหากมีการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่ม กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ เป็นต้น ประเทศไทยอาจเร่งให้เกิดการแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อปลดล็อกอุปสรรค ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานในแนวทางที่สอดคล้องกับโรดแม็ปการจัดการขยะของรัฐบาล เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยบีซีจีโมเดล

“ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายต่างทราบดีว่าการหมุนเวียนใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นแนวทางที่เหมาะสมและควรได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ยิ่งถ้าสามารถนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลกลับไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารหรือขวดเครื่องดื่มได้ตามมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยด้วยแล้ว นอกจากจะเป็นการทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศได้มากขึ้น ยังส่งเสริมการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางทำได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น ขยะขวดพลาสติกใช้แล้วที่สะอาดไม่ปนเปื้อนสิ่งสกปรกถือเป็นขยะที่มีราคา ซาเล้งรับซื้อขวดพลาสติกใช้แล้วเหล่านี้ในราคาสูงเพราะเขาก็นำไปขายต่อโรงงานรีไซเคิลในราคาสูงได้เช่นกัน”

“ตอนนี้ขยะพลาสติกภายในประเทศน่าจะเริ่มมีราคาเพิ่มขึ้นได้อีกเพราะผู้ประกอบการธุรกิจรีไซเคิลจำเป็นต้องใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศทั้งหมด” นายวิฑูรย์กล่าวในที่สุด.

วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ