มุมมองเศรษฐกิจ 3 อดีตขุนคลัง เสียงสะท้อนหนทางแก้ปัญหาถึงนายกรัฐมนตรี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

มุมมองเศรษฐกิจ 3 อดีตขุนคลัง เสียงสะท้อนหนทางแก้ปัญหาถึงนายกรัฐมนตรี

Date Time: 12 พ.ย. 2563 07:50 น.

Summary

  • ผู้สื่อข่าวรายงานจากงานสัมมนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยปี 64 ที่จัดโดยไทยรัฐกรุ๊ป ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา วันนี้ เรามีเสียงสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจไทย

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ผู้สื่อข่าวรายงานจากงานสัมมนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยปี 64 ที่จัดโดยไทยรัฐกรุ๊ป ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา วันนี้ เรามีเสียงสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจไทย ถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จาก 3 อดีต รมว.คลัง เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลเศรษฐกิจไทย ในระยะต่อไป

เริ่มต้นจากนายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ให้เสียงสะท้อนถึง “นายกรัฐมนตรี” สำหรับเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ มาถึงจุดที่กำลังพังลงไปเรื่อยๆ โดยหากรีบแก้ปัญหาตั้งแต่เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว อย่างที่กลุ่ม “CARE คิด เคลื่อนไทย” เคยเสนอ ก็คงจะดีกว่านี้ หากถามว่า วันนี้สายเกินไปไหม คิดว่าช้าพอสมควร ถ้าไม่ทำอะไรได้ไหม ไม่ได้ ยังไงก็ยังต้องทำ ปัจจัยเรื่องแรกที่ต้องไปดู คือ ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ต้องยอมรับว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ช้ามากในการตัดสินใจเรื่องนี้

เปิดประเทศรับการท่องเที่ยว

ความภาคภูมิใจในการที่มีผู้ป่วยในประเทศเป็นศูนย์ ตนมองว่าความภาคภูมิใจเหล่านี้แลกไม่ได้เลยกับการที่คนจำนวนเป็นล้านคน ที่ต้องตกงาน เศรษฐกิจจำนวนมากที่ต้องล้มละลาย ไม่คุ้มค่าที่จะแลก ถ้าเปรียบเทียบกันในหลายๆ ประเทศ ที่ได้เริ่มต้นจากการเปิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการท่องเที่ยวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไอซ์แลนด์หรือมัลดีฟส์

“วันนี้ความรุนแรงของโควิด-19 ลดน้อยลงเรื่อยๆ ความกลัวโควิด-19 ก็ต้องลดลงได้แล้ว การควบคุมตัว 14 วัน ขณะนี้ บอกเหลือ 10 วันก็ยังได้ บางประเทศเหลือ 7 วัน บางประเทศเหลือ 5 วัน แต่อุปสรรคอยู่ที่ ศบค. ที่ยังยืนยันอยู่ว่าจะใช้มาตรการแบบเดิม โดยที่ไม่ตั้งใจศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของโรค ผมคิดว่าเรื่องของการท่องเที่ยว ศบค. หรือใครที่รับผิดชอบ ต้องทบทวนด้วยเหตุผลทางวิชาการ และเปิดการท่องเที่ยวให้เร็วขึ้นมากกว่านี้”

สำหรับการแก้ปัญหาเอสเอ็มอี ก็ต้องอัดเงินทุนเข้าไป เพื่อประคองกิจการให้อยู่รอด เงินทุนที่รัฐบาลเคยบอกให้ธนาคารพาณิชย์ตั้งเป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ให้คิดดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอี ล่าสุดปล่อยได้ถึง 120,000 ล้านบาท ถือว่าน้อยมาก เพราะธนาคารพาณิชย์ก็ต้องป้องกันตัวเอง ในขณะที่เกิดวิกฤติครั้งใหญ่ยังต้องอยู่รอด แต่คนที่จะอยู่ไม่รอดคือเอสเอ็มอี นับล้านราย

ดังนั้น รัฐบาล ต้องอัดฉีดเงินทุนเข้าไป อย่างที่กลุ่ม CARE เสนอคือ 2 ล้านล้านบาท แล้วรัฐบาลค้ำประกัน 100% ธนาคารพาณิชย์จึงจะกล้าปล่อยกู้ ถามว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นไหม เป็นไปได้ รัฐบาลก็ต้องพร้อมดูแลเรื่องความเสียหายนี้ รวมทั้งดูแลค่าเงินบาท เพื่อทำให้การส่งออกเดินไปได้ เพราะหากค่าเงินบาทหลุด 30 บาทต่อเหรียญฯสหรัฐฯ ถือว่าอันตรายมากสำหรับการส่งออก

แจกเงิน-เพิ่มวันหยุดเป็นความสูญเปล่า

“ทุกวันนี้สิ่งที่เราทำคุ้นเคยกันมาตลอด คือ การแจกเงิน และการเพิ่มวันหยุด ที่เป็นมาตรการชั่วคราวทั้งสิ้น แม้มีความพยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่เป็นลักษณะกระจุกตัว และโลกยุคใหม่ไม่จำเป็นที่จะต้องมากระจุกตัวอยู่ที่เดียวกัน”

ฉะนั้น ภาพรวมในยุคที่เคยพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดให้โชติช่วงชัชวาล มันไม่ใช่ภาพที่จะใช้แบบเดิมได้อีกแล้ว เพราะสิ่งที่ต้องพัฒนาคือ 1. พัฒนาคนที่ต้องเร่งปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ เพื่อพัฒนาคนให้ตอบรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง 2.ถ้าหากเราคิดว่าต่อยอดจากเรื่องของโควิด-19 ระบบสาธารณสุขของไทยจะต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ เพื่อทำให้เป็นเศรษฐกิจใหม่ที่แข็งแรง

3.เรื่องอาหาร ที่จะต้องพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องของห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบ ตั้งแต่เรื่องระบบชลประทาน ระบบของเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทางด้านการเกษตร ปรับปรุงระบบของการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ทางด้านการเกษตร เพื่อต่อยอดให้อุตสาหกรรมการเกษตรเติบโตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น

“ทีมเศรษฐกิจ” ปรับปรุงนโยบายด่วน

ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ให้เสียงสะท้อนว่า “หากจะพูดว่าเศรษฐกิจดีขึ้น” ก็ขึ้นอยู่กับว่าเปรียบเทียบกับอะไร เช่น เศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว เมื่อเทียบกับช่วงล็อกดาวน์ เพราะคนเริ่มมีการเคลื่อนไหวได้ ออกมาเที่ยวได้ มีการจับจ่ายใช้สอยข้ามจังหวัดได้ ก็เชื่อว่า ไตรมาส 3 ปีนี้ ต้องดีกว่าไตรมาส 2 แต่ “ดีขึ้น” หมายความว่า กลับไปสู่ปกติก่อนโควิด-19 ที่คิดว่ายังทำได้ยาก

ถามง่ายๆ คิดว่าต้นปี 2564 จะมีการท่องเที่ยวระดับเดียว กับก่อนโควิด-19 หรือไม่หรือที่มีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนต่อปี คำตอบก็คือ ยังไม่สามารถกลับไปสู่จุดนั้นได้ แต่ถามว่า ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้ไหม คิดว่า ได้ และในขณะนี้เรื่องปากท้องสำคัญที่สุด แล้วสิ่งที่พูดกันมาตลอดคือ เอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ที่ผ่านมากลุ่มนี้ ก็เข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาของรัฐบาล

ดังนั้น ทีมเศรษฐกิจจะต้องปรับปรุงนโยบายมาตรการต่างๆ เพื่อทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงความช่วยเหลือได้ เพราะกลุ่มนี้สายป่านสั้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่หากินกับนักท่องเที่ยว เดือดร้อนหนัก ธุรกิจโรงแรมลงไปถึงร้านค้า ที่พึ่งพาลูกค้าจากต่างประเทศ จะต้องรีบช่วยเหลือ

เร่งอัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเข้าระบบ

“ผมยังเชื่อมั่นว่า จุดแข็งในอนาคตของประเทศไทย คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่หากเราปล่อยให้ล้มหายตายจากไปหมดในช่วงนี้ เมื่อประเทศไทยกลับสู่สถานการณ์ปกติ กลุ่มนี้จะฟื้นตัวได้ยาก จึงควรช่วยเหลือด้าน Soft Loan (สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) หรือภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพราะนี่คือ สิ่งที่รัฐบาลช่วยเหลือได้ตรงจุดมากกว่าการใช้เงินตามยุทธศาสตร์ปัจจุบัน และขอยกตัวอย่างในส่วนของเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีการปันส่วนมา 400,000 ล้านบาท เพื่อทำโครงการต่างๆ ที่เหมือนกับโครงการล้างท่องบประมาณ ซึ่งควรมีการปรับวิธีการใช้เงินดังกล่าว”

นายกรณ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้มองเรื่องการส่งออกมากนัก แต่ให้ความสำคัญมากกว่าคือ เกษตรกรได้อะไร ควรมุ่งไปที่ผลประโยชน์ของเกษตรกร/ชาวไร่/ชาวนาในฐานะผู้ผลิต ว่ามีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร มากกว่าที่จะไปดูว่าพ่อค้าขายแข่งกับพ่อค้าต่างประเทศ ประเด็นนี้มีหลายเรื่องที่ต้องลองทำ อาทิ การช่วยให้เกษตรกร เข้าถึงตลาดได้ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันไม่อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ต้องมีทุนหนาเท่านั้น ถึงจะทำมาหากินได้ ควรเป็นเมืองที่ประชาชนทุกคนมีโอกาสอยู่ร่วมกัน โดยต้องมีเป้าหมายว่า กรุงเทพฯต้องเป็นเมืองที่อยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี ถ้าเรามีเป้าหมายทุกอย่างจะตามมา แต่ถ้าคุณไม่ให้ความสำคัญแบบนี้ตั้งแต่ต้น ผลที่เกิดขึ้นก็จะออกมาแบบที่เห็น

ผ่อนคลายนโยบายปิดประเทศ

นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง สมัยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ กับคำถามที่ว่าหากได้ไปคุยกับพลเอกประยุทธ์ อยากจะบอกว่าอย่างไร นายทนง กล่าวว่า จะบอกพลเอกประยุทธ์ ว่า ขณะนี้ นโยบายปิดประเทศมันต้องผ่อนคลายแล้ว เพราะต้องยอมรับแม้ว่ามีคนติดโควิด-19ได้ไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าใดต่อวัน ประเทศไทยก็แก้ไขปัญหาได้ จึงต้องการให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับคืนมา เช่น ให้มีการเจรจากับต่างประเทศ เพื่อการเดินทาง เพื่อทุกอย่าง ที่ควรต้องเริ่มทำให้มันดี ซึ่งมองว่า รัฐบาลก็พยายามทำดีที่สุดแล้วกับการกักตัว 14 วันก็ออกมาทำงานได้ แต่มันอาจจะไม่ค่อยช่วย ในแง่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

กรณีที่เป็นห่วง ปัญหาเงินคงคลัง เพราะว่าคนไปให้ความหมายของมันผิด ความพอดีของเงินคงคลังควรมีเท่าไรก็อีกเรื่องหนึ่ง มีมากไปก็เป็นภาระ รัฐบาลไปกู้มาเก็บไว้ โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์เสียดอกเบี้ยเปล่าๆ สำหรับตนไม่ได้มีความหมาย สิ่งที่มีความหมายคือ รัฐบาลยอมขาดดุลงบประมาณเพียงใด และการขาดดุลจะเอาเงินที่ไหนมา การขาดดุลของงบประมาณรัฐบาล ส่วนใหญ่คือ ออกพันธบัตรกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ๆเอาเงินจากไหน ก็มาจากเงินฝากประชาชน เพราะเวลารัฐบาลออกพันธบัตรกู้ยืมเงิน ยอมทำให้งบประมาณติดลบ กู้ยืมเงินจากธนาคาร เงินก็ออกมาจากระบบธนาคาร พอออกจากระบบธนาคารเสร็จ เงินที่จะให้นักธุรกิจกู้ยืมลดลง ตรงนี้ต่างหาก ถ้านักธุรกิจต้องการกู้ยืมเงินแล้ว ไม่มีเงินให้กู้ แล้วรัฐบาลไปแย่งเอามาใช้ อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ