ปลุกความมั่นใจลั่นงานสัมมนา "ไทยรัฐ" รัฐพร้อมพาคนไทยฝ่าวิกฤติโควิด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ปลุกความมั่นใจลั่นงานสัมมนา "ไทยรัฐ" รัฐพร้อมพาคนไทยฝ่าวิกฤติโควิด

Date Time: 16 พ.ย. 2563 05:05 น.

Summary

  • ประสบความสำเร็จไปอย่างยิ่งใหญ่ และน่าประทับใจ สำหรับการจัดงานสัมมนาประจำปีครั้งแรกของไทยรัฐกรุ๊ป “SHARING OUR COMMON FUTURE ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน”

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ประสบความสำเร็จไปอย่างยิ่งใหญ่ และน่าประทับใจ สำหรับการจัดงานสัมมนาประจำปีครั้งแรกของไทยรัฐกรุ๊ป “SHARING OUR COMMON FUTURE ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน” โดยบรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความอบอุ่น มิตรภาพ และการแบ่งปันข้อมูลทิศทางนโยบายในระดับภาพรวม รวมทั้งการแชร์มุมมองทางเศรษฐกิจในทุกระดับ เพื่อให้ “คนไทย” สามารถจับมือฝ่าฟัน วิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน

เริ่มต้นจากการกล่าว ปาฐกถาพิเศษ “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยปี 2564” โดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต่อจากนั้นเป็นการเสวนา “เศรษฐกิจหลังโควิด-19 : จุดยืนของไทยในเวทีโลก” จาก 3 เสาหลักของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของไทย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์

และเนื้อหา ซึ่งท่านวิทยากรทั้ง 4 ท่านได้กล่าวในงานสัมมนาครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ และประชาชน “ทีมเศรษฐกิจ” จึงขอสรุปมาให้อ่านกันอีกครั้ง

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

เริ่มต้น จากปาฐกถาพิเศษของ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

“รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง” ที่มากล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยปี 2564 ซึ่งจัดโดย “ไทยรัฐกรุ๊ป” เพราะไทยรัฐ เป็นสถาบันสื่อมวลชน วันนี้ได้รู้จักคอลัมนิสต์ที่อยากจะเจอ ไม่เคยลืมที่เห็นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นผู้นำประชาชน เป็นหนังสือพิมพ์เล่มเดียว ที่เอานิยายจอมยุทธ์ อย่างฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์มาลง และวันนี้ผมยังเป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

นี่คือสิ่งที่ผมเรียกไทยรัฐว่าเป็น “สถาบัน” ที่เข้าใจบริบทของประเทศ

และยังเข้าใจต่อว่า เมื่อเกิดโควิดแล้วเกิดความตกใจกันทั้งโลก เพราะเหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิด ไม่เคยแก้ไขได้มาก่อน จึงต้องพัฒนาตัวเราเองตลอดไป อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ถือว่าเราประสบความสำเร็จในการจัดการกับปัญหา ก่อนหน้านี้ทุกคนรู้สึกมากที่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถรับมือกับการระบาดได้ วันที่เราเห็น รมว.สาธารณสุข ออกมายอมรับว่าร้ายแรงตอนนั้นรู้สึกไม่มีทางออก เป็นอะไรที่ยากที่สุด และต้องอยู่ห่างกัน

“แต่หลังที่มีการจัดการของศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค.เหตุการณ์ค่อยๆบรรเทาลง ขณะที่ ประเทศอื่นยังมีปัญหาอยู่ แต่ประเทศไทย รัฐบาลผ่อนคลายตามลำดับ จนมีชีวิตไม่ต้องมีระยะห่าง หน้ากากอนามัยไม่ต้องใส่ตลอดเวลา จากที่ไม่รู้ธุรกิจจะอยู่อย่างไร แต่เราเดินฝ่าฟันมาได้ เพราะร่วมไม้ร่วมมือกัน เราแบ่งปัน เป็นความจดจำของคนไทยทั้งประเทศ และเราต้องไม่ลืมกัน”

ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาและรับมือผลกระทบ รัฐบาลจ่ายเงินมหาศาล 800,000 กว่าล้านบาท ทั้งเงินเยียวยาและเงินช่วยให้ธุรกิจเดินไปได้ โดยในส่วนการดูแลผู้ได้รับผลกระทบช่วงที่ล็อกดาวน์ ต้องขอบคุณสมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีโครงการพักชำระหนี้ รวม 6.8 ล้านล้านบาท ทำให้ภาคธุรกิจได้มีช่องทางปรับตัว แม้มีความเป็นห่วงว่า เมื่อครบเวลาพักชำระหนี้ในเดือน ต.ค.63 ไปแล้ว อาจมีบางรายที่ชำระหนี้ไม่ได้แต่พบว่า เมื่อครบกำหนดพักชำระหนี้แล้ว ลูกหนี้ที่พักชำระหนี้ 94% สามารถชำระหนี้ได้ มีเพียง 6% ที่มีปัญหา

เรามาถึงตรงนี้ได้ถือว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ภายใต้สถานะการเงินการคลังยังดี ไม่ถูกปรับลดอันดับใดๆ และล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับสถานะประเทศไทยดีขึ้นเพียงประเทศเดียว ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ดีกว่าไตรมาส 2 เราทำได้ดีกว่าหลายประเทศ ต้องขอบคุณธนาคารพาณิชย์ที่มีความรอบคอบ และสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ

แน่นอนว่า ยังมีอุตสาหกรรมที่ยังเปิดได้ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีจึงให้แนวทางเยียวยาฟื้นฟูคือ มาตรการ “รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งเป็นหน้าที่รัฐบาลร่วมกับภาคประชาชน โดยรัฐออกมาตรการทั้งไทยมีงานทำ เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เพื่อฟื้นฟูประเทศ ให้กับอุตสาหกรรมที่เปราะบาง

โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” ตอนแรกอืดๆ แต่ตอนนี้เป็นที่นิยม คนกล้าเที่ยวมากขึ้น รัฐบาลก็สนับสนุน เป็นการแก้วิกฤติที่มีส่วนร่วมของทั้งประเทศ และท้ายที่สุดทุกคนจะมีภาพจำที่ได้ช่วยเหลือสนับสนุนผู้ที่เดือดร้อน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ช่วยคนมีรายได้น้อย คนละครึ่ง ก็ช่วยคนอีกระดับขึ้นมาหน่อยให้จับจ่ายใช้สอย ถือว่ารัฐบาลช่วยเหลือเป็นหมวด กระตุ้น เสริมสร้างให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมพาประเทศไทยให้พ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้

จากมาตรการต่างๆที่รัฐบาลดำเนินการ ทำให้ขณะนี้ดัชนีการผลิตทุกตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ประชาชนอาจยังไม่รู้สึกแต่ค่อยๆ ดีขึ้นแล้ว ปีนี้เรามีความหวัง เรามีการพัฒนาวัคซีน เรามีโอกาส มีพัฒนาการ เมื่อถึงเวลาที่เราพร้อม เราจะวิ่งได้เร็วกว่าคนอื่น”

ในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะดีกว่าประเทศอื่น เพราะเรามีตลาดทุนแข็งแกร่ง และทุนสำรองระหว่างประเทศเข้มแข็ง มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ถนน ท่าเรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะก่อสร้างในปีหน้า ปี 64 ยังต้องพึ่งพาการลงทุนในประเทศให้เติบโตต่อไป เชื่อว่า ภายในกลางปีหน้าประชาชนจะรู้สึกได้ถึงการฟื้นตัวอย่างแท้จริง

“สิ่งที่จะเสริมปีหน้า คือ จะมีทีมปฏิบัติการเชิงรุก รัฐบาลจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดดึงดูดนักลงทุนเข้ามา เพราะเราต้องการดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนจากการที่อาศัยการท่องเที่ยวเป็นหลัก และส่งออกสินค้าเดิมๆให้เป็นสินค้าของอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้งจะไม่ต้องกักตัวนักลงทุน และเปิดให้ต่างชาติมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย และได้วีซ่าระยะยาว 10 ปี”

แต่สิ่งที่ภาครัฐต้องการคือ ต้องการความมั่นใจของภาคเอกชน หากเราเริ่มพร้อมกัน พร้อมปฏิบัติการเชิงรุก ในการดึงดูดนักลงทุน เชื่อว่า ในปีหน้าจะมีนักลงทุนตัวใหญ่มาลงทุนในไทยอย่างแท้จริง ซึ่งเราจะทำอย่างต่อเนื่องในปี 2563 ไปถึงปี 2564 และจะเห็นผลในปี 2565 ขณะที่นักท่องเที่ยวก็จะมองว่า ไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัย และผมหวังได้รับความร่วมมือจากเอกชน เรามาสร้างและร่วมมือร่วมใจเพื่อประเทศไทยด้วยกัน

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

จากนั้น เป็นช่วงการเสวนา “เศรษฐกิจหลังโควิด-19 : จุดยืนของไทยในเวทีโลก” ซึ่ง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ได้กล่าวว่า คลังถือเป็นทีมเดียวกันกับ ธปท.และสภาพัฒน์ โดยแม้ตอนนี้อุโมงค์จะมืดมิด แต่ก็ย่อมมีแสงสว่าง ฉะนั้น เศรษฐกิจไทยที่ไถลลงไปแล้ว ก็ต้องลุกขึ้นให้ได้

“ยืนยันว่า ตอนนี้ดีกว่าช่วงวิกฤติปี 2540 ทั้งภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจ ราคาสินค้าเกษตร ขณะที่รัฐบาลมีมาตรการระยะสั้น ตั้งแต่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการชิมช้อปใช้ และคนละครึ่ง ก็ทำให้คนออกมาจับจ่ายแบบ “แกรนด์เซล” วันนี้เศรษฐกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีระดับกลางยังไปได้อยู่ แต่เศรษฐกิจชาวบ้านไปไม่ได้ ต้องลงไปช่วยให้มีกำลังซื้อ ซึ่งเราเริ่มมองเห็นภาพที่กิจการเล็กๆดีขึ้น และเราต้องไม่ลืมเศรษฐกิจข้างล่าง”

ส่วนผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวหายไปเกือบ 40 ล้านคน โรงแรมปิด พอมีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ก็ช่วยธุรกิจโรงแรม ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวมดีขึ้น ซึ่งตอนนี้ รัฐบาลต้องกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศในระหว่างที่รอกำลังซื้อต่างประเทศ โดยการกระตุ้นกำลังซื้อสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางรัฐได้ออกมาตรการช้อปดีมีคืน ซึ่งนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงไปหักค่าลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท เพื่อช่วยทำให้เกิดการใช้จ่าย ในช่วงที่ท่องเที่ยวยังฟื้นตัวไม่ได้ เพราะสัดส่วนของการใช้จ่ายในประเทศคิดเป็น 50% ของจีดีพี

ส่วนเรื่องงบประมาณเยียวยาโควิด ซึ่งเงินส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณปกติ แม้งบปี 64 จะมาล่าช้าก็ตาม และอีกก้อนมาจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เกือบ 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเงินเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยต้องลงไปในระดับชาวบ้าน สร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการ ช่วยเหลือภาคท่องเที่ยว ผ่าน “เราเที่ยวด้วยกัน” และเติมมาตรการ “คนละครึ่ง” ให้ลงไปในระดับล่าง เพื่อให้คนมีความมั่นใจ ขณะที่ยังมีเงินมาจากเงินกำไรรัฐวิสาหกิจ เงินกู้ เงินกองทุนต่างๆ ที่แช่อยู่ในแบงก์ นำเงินไปทำโครงสร้างพื้นฐาน นำงบส่วนหนึ่งเอาไปใช้สร้างความเข้มแข็งของสังคม

และหากการผลิตวัคซีนโควิดของเราได้ผล จะเป็นประเทศแรกในกลุ่มกำลังพัฒนา และจะนำไปสู่นโยบายของรัฐบาล ที่อยากเห็นอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้

“ในช่วงล็อกดาวน์ไป 3 เดือน มีสิ่งที่ไม่กระทบ เรื่องแรกคือระบบโลจิสติกส์ที่เดินได้ ส่วนที่ 2 คือแอปพลิเคชันที่เข้ามามีอิทธิพลมาก โดยเฉพาะปีหน้า และปีต่อๆ ไป ซึ่งเราต้องเร่งพัฒนาให้ดีขึ้น”

ขณะเดียวกัน เราอาจจะพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานน้อย แต่หน้าที่ของรัฐบาลต้องไม่ละเลย ต้องนำเงินไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการพัฒนาประเทศ แม้จะอยู่ในวิกฤติโควิด-19 ยังจำเป็นต้องเร่งรัด เพราะโดยเฉพาะส่วนที่ประชาชนเฝ้ารอ เช่น รถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ซึ่งโดยสรุปแหล่งเงินของรัฐบาลในปีนี้ไม่มีปัญหา เงินทุนสำรองฯ เหลือเฟือ ฐานะการคลังดี แต่ปีหน้าอาจจะลำบากนิดหนึ่ง เพราะผู้เสียภาษี มีผลประกอบการปีนี้ไม่ดี ทำให้เสียภาษีลดลง

ส่วนในระยะยาว และระยะปานกลาง จะใช้โครงสร้างภาษีเดิมไม่ได้ จากโครงการลด แลก แจก แถม ต้องปรับปรุง เพื่อตอบสนองสตาร์ตอัพ และตอบสนองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยทิศทางของเรื่องภาษี คือ การทำให้สมดุล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผน ส่วนโครงการอีอีซี มีสิทธิพิเศษทางภาษี 17% และเพิ่มแรงจูงใจจากโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือ สนามบิน รถไฟ จากการยกเว้นภาษี 8 ปี เป็นแผนที่จะปรับโครงสร้างภาษี สุดท้ายมองว่าเอกชนควรจะเร่งรัดการลงทุน และควรลงทุนตอนเศรษฐกิจขาลง เพื่อไม่ให้เสียโอกาส

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ตามมาด้วย “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งเริ่มจากการมองย้อนวิกฤติของไทยกลับไป “ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ไทยช่วงหลังมานี้ เราเจอสภาวะเศรษฐกิจติดลบ 3 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกคือ วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ติดลบ 8% ครั้งที่ 2 ปี 2551 หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ติดลบ 1% และครั้งที่ 3 วิกฤติโควิด-19 ในปี 2563 ตัวเลขประมาณการ ธปท.คาดว่า จะติดลบประมาณ 8%”

อย่างไรก็ตาม จากการเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีความหวัง เพราะปี 2540 การลงทุนติดลบ 50% การบริโภคลบกว่า 10% แต่ครั้งนี้การลงทุนลบ 3% และการบริโภคลบ 10% กว่าๆ ส่วนการส่งออก ปี 2551 ถูกกระทบหนัก 15% แต่รอบนี้มองว่า ติดลบ 10% ต้นๆ แต่ครั้งนี้จุดที่วิกฤติมากกว่าคือ ภาคแรงงาน ที่เป็นจุดกล่องดวงใจคือ ภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง แม้จะมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 11-12% แต่มีการจ้างงานสูงถึง 20% เป็นที่มาที่ทำให้รู้สึกว่า ครั้งนี้แรงกว่าครั้งก่อนๆ เพราะกระทบคนหมู่มาก

วิกฤติครั้งนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก ซึ่งเป็นปัญหาที่เราเจอมาก่อนโควิด-19 เพราะไทยแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการเน้นให้คนกู้ยืมมากขึ้น ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นจุดเปราะบางของเศรษฐกิจ โดยช่วงก่อนโควิด คนไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี 80% แต่หลังโควิดขึ้นมาที่ 84% เนื่องจากคนส่วนหนึ่ง รายได้หาย การทำงานลดลง บางส่วนตกงาน ต้องกู้หนี้ยืมสินมากขึ้น การแก้ปัญหาจึงต้องแก้รายได้ และดูแลหนี้สิน

นอกจากนั้น ตัวเลขคนว่างงานที่เป็นตัวเลขที่ประกาศเป็นทางการในขณะนี้ที่ออกมา 700,000-800,000 คนนั้น ไม่สะท้อนรายได้ของคนไทยที่หายไปจริง เพราะเราจะเห็นคนจำนวนหนึ่งที่ยังมีงานทำ แต่น้อยกว่าที่เคยทำ หรือทำงานที่ต่ำกว่าความสามารถที่เคยทำ หรือหากมองคนที่คนทำงานต่ำกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ผมคิดว่าจะต้องเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านคน ซึ่งเมื่อรวมเบ็ดเสร็จแล้ว คนที่ได้รับผลกระทบอยู่ที่ 3 ล้านคน เราจึงเห็นความเดือดร้อนเป็นวงกว้างอัดทุกมาตรการหมุนเศรษฐกิจ

“ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ อยากให้ความเชื่อมั่นว่าเราเคยเจอหนักกว่าครั้งนี้มาแล้ว และอีกจุดหนึ่งที่ทำให้มองว่าเราจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ได้คือเรื่องเสถียรภาพ ซึ่งรอบนี้ดีกว่ารอบก่อน ที่ชัดที่สุดคือปีนี้เรามีทุนสำรองฯสูง แต่มีหนี้ต่างประเทศต่ำต่างจากปี 2540 สิ้นเชิง ทำให้ในฝั่งต่างประเทศเราไม่มีปัญหาอะไรเลย”

มิติที่ 2 คือระบบธนาคารพาณิชย์มีฐานะเข้มแข็ง สภาพคล่องสูง เงินกองทุนกว่า 19% สูงสุดอันดับ 3 ในเอเชีย มิติที่ 3 คือฐานะการคลังยังไม่มีปัญหา หนี้สาธารณะต่อจีดีพียังต่ำกว่าในปี 2540 และตัวเลขที่สะท้อนว่าฐานะการคลังของประเทศยังคงเข้มแข็ง สภาพคล่องยังดี คือ อัตราดอกเบี้ย ยกตัวอย่าง อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี อยู่ที่ 0.7-0.8% อายุ 10 ปีอยู่ที่ 1.2-1.3% แสดงว่าความสามารถการมีกระสุนเพิ่มของรัฐบาลยังมีอยู่

“วิกฤติครั้งนี้หนักและกระจายไปในหลายภาคส่วนต้องใช้เวลานานในการแก้ปัญหา แต่เมื่อไล่เรียงแล้ว ด้านเสถียรภาพยังดี น่าจะทำให้เรามั่นใจว่า ปัญหารอบนี้แก้ได้ แต่ 1.ต้องใช้เวลา เพราะปัญหาไม่ได้กระจุกแค่รายใหญ่ แต่กระจายไปทุกส่วน 2.ต้องใช้เวลานาน เพราะปัญหารายได้ และแรงงานมาจากภาคส่วนที่ถูกกระทบโดยตรงจากโควิด ขณะที่วัคซีนกว่าจะใช้ได้ต้องใช้เวลานาน ผมถึงบอกว่าแก้ได้ แต่ต้องใช้เวลา”

และเงื่อนไขสำคัญอย่างที่ 2 ที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้จะต้องแก้ให้ถูกจุด หากแก้แบบเหวี่ยงแห และสร้างผลข้างเคียงที่ไม่ดี ซ้ำเติม หรือสร้างปัญหาเพิ่มเติมจะยิ่งทำให้แก้ปัญหาลำบากมากขึ้น ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องดูภาพรวมให้ดี แก้แบบถูกต้อง ไม่ใช่ถูกใจ เอาป๊อปปูลาร์โหวต เช่น การดูแลลูกหนี้ต้องวางแนวทางให้สมดุลทุกด้าน

ที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการเยียวยาเอสเอ็มอี ทั้งการให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน และการพักหนี้ให้เป็นการทั่วไป แบบที่เรียกว่าปูพรม หรือเหมาเข่ง แต่ตอนนี้ไม่ได้มองว่าถูกต้องถึงแม้ถูกใจ เพราะจะเป็นการสร้างปัญหาซ้ำปัญหาเดิม และสร้างผลข้างเคียงที่ไม่ดี เนื่องจากการพักหนี้ไม่ได้พักจริงๆ เพราะดอกเบี้ยยังวิ่งอยู่ และยังสร้างแรงจูงใจที่ผิดให้คนที่จ่ายได้ ไม่จ่ายหนี้ รวมทั้งยังส่งผลต่อความแข็งแกร่งของเจ้าหนี้ ดังนั้น ในขณะนี้มาตรการไม่ควรเหมาเข่ง แต่ควรจะแยกแยะคนที่จ่ายได้ และจ่ายไม่ไหวให้ชัดเจนมากกว่า

หากถามว่า วันนี้อยากเห็นเอกชนทำอะไร ต้องบอกว่าอยากเห็นเอกชนลงทุน เพราะเราเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีระดับ หรือมูลค่าการลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชนต่ำกว่าวิกฤติปี 2540 ทำให้รายได้ของคนไม่ค่อยโต ประสิทธิภาพแรงงานไม่เพิ่ม เป็นต้นตอของปัญหาอื่นๆ ถ้าภาคเอกชนลงทุนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน และเศรษฐกิจไทย ซึ่งลงทุนเพื่อปรับตัวรองรับเทรนด์ของโลกใหม่หลังโควิด-19 นั้น เชื่อว่า ภาคเอกชนไทยน่าจะมองออก

“ขณะที่การดูแลแก้ไขหนี้ครัวเรือนมาตรการที่มองว่าช่วยลูกหนี้ได้มากคือการดูแลการผิดนัดชำระหนี้ที่ ธปท.ออกมา ซึ่งช่วยให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดจากเฉพาะเงินต้นที่ผิดนัดชำระหนี้ ไม่ใช่คิดจากเงินต้นทั้งหมด ซึ่งช่วยให้ภาระลูกหนี้ลดลงและมีโอกาสพ้นกับดักหนี้ได้ ซึ่งส่วนนี้ ธปท.ช่วยได้ แต่ถ้าจะแก้ให้ได้แบบยั่งยืน ต้องวนกลับไปสู่การจ้างงานเต็มเวลา การลงทุนของภาครัฐ และเอกชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานและช่วยให้คนมีรายได้มากขึ้น”

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

สำหรับคนสุดท้าย “ดนุชา พิชยนันท์เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวในช่วงเสวนาว่า “ตอนมีวิกฤติโควิด-19 ใหม่ๆ รัฐบาลได้ออกหลายมาตรการเพื่อแก้ปัญหาเยียวยาผลกระทบ เช่น ออก พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ประคับประคองภาคธุรกิจ การจ้างงาน และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้ง เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้อนุมัติเพื่อโครงการต่างๆ ไปแล้วกว่า 120,000 ล้านบาท”

รวมทั้งรัฐบาลยังได้ออกมาตรการเพิ่มเติมมากระตุ้นกำลังซื้อประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

“จากมาตรการที่รัฐออกมาเยียวยาลดผลกระทบรวมถึงการคลายล็อกดาวน์ ทำให้ขณะนี้เศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดมาแล้วตั้งแต่พ้นไตรมาส 2 เพราะจากการติดตามเครื่องชี้วัดต่างๆทางเศรษฐกิจพบว่า เครื่องชี้วัดดีขึ้นหมดส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค. ลบ 7.5% เดือน ส.ค. ลบ 6% จากเดือน มิ.ย.ที่ติดลบหนักถึง 18.3% แม้ยังเป็นอัตราที่ติดลบ แต่ติดลบลดลง เราจะดีขึ้นอย่างช้าๆ ถ้าเหตุการณ์ต่างๆไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เช่น ไม่มีการระบาดรอบ 2”

แต่สิ่งที่ต้องระวังที่สุด คือวิกฤติรอบนี้มีความไม่แน่นอนสูงมาก แม้วัคซีนต้านโควิด-19 ใกล้สำเร็จ แต่กว่าจะกระจายไปยังทั่วโลกได้คงใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง การท่องเที่ยวจึงยังไม่ฟื้น คนที่อยู่ในภาคท่องเที่ยวมีจำนวนมาก เมื่อเกิดวิกฤติมีผลกระทบรุนแรง รัฐจึงต้องออกมาตรการสนับสนุนคนไทยเที่ยวไทย อย่างน้อยทำให้รายได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องจับตาประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯจะเป็นนายโจ ไบเดน หรือไม่ ซึ่งจะมีผลทำให้นโยบายของสหรัฐฯเปลี่ยนแปลงไปจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระทบไทย

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ยังหวังพึ่งพาการท่องเที่ยว และการส่งออกไม่ได้มากนัก ต้องพึ่งพาภายใน พึ่งพาการลงทุนของภาคเอกชนไทย ซึ่งจังหวะนี้เอกชนไทยช่วยได้ 3-4 เรื่อง คือจะเลือกลงทุนในการพัฒนาทักษะแรงงานของตนเอง เลือกลงทุนปรับปรุงโรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอนาคตหรือไม่

เนื่องจากขณะนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้วมีการเร่งตัวของดิจิทัล รถยนต์ก็ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า จึงควรลงทุนในสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และนโยบายของรัฐบาล หรืออาจลงทุนด้านสาธารณสุข อย่างการดูแลผู้สูงอายุ เพราะไทยมีจุดความแข็งแกร่งในแง่ของสาธารณสุข การควบคุมโรค หรือลงทุนที่เกี่ยวกับการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะต่อไปไทยคงเน้นรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ยาวและใช้จ่ายมากๆ ซึ่งขณะนี้รัฐได้ออกวีซ่าเอสทีวีดึงนักท่องเที่ยวเหล่านี้เข้ามาอยู่ยาว นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังช่วยได้ด้วยการคุยเครือข่ายในต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งอาจไม่ใช่การลงทุนในปีหน้า แต่น่าจะได้ในระยะยาว

“ผมเชื่อว่าโควิด-19 ยังอยู่กับเรา และกับโลกอีกระยะหนึ่ง และต้องใช้เวลานานกว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว เราต้องปรับตัวอยู่กับมันให้ได้ คนทำธุรกิจอย่างหนึ่ง ก็อาจปรับไปทำอย่างอื่น จริงๆในวิกฤติมีโอกาส แต่ต้องหาให้เจอ และอยู่กับมันให้ได้ เชื่อว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยหลังโควิดจะแข็งแรงขึ้น เราต้องอยู่ด้วยความหวังและกำลังใจ”

ท้ายที่สุด จากงานสัมมนา เราได้เรียนรู้ “บทเรียนจากโควิด-19 ครั้งนี้” อย่างไร

รมว.คลัง ให้ความเห็นในด้านนโยบายว่า “ครั้งนี้เราสามารถตอบสนองในทันที จำกัดพื้นที่การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ช่วงแรกไทยเรายอมสละเรื่องเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก 3 เดือน ตามมาด้วยมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ครั้งนี้เศรษฐกิจเราไม่ได้ป่วย แต่บังเอิญมีทางลาด ลื่นลงไปหน่อย ทำให้ครั้งนี้มั่นใจว่าจะลุกได้เร็ว”

ขณะที่คำตอบของ ผู้ว่าการ ธปท. “ผมมองว่า ขณะนี้อาจยังไม่ชัด แต่เราจะต้องเรียนรู้ไปด้วยกันและเราจะเห็นบทเรียนที่ชัดเจนขึ้นหลังจากนี้ เหมือนกับในปี 2540 ทำให้เราพยายามมีความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ (Resilience) มากขึ้น แต่เท่าที่เรารู้วันนี้คือเราอาจจะไม่มีความยืดหยุ่นเท่าที่เราคิดว่าเราเป็น เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไป

บทเรียนจากครั้งนี้คือเราอาจต้องกระจายรายได้ สัดส่วนการลงทุน และโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวมให้ยืดหยุ่นมากขึ้น รองรับ “ช็อก” ได้มากขึ้น และภายใต้วิกฤติที่จะยาวนานรัฐบาลต้องประคองเศรษฐกิจ และระหว่างเวลาที่เรากำลังแก้ไขถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ตัวเรา เศรษฐกิจของเราดีกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยให้เรามีกำลังใจผ่านไปได้”

ด้าน เลขาฯสภาพัฒน์ มองว่า “วิกฤติโควิดครั้งนี้ เราได้เรียนรู้ว่าเวลาคนไทยเจอวิกฤติ เราก็พร้อมสามัคคีและช่วยกันฝ่าฟันปัญหาอีกส่วนคือพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งระดับหนึ่ง แต่ไม่หลากหลายพอจะลดความเสี่ยงได้ เราพึ่งพาส่งออกและท่องเที่ยวมาก เราต้องปรับโครงสร้างในระยะต่อไป จะได้ไม่อ่อนไหวกับปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ