11.11 จากวันคนโสด สู่จุดเริ่มต้นงานเซลล์ระดับโลก โดย Alibaba

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

11.11 จากวันคนโสด สู่จุดเริ่มต้นงานเซลล์ระดับโลก โดย Alibaba

Date Time: 5 พ.ย. 2563 07:39 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Latest


  • 11 เดือน 11 หรือ "วันคนโสด" ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
  • จากวันคนโสด สู่มหกรรมช็อปที่ยิ่งใหญ่ของโลก
  • Market Place เจ้าใหญ่ในไทย ไม่ปล่อยโอกาสหลุดมือ จัดโปรโมชั่นดึงลูกค้า กระตุ้นยอดขาย


“เป็นโสดทำไม อยู่ไปให้เศร้าเหงาทรวง” ...
ถ้าเป็นเมื่อก่อน อาจจะใช่ค่ะ
แต่เมื่อยุคสมัยมันเปลี่ยนไป จะเป็นคนโสดแล้วไง “ใครแคร์?”
เมื่อพูดถึง “วันคนโสด” หลายคนอาจจะสงสัยว่า ใครเป็นคนคิดกัน



ตำนานเล่าขาน ที่มา "วันคนโสด"

สำหรับ “วันคนโสด” นั้น มีจุดเริ่มต้นมาจาก เทศกาลคนโสดในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งบางตำนานก็ว่า เกิดจากนักศึกษาหนุ่ม 4 คน ที่ชวนกันมาฉลองความโสด โดยเลือกเอาวันที่ 11 เดือน 11 เพราะเลขหนึ่ง เปรียบเหมือนความโดดเดี่ยว

บ้างก็ว่า วันคนโสด มีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า กวงกุ่ยเจี๋ย คำว่า "กวงกุ่ย" หมายถึง การอยู่คนเดียว (โสด) และอีกความหมายคือ ไม้ท่อน ส่วนคำว่า "เจี๋ย" คือ วันเทศกาล โดยกำหนดให้วันที่ 11 เดือน 11 มาเป็นตัวแทน เนื่องจากตัวเลข 1 เหมือนท่อนไม้

แต่ทั้งหมดทั้งมวล การจัด วันคนโสด ขึ้น ก็เพื่อให้คนที่ยังไม่มีคู่ ได้ออกมาสังสรรค์ และพบปะเพื่อนใหม่ เผื่อว่าจะได้สานสัมพันธ์กันต่อนั่นเอง

จากวันคนโสด สู่เทศกาลช็อปปิ้ง

ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน วันคนโสดนี้ ก็ได้รับความนิยมจากคนทั่วไปเป็นอย่างมาก รวมถึง ร้านค้าในจีน ใช้โอกาสนี้จัดโปรโมชั่น ลดราคาสินค้า เพื่อให้คนโสดที่ยังไม่มีคู่ ได้ซื้อของให้ตัวเองเป็นการปลอบใจ ใครที่กำลังจะไปทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ก็จะได้เลือกซื้อของขวัญ ติดไม้ติดมือ ไปเพื่อสร้างความประทับใจแรก และอีกกลุ่มคือ คนที่หันมาสละโสดในวันที่ 11.11 ซะเลย เพื่อป่าวประกาศให้โลกรู้ว่า ไม่โสดแล้วนะจ๊ะ

แต่เทศกาลงานเซลล์วันคนโสด เริ่มเป็นกระแสอย่างจริงจัง และถูกพูดถึงไปทั่วไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศจีน เมื่อปี 2009 โดย Daniel Zhang ผู้บริหารของ Alibaba เว็บไซต์ช็อปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง ออกไอเดียจัดโปรโมชั่นช็อปปิ้งวันคนโสดขึ้น ซึ่งในตอนนั้น แม้จะมีผู้ค้าที่เห็นด้วยกับการจัดโปรโมชั่นเอาใจคนโสดนี้ แต่ผลปรากฏว่า สามารถสร้างยอดขายได้สูงกว่า 220 ล้านบาท ภายในวันเดียว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ค้ารายอื่นๆ เริ่มเห็นโอกาสจาก “วันคนโสด” และเข้าร่วมโปรโมชั่น ในปีอื่นๆถัดมา

จากนั้นในปี 2011 เรียกว่า เป็นปีที่ฉลองวันคนโสดที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกปี เพราะถ้าเขียนด้วยตัวเลข จะมีเลข 1 ถึง 6 ตัว คือ 11/11/11 ไม่เพียงแค่ภาคธุรกิจ แต่ภาครัฐของจีน ก็ให้ความสนใจ เพราะ "ความโสด" ก็ถือเป็นปัญหาระดับประเทศด้วย ซึ่งในปีเดียวกันนี้เอง เว็บไซต์ Alibaba ได้ทำยอดขายถล่มทลาย วันเดียวมากถึง $833 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.83 หมื่นล้านบาท



11.11 ยอดขายพุ่ง ไม่แพ้ Black Friday

หลังจากนั้น เทศกาล 11.11 เรียกว่าได้รับความนิยมจากฝั่งเอเชีย ไม่แพ้กับวัน Black Friday ของฝั่งยุโรปเลยทีเดียว เห็นได้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี อย่างปี 2019 Alibaba ก็ประกาศทุบสถิติยอดขายใหม่ ภายในเวลาไม่เกิน 2 นาที หลังจากลั่นระฆังเริ่มเทศกาล 11.11 มีรายได้แล้ว ราว 4.3 หมื่นล้านบาท

และเมื่อปี 2019 Alibaba ได้รายงานยอดขายออนไลน์รวม $38,400 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 1,164,672 ล้านบาท ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง



นักช็อปไทย เฝ้ารอโปรฯ ทุกเดือน


ขณะที่ประเทศไทยเอง Market Place เจ้าใหญ่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น Lazada, Shopee, JD Central, Central Online ฯลฯ หรือแม้กระทั่งแบรนด์ต่างๆ เอง ก็เลือกทำโปรโมชั่นเพิ่มยอดขาย โดยที่ไม่ได้เน้นว่า จะต้องทำในวันคนโสด หรือ 11.11 เท่านั้น ซึ่งในปี 2020 นี้ หากสังเกต จะพบว่า มีการจัดโปรโมชั่นมาตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม หรือ 1.1 จนถึงตอนนี้ เดือนพฤศจิกายน ก็ลงล็อก 11.11 พอดี ซึ่งโปรโมชั่น ก็จะมีตั้งแต่ลดราคา, คิดบริการค่าส่งฟรี, ของแถม 11 รายการ เป็นต้น

ในมุมของนักช็อปเอง หลายคนก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ถ้าของที่อยากได้มันไม่ได้ยั่วใจมาก จนต้องควักเงินซื้อตอนนี้ เดี๋ยวนี้ หลายคนก็มักจะกดสั่งสินค้ารอไว้ในตะกร้าก่อน แล้วก็รอให้ถึงวันที่จัดโปรโมชั่นในช่วงเดือนนั้นๆ ค่อยกดสั่งซื้อ แต่ก็ต้องแย่งชิงกับอีกหลายๆ คน ที่รอโปรโมชั่นเช่นกัน ซึ่งถ้าช้าไปเพียงเสี้ยววินาที ก็อาจจะทำให้พลาดของที่อยากได้ไปอย่างน่าเสียดาย

ทั้งนี้ เทศกาลช็อปเดือน 11.11 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงอาทิตย์หน้านี้ หากใครที่เล็งสินค้าชิ้นไหนไว้ อาจจะต้องใช้ความเร็วแย่งชิงสิทธิ์ในการซื้อสินค้ากันสักหน่อย แต่อย่าช็อปกันเพลิน จนวงเงินในบัตรเต็ม หรือเงินสดในมือมีไม่พอใช้จนถึงสิ้นเดือน เดี๋ยวจะหาว่าเจ๊ไม่เตือน

ผู้เขียน : เจ๊ดา วิภาวดี
กราฟิก : Supassara Traiyansuwan

เช็กราคาก่อนช้อป ทุกครั้ง คลิก >>> คลิกที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์