กกร.เผยไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมในประเทศ ส่งผลให้ส่งออกดีขึ้น การใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ห่วงต้นปี 64 ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าอาจขาดแคลน ทำให้ กกร.ประมาณการส่งออกปีนี้ไว้ที่-10% ถึง-8% เหมือนเดิม ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะหดตัวในกรอบ-9.0% ถึง-7.0%
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ว่า กกร.ได้หารือถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) พบว่า ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ส่งผลให้การส่งออกดีขึ้น ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมในประเทศดีขึ้น และพบว่าการใช้จ่ายในประเทศดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ
“สิ่งที่ กกร.กังวลคือ ต้นปี 2564 อาจมีปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ต้นทุนค่าระวางเรือมีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้น กกร.จะนำคณะไปหารือกับกระทรวงคมนาคมภายในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อวางแผนรับมือในอนาคต” นายกลินท์กล่าวว่า กกร.ยังได้หารือประเด็นเวทีการค้าโลก เห็นว่าเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างมาก อาทิ เอฟทีเอไทย-อังกฤษ เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป และหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) โดย กกร.จะเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐที่มีกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่างๆ กับ กกร. เพื่อให้มีการเตรียมตัวครอบคลุม ในทุกภาคส่วน อยากให้มีการจัดตั้งโดยเร็วเพื่อไม่ให้ไทยเสียโอกาสในเวทีการค้าโลก
นอกจากนี้ กกร.จะได้ส่งข้อเสนอเพิ่มเติมไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของนักธุรกิจชาวต่างชาติ ประกอบด้วย 1.เสนอให้สามารถยื่นขอเปลี่ยนประเภทวีซ่าจาก Non-Immigrant O Visa เป็น Non-Immigrant B Visa ภายในประเทศไทยได้ เนื่องจากชาวต่างด้าวจำเป็นต้องเดินทางกลับไปยังประเทศต้นทางของตนเพื่อเปลี่ยนประเภทวีซ่าดังกล่าว 2.เสนอให้แรงงานต่างด้าวทักษะสูงสามารถอยู่ในประเทศไทยต่อได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุหรือถูกยกเลิกไป เพื่อหางานใหม่ 3.เสนอให้ยกเว้นการรายงานตัวทุก 90 วันแก่แรงงานต่างด้าวทักษะสูง โดยให้แจ้งเฉพาะกรณีที่มีการย้ายที่อยู่ถาวร
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การแพร่ระบาดระลอกสองของโควิด-19 ที่รุนแรงในหลายประเทศเป็นความเสี่ยงหลักในช่วงที่เหลือของปี 2563 ประเทศหลักในสหภาพยุโรป ประกาศล็อกดาวน์ในช่วงเดือน พ.ย.เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดแม้การล็อกดาวน์ครั้งนี้ จะเน้นจำกัดกิจกรรมของผู้บริโภค ไม่ได้ให้หยุดภาคการผลิต แต่คาดว่าจะทำให้การฟื้นตัวโดยรวมแผ่วลง เบื้องต้นคาดว่าจะกระทบต่ออัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 4 (ต.ค.-ธ.ค.) ประมาณ 0.37-0.5% เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อความต้องการสินค้าส่งออก
“สถานการณ์ดังกล่าว กกร.จึงคงประมาณการส่งออกปีนี้ไว้ที่ -10% ถึง -8% เหมือนเดิม ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะหดตัวในกรอบ-9.0% ถึง-7.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบ -1.5% ถึง-1.0%”
ขณะเดียวกัน กกร.อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาเอกชนได้เสนอไปยังภาครัฐให้ตั้งกองทุนเพื่อซื้อโรงแรมที่ยังมีศักยภาพตามความเหมาะสม และเมื่อกิจการดังกล่าวฟื้นตัวกลับมาประกอบกิจการได้ด้วยตนเองให้ผู้ประกอบการสามารถซื้อกิจการคืนได้ เสนอวงเงินกองทุนฯ ประมาณ 10,000 ล้านบาท ดังนั้น อยากให้รัฐบาลทบทวนและเข้าช่วยเหลือโดยด่วน โดยจะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ให้พิจารณาต่อไป.