แรงงานภาคธุรกิจ 21 ล้านคน วิกฤติโควิด-19 พ่นพิษชีวิตแขวนบนเส้นด้าย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

แรงงานภาคธุรกิจ 21 ล้านคน วิกฤติโควิด-19 พ่นพิษชีวิตแขวนบนเส้นด้าย

Date Time: 26 พ.ย. 2563 07:50 น.

Summary

  • สถาบันปิดทองหลังพระ ร่วมมือ 7 องค์กร ระดมความคิดจากสถาบันวิชาการ ชั้นนำจากภาคธุรกิจและประชาชน หาแนวทางนำประเทศไทยผ่านวิกฤติและพัฒนาอย่างยั่งยืน

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย


สถาบันปิดทองหลังพระ ร่วมมือ 7 องค์กร ระดมความคิดจากสถาบันวิชาการ ชั้นนำจากภาคธุรกิจและประชาชน หาแนวทางนำประเทศไทยผ่านวิกฤติและพัฒนา อย่างยั่งยืน ชี้โควิด-19 ทำแรงงานไทยในภาคธุรกิจมีความเสี่ยงสูงถึง 21 ล้านคน จากแรงงาน 37 ล้านคน ทำให้แรงงานไทยที่ตกอยู่ในภาวะมีงานทำ แต่ยากจนมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ, สำนักข่าวไทยพับลิก้า ได้ร่วมกันจัดทำโครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย รวมทั้งความพร้อมของประชาชนในสังคมไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ เพื่อมองหาทางหารูปแบบในการนำประเทศไทยผ่านวิกฤติ โดยคณะวิชาการจะได้ทำการรวบรวม ทั้งงานทางวิชาการและความคิดเห็น ของประชาชน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและประชาชนทั่วประเทศต่อไป

นายกฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประเมินว่าแรงงานไทยในภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถึง 21 ล้านคน จากจำนวนแรงงานทั้งสิ้น 37 ล้านคน โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ภัตตาคาร การขนส่ง และภาคบริการอื่นๆ เพราะแรงงานกลุ่มนี้ มีความเสี่ยงที่จะตกงาน ถูกลดชั่วโมงทำงาน และหรือถูกลดค่าจ้างแรงงาน อีกทั้งแรงงานไทยที่ตกอยู่ในภาวะมีงานทำแต่ยากจน (Working Poverty) จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก 4.7% เป็น 11% ของการจ้างงานทั้งหมดในปีนี้

ขณะเดียวกัน จากการวิจัยพบว่ามีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ด้านเทคโนโลยีและรูปแบบการค้าโลก ทำให้แรงงานไทยที่เสี่ยงต่อการสูญเสียงานสูงถึง 12 ล้านคน โดยกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงในการสูญเสียงานมากที่สุดคือ เสมียน และกลุ่ม อาชีพปฏิบัติการ ด้านเครื่องจักรในโรงงาน เนื่อง จากจะถูกทดแทนด้วยระบบคอมพิวเตอร์และระบบอัตโนมัติ ขณะเดียวกัน มีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพเกษตรกร และอากาศที่ร้อนเกินควรส่งผลต่อคนงานก่อสร้างและเกษตรกรด้วย

“กลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่มีความเสี่ยง สูญเสียงานจากโควิด-19 ประกอบด้วย 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด -19 แต่มีความเสี่ยงน้อยที่จะสูญเสียงานจากการถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์และผลทางอ้อมจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้า โดยมีอาชีพที่จัดอยู่ในกลุ่ม 166 อาชีพ ครอบคลุมแรงงาน 12.20 ล้านคน หรือคิดเป็น 32.26% ของกำลังแรงงานไทย”

ขณะที่กลุ่มที่ 2 กลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะสูญเสียงานจากการถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์และผลทางอ้อมจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้า โดยมีอาชีพที่จัดอยู่ในกลุ่ม 81 อาชีพ ครอบคลุมแรงงาน 4.78 ล้านคน หรือ 12.63% ของกำลังแรงงานไทย และกลุ่ม 3 เป็นกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด-19 และมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสีย จากการถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ และผลทางอ้อมจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้า โดยมีอาชีพที่จัดอยู่ในกลุ่ม 11 อาชีพ ซึ่งครอบคลุมแรงงาน 1.27 ล้านคน หรือ 3.35% ของกำลังแรงงานไทย

นางสาวกุลทิพย์ ศาสตระรุจิ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ข้อเสนอทิศทางการปรับตัวหลังวิกฤติโควิด-19 มี 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.นำเทคโนโลยีเข้ามา ปรับใช้ ซึ่งจากการรับฟังความเห็นทุกภูมิภาคเสนอแนะว่าควรส่งเสริมให้มีการซื้อ-ขายออนไลน์ การเรียน-อบรมออนไลน์ การทำงานผ่านออนไลน์ ให้มากขึ้น ควรเพิ่มทักษะการใช้เทคโนโลยี สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรให้มากขึ้น และใช้ระบบเอไอ และบิ๊กดาต้าบริหารด้านการท่องเที่ยว

2.ให้มีความช่วยเหลือจากภาครัฐในด้านการเกษตร ได้แก่ การจัดการระบบน้ำ การช่วยเหลือ ร่วมมือกันระหว่างสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ กับปราชญ์ชาวบ้าน สนับสนุนอาชีพที่ 2 ของภาคเกษตร ส่งเสริมการเกษตรปลอดสาร ส่งเสริมเกษตรออร์แกนิกส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ เกษตรอัตลักษณ์ สมุนไพร และกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ การทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและรัฐบาลด้านบิ๊กดาต้า การช่วยเหลือด้านเงินทุน ได้แก่ รัฐควรมีมาตรการประกันเงินกู้ให้เอสเอ็มอี เพิ่มความเร็วในการอนุมัติเงินกู้ กำหนดให้มีการซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 30% ฯลฯ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ