ครม.อลเวง มท.ลักไก่ต่อสัญญา BTS คมนาคม "เดือด" ให้ 30 ปี ขึ้นค่าตั๋วได้ 65 บาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ครม.อลเวง มท.ลักไก่ต่อสัญญา BTS คมนาคม "เดือด" ให้ 30 ปี ขึ้นค่าตั๋วได้ 65 บาท

Date Time: 18 พ.ย. 2563 07:50 น.

Summary

  • มหาดไทย ทำ ครม.เดือดปุด “ลักไก่” เสนอขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีก 30 ปี เก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ด้านคมนาคมค้านหัวชนฝาเหตุจะหมดสัญญาอีก 9-10 ปีนี้

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

มหาดไทย ทำ ครม.เดือดปุด “ลักไก่” เสนอขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีก 30 ปี เก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ด้านคมนาคมค้านหัวชนฝาเหตุจะหมดสัญญาอีก 9-10 ปีนี้ เทียบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินยาวกว่าแต่เก็บแค่ 42 บาทตลอดสาย อนาคตไม่สามารถลดราคาค่าโดยสารลงได้หากมีการเชื่อมระบบกัน

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วานนี้ (17 พ.ย.) กระทรวงมหาดไทยได้เสนอขออนุมัติขยายสัญญาสัมปทานให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ออกไปอีก 30 ปีโดยจะมีการขยายระยะเวลาร่วมลงทุนเพิ่มเติมจากเดิมสิ้นสุดปี 2572 เป็นสิ้นสุดปี 2602 แลกกับเก็บค่าโดยสารที่ 65 บาท ตลอดสาย ทั้งนี้ ผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า และเครื่องกล สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งหมด โดยให้นับเป็นทุนของโครงการ

ผู้รับสัมปทานยังจะเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของหนี้เงินกู้ที่กรุงเทพมหานครมีต่อกระทรวงการคลังเป็นจำนวนไม่เกิน 44,429 ล้านบาท สำหรับช่วงระยะเวลาร่วมลงทุนเดิม โดยนับเป็นทุนของโครงการ แต่ในที่ประชุม ครม. ยังไม่อนุมัติเนื่องจากยังมีบางหน่วยงานมีความเห็นแย้ง จึงให้กระทรวงมหาดไทยกลับไปทำรายละเอียดใหม่

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.) มีความเห็นขัดแย้งโดยเสนอความเห็นให้ ครม.พิจารณาอย่างรอบคอบ ข้อเท็จจริง การอ้างถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความงบแห่งชาติ ตาม ม.44 ได้ยกเว้นการหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน ปี 62 แต่ไม่ได้ให้ยกเว้นวินัยทางการเงินการคลังขณะเดียวกันกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบีทีเอส ไม่สามารถหาต้นที่มาของการจัดเก็บค่าโดยสารที่ 65 บาทตลอดสายแลกสัญญาสัมปทานได้ว่า มีที่มาจากอะไร และมีการวิเคราะห์โครงการในเชิงผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจและผลตอบ แทนทางการเงิน รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินทุน ปริมาณผู้โดยสาร และราคาค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรมอย่างไร

ส่วนการคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการนั้น ปรากฏว่าร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ขอขยายออกไปมีระยะทาง 15 กม.นั้น กำหนดให้มีอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในปัจจุบันกลับพบว่ามีราคาค่าโดยสารที่สูงกว่า ขณะที่มีระยะทางให้บริการถึง 50 กม. แต่เก็บค่าโดยสารเพียง 42 บาท กระทรวงคมนาคมจึงเห็นว่าการคิดอัตราค่าโดยสารควรที่จะมีความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ประชาชน และจากการศึกษาพบว่าปัจจุบันผู้มีรายได้น้อยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรถไฟฟ้าจำนวน 130 บาทต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 35% ของค่าแรงขั้นต่ำ

เมื่อมีการเปรียบเทียบราคาค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีระยะทาง 15 กม.และจะหมดสัญญาสัมปทานลงในอีก 9-10 ปีข้างหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่จะขยายสัญญาสัมปทานให้เอกชนอีก 30 ปี เพราะจากเงื่อนไขในร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะควบคุมค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย โดยกระทรวงมหาดไทยใช้ข้อมูลในปี 62 เป็นฐานในการเปรียบเทียและคำนวณการขนส่งทางราง จึงเห็นว่าอนาคตเมื่อมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเส้นทางหลักของเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่น ย่อมส่งผลให้ลดค่าโดยสารลงได้มากกว่า 65 บาท การควบคุมค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย จึงเป็นการดำเนินการที่สมควรวิเคราะห์ต้นทุนที่แท้จริงเป็นหลัก และลด หรืองดกรณีการเชื่อมต่อค่าแรกเข้าเป็นเงื่อนไขเมื่อมีการเดินทางเปลี่ยนสายทางเพื่อลดภาระให้แก่ประชาชนด้วย

กรมการขนส่งทางรางยังระบุอีกว่า การพิจารณาค่าโดยสารเมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าสายอื่น พบว่าปัจจุบันสายสีเขียว เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 20 ปี ซึ่งได้ผ่านจุดคุ้มทุนมาแล้ว มีผู้โดยสารประมาณ 800,000-1,000,000 คน (สถิติประมาณการก่อนวิกฤติโควิด) และมีอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีผู้โดย สารประมาณ 300,000 คนต่อวัน เก็บค่าโดยสารไม่เกิน 42 บาทตลอดสาย แต่ยังดำเนินกิจการได้ จึงเห็นว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถกำหนดราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมและถูกลงกว่า 65 บาทได้

ส่วนการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น สัมปทานเดิมต่อเนื่อง และรวมส่วนต่อขยายที่ 1-ส่วนต่อขยายที่ 2 ทำให้มีสินทรัพย์เดิมของรัฐ 23.5 กม.แรก, สินทรัพย์ของกรุงเทพธนาคม 12.75 กม. (ตากสิน-บางหว้า-อ่อนนุช-แบริ่ง) สินทรัพย์ที่ได้รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 13 กม. (แบริ่ง-สมุทรปราการ) และ 19 กม. (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) รวมระยะความยาวโครงข่ายเส้นทางทั้งหมด 68.25 กม. หากทั้งหมดตกเป็นของรัฐในปี 72 รัฐสามารถทำให้เอกชนลงทุนเพิ่มเติม จัดหางานระบบเดินรถ ในสัดส่วนน้อยกว่าการลงทุนโครงการใหม่ มีเพียงแค่การจัดหาตัวรถและปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณเพื่อให้บริการวิ่งเพิ่มเติมจึงควรพิจารณาให้เกิดความชัดเจนถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์ในการนี้มากเท่าใด อย่างไร.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ