คนไทยชอบ “คนละครึ่ง” มากที่สุด ช่วยลดค่าใช้จ่าย สอดคล้องความต้องการ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คนไทยชอบ “คนละครึ่ง” มากที่สุด ช่วยลดค่าใช้จ่าย สอดคล้องความต้องการ

Date Time: 8 ธ.ค. 2563 08:04 น.

Summary

  • โพลพาณิชย์ พบคนไทยชอบ “คนละครึ่ง” อันดับ 1 ตามด้วย “ชิม ช้อป ใช้–เราเที่ยวด้วยกัน–ช้อปดีมีคืน” เหตุช่วยลดค่าใช้จ่าย สอดคล้องความต้องการ ส่วนคนซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

โพลพาณิชย์ พบคนไทยชอบ “คนละครึ่ง” อันดับ 1 ตามด้วย “ชิม ช้อป ใช้–เราเที่ยวด้วยกัน–ช้อปดีมีคืน” เหตุช่วยลดค่าใช้จ่าย สอดคล้องความต้องการ ส่วนคนซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดยอดใช้จ่ายต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ “สุพัฒนพงษ์” ยันปี 64 เศรษฐกิจไทยโตไม่ต่ำกว่า 4%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า เดือน พ.ย.63 สนค.ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการผ่านออนไลน์ โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างทุกอำเภอ (884 อำเภอ/เขต) จำนวน 8,072 คน พบว่าคนละครึ่งได้รับความนิยมเข้าร่วมมากที่สุด มีผู้ตอบมากถึง 50.18% ตามด้วย ชิม ช้อป ใช้ 45.30%, เราเที่ยวด้วยกัน 21.06% และช้อปดีมีคืน 7.70%

สาเหตุที่เข้าร่วมโครงการต่างๆนั้น ผู้ตอบมากถึง 39.63% เห็นว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ อีก 22.81% สอดคล้องกับความต้องการ, 22.66% กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้จริง และอีก 14.90% ใช้สะดวก ส่วนโครงการที่ประชาชนเห็นด้วยมากที่สุด ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง 47.95%, ชิม ช้อป ใช้ 25.82%, เพิ่มวันหยุดยาว 19.04%, เราเที่ยวด้วยกัน 4.70% และช้อปดีมีคืน 2.49% ขณะที่เหตุผลของผู้ไม่เข้าร่วมโครงการ คือ ขั้นตอนลงทะเบียน/ การใช้ยุ่งยาก, ลงทะเบียนไม่ทัน และเหตุผลอื่นๆ เช่น ไม่จูงใจ, ไม่ทราบ/ไม่เข้าใจมาตรการ, ไม่อยากเปิดเผยข้อมูล เป็นต้น

“โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ ส่งผลดีต่อกำลังการซื้อ ลดค่าใช้จ่ายประชาชน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีรายได้ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าในระบบมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาครัฐเข้าถึงผู้ค้าและผู้บริโภค เพื่อรับทราบความต้องการและเสนอมาตรการให้ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คาดว่าโครงการเหล่านี้จะกระทบต่อเงินเฟ้อไม่มากนัก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามราคาอย่างใกล้ชิด”

ส่วนผลสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ พบว่าผู้บริโภคยังคงซื้อสินค้าและบริการผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น ประเมินว่า มียอดใช้จ่ายต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 52,000 ล้านบาท หรือ 7.80% ของการบริโภคภาคเอกชน โดยนิยมซื้อผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มากที่สุด เช่น Lazada, Shopee รองลงมาคือ ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และ Facebook เพราะสะดวก ราคาถูก และมีให้เลือกหลากหลาย สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อเฉลี่ยต่อเดือน ส่วนใหญ่ต่ำกว่า 1,000 บาท รองลงมา คือ 1,001-3,000 บาท และมากกว่า 3,000 บาท

โดยสินค้าและบริการที่ซื้อผ่านออนไลน์มากที่สุด คือ เสื้อผ้าและรองเท้า, อาหารและเครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์และของใช้ภายในบ้านและสุขภาพและความงาม/ของใช้ส่วนบุคคล ส่วนเหตุผลหลักในการซื้อสินค้าออนไลน์ คือ “การซื้อสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมและทวีความสำคัญเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อได้ ซึ่ง สนค.อยู่ระหว่างศึกษาราคาสินค้าและบริการออนไลน์ เพื่อกำหนดวิธีการจัดทำเงินเฟ้อให้สอดคล้องกับบริบทโลกใหม่โดยเร็ว”

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวถึงกรณี ที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นห่วงเศรษฐกิจไทยปี 64 อาจขยายตัวไม่ถึง 4% เพราะการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นว่า ทราบข้อเป็นห่วงของผู้ว่าการฯ ธปท. แต่ยังมั่นใจว่า ปีหน้ารัฐบาลจะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่น้อยกว่า 4% ได้ “เมื่อผู้ว่าการฯ แบงก์ชาติเป็นห่วง เราก็ต้องหามาตรการมาเสริม ต้องทำการบ้านให้หนักขึ้นทุกด้าน ทั้งการใช้งบประมาณ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้เศรษฐกิจระดับฐานราก โดยมีเหตุผลของการ ผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับ 4% หรือมากกว่า เพื่อจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้ภายใน 12-18 เดือน”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ