เปิดแผนการบินไทยยิงสลุตหารายได้ ขนตึกสำนักงานใหญ่ออกมาให้เช่าเริ่มต้นปีหน้า หลังเปิดภัตตาคาร ขายปาท่องโก๋ กระเป๋าจากวัสดุเหลือใช้ เตรียมขยับขายแฟรนไชส์ต่อ ควานสมบัติเก่าในสต๊อกมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทออกมาขายปั๊มเงิน ทั้งเหล้า ไวน์ ล้อยาง แกนล้อ ไปจนถึงผ้าหุ้มเบาะเครื่องบิน หลังประกาศขายเครื่องบินเก่าไปก่อนหน้านี้
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการหารายได้เพิ่มของการบินไทยในระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มกระบวนการฟื้นฟูตามแผนได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปีหน้า ว่า จนถึงขณะนี้การบินไทยยังไม่สามารถกลับมาทำการบินได้สมบูรณ์ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด จึงต้องปรับทิศทางกลยุทธ์ในการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาสร้างรายได้เพื่อเดินหน้าต่อไปได้ จากเดิมที่เคยมีรายได้กว่าปีละ 200,000-300,000 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 10,000 ล้านบาท แต่ในช่วงโควิดการบินไทยมีรายได้เหลือเดือนละ 500-600 ล้านบาท อย่างไร ก็ตาม ล่าสุดในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา รายได้ขยับขึ้นมาเป็นเดือนละ 1,000 ล้านบาทแล้ว จากธุรกิจคาร์โก้ ซึ่งเดิมขายเฉพาะใต้ท้องเครื่อง เปลี่ยนเป็นขายเพิ่มในพื้นที่นั่งผู้โดยสารแทน รวมถึงความพยายามในการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากด้านอื่นๆด้วย
“หน้าที่ของผมคือการพยายามพลิกฟื้นสถานการณ์ โดยได้ตั้งทีม Survival (ทีมผู้รอดชีวิต) ช่วยกันคิดหาทางเอาตัวรอดจากภาวะวิกฤติ เบื้องต้นมีการนำทรัพย์สินที่การบินไทยมีอยู่ในสต๊อกทั้งหมดมาสร้างรายได้ โดยล่าสุดจะนำอาคาร 3 สำนักงานใหญ่ ริมถนนวิภาวดีรังสิตทั้งตึกมาเปิดเป็นพื้นที่สำนักงานให้เช่า รวมทั้งตึกรักคุณเท่าฟ้า ริมถนนวิภาวดี, อาคารศูนย์ลูกเรือริมถนนโลคัลโรด ที่ขณะนี้ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ติดต่อขอเช่าพื้นที่แล้ว โดยจะเปิดเช่าพื้นที่ได้ในปี 2564”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้การบินไทยได้พยายามปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากครัวการบินไทย ที่นำอาหารมาขาย รวมถึงเปิดร้านภัตตาคารที่จำลองบรรยากาศการให้บริการบนเครื่องบิน ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก จนต้องขยายเวลาการให้บริการ จากเดิมทำรายได้กว่า 200,000-300,000 บาทต่อวัน มีแนวโน้มที่จะขึ้นไปถึง 400,000 บาทต่อวัน เนื่องจากเพิ่มการขายออนไลน์ตลอดจนการนำปาท่องโก๋ สังขยามันม่วงมาขายชุดละ 50 บาท ใน 7 สาขา ประกอบด้วย สาขาสีลม, ดอนเมือง, วิภาวดีรังสิต, ภูเก็ต, เชียงใหม่, หลานหลวง และล่าสุดที่ตึกเอ็นโก้ ปตท.สำนักงานใหญ่ ปัจจุบันมียอดผลิตอยู่ที่ 20,000 ตัวต่อวัน ยอดขายเดือนละ 10 ล้านบาท และมีเป้าหมายที่จะขยับยอดผลิตให้ได้ 40,000 ตัวต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ “เรากำลังทำในสิ่งที่ภาษิตไทยสอนเอาไว้ว่าอย่าหมิ่นเงินน้อย แต่ปรากฏว่ากำไรจากการขายปาท่องโก๋ 7 สาขาของการบินไทยนั้น เทียบเท่าการทำการบิน 1 เที่ยวบินเลยทีเดียว เพราะขายปาท่องโก๋มีมาร์จินกำไรที่สูงกว่ามาก จึงมีแผนที่จะขายแฟรนไชส์ปาท่องโก๋และร้านอาหารด้วย”
นอกจากนั้น การบินไทยยังริเริ่มนำวัสดุเหลือใช้ตั้งแต่ชูชีพ ผ้าใบแพยางที่หมดอายุการใช้งานแล้ว มาผลิตเป็นกระเป๋า Re-life Collection ปรากฏขายหมดเพียงพริบตา “จากการที่เราลงมาใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น พบว่าเรามีแฟนประจำของการบินไทยที่พร้อมสนับสนุนในยามที่เราประสบความยากลำบาก จากเดิมร้านไทยช้อป (ร้านขายของที่ระลึกของการบินไทย) มียอดขาย 100,000 บาทต่อวัน ปัจจุบันขยับขึ้นเป็นวันละ 200,000-300,000 บาท”
ส่วนการกำหนดจุดขายของการบินไทยในอุตสาหกรรมการบินโลกหลังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้น นายชาญศิลป์กล่าวว่า ทีมงานกำลังทำแผนกันอยู่ เบื้องต้นมองว่าการบินไทยจะแข่งในฐานะสายการบินระดับกลางถึงบน และต้องแข่งให้ได้อย่างแข็งแกร่ง กำหนดเส้นทางบินให้ชัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจทรัพย์สิน อุปกรณ์ อะไหล่ที่ค้างอยู่ในสต๊อกของการบินไทยพบว่ามีมูลค่ารวมราว 1,000 ล้านบาท ตั้งแต่ทิชชู จานชาม ช้อน แก้วแบบต่างๆ รวมทั้งเครื่องดื่มเหล้า ไวน์ จำนวนมากที่เหลือค้างเพราะหยุดบิน นอกจากนั้นยังมียางล้อเครื่องบินทั้งสภาพดี และใช้งานแล้ว รวมถึงแกนล้อเครื่องบินที่สามารถมาดัดแปลงเป็นเครื่องใช้ได้ มีผ้าหุ้มเบาะเก้าอี้ผู้โดยสารในเครื่องบินรุ่นเก่า 20 กว่าปีก่อน จำนวนมากที่ยังอยู่ในสภาพดี โดยก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ก่อน การบินไทยเพิ่งประกาศขายเครื่องบินเก่า-ปลดระวางทั้งสิ้น 34 ลำ.