พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐ ประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ว่า เป็นการดำเนินการระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการความร่วมมือนี้ เนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการ แข่งขันของประเทศ และเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศ และภูมิภาค โดยเฉพาะหัวเมืองหลักตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะสามารถต่อยอดและพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การลงนามในสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากรในลักษณะความร่วมมือระหว่างรัฐ โดยมีขอบเขตงาน ได้แก่ งานวางระบบราง ระยะทาง 253 กิโลเมตร งานระบบรถไฟความเร็วสูง ระบบไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร งานจัดหาขบวนรถไฟ งานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และงานถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้สัญญา 2.3 มีวงเงิน 50,633.5 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในกรอบวงเงินรวมของโครงการ 179,412.21 ล้านบาท
ทั้งนี้ภายหลังลงนามสัญญา 2.3 แล้วจะเป็นการจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. กับรัฐวิสาหกิจจีน โดยขบวนการหลังจากนี้จะส่งหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน หรือ NTP (Notice to Proceed) และทยอยส่งมอบพื้นที่ พร้อมเร่งรัดให้ดำเนินงานก่อสร้างทั้งหมด 14 สัญญาที่ยังมีความล่าช้า หลังจากได้ข้อยุติถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการทั้งผลกระทบด้านสิ่ง แวดล้อมในการก่อสร้างเพื่อให้เส้นทางดังกล่าวพร้อมเปิดให้บริการตามเป้าหมาย ในปี 68
อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในอีก 2 สัปดาห์ให้มีการจัดตั้งสถาบันราง โดยบูรณาการกับกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่ฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยรองรับระบบขนส่งทางรางของไทยทั้งระบบ.