วิกฤติโควิด-19 คือ โอกาสเติบโตของภาคเกษตรไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

วิกฤติโควิด-19 คือ โอกาสเติบโตของภาคเกษตรไทย

Date Time: 6 พ.ย. 2563 00:03 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วิกฤติโควิด-19 อาจเป็นโอกาสเติบโตของภาคเกษตรไทย คือ การที่แรงงานรุ่นใหม่เดินทางกลับบ้าน จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญของรัฐบาล

Latest


ภาคเกษตรเคยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรับแรงงานส่วนเกินในเมืองใหญ่หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ.2540 แต่ยิ่งนานวันภาคเกษตรยิ่งด้อยความสำคัญ โดย ล่าสุดคิดเป็นสัดส่วนเพียง 8% ของ GDP ไทย เกษตรกรในปัจจุบันเกินกว่าครึ่งหนึ่งจึงต้องพึ่งพารายได้นอกภาคการเกษตรคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของรายได้ทั้งหมด โดยมีแนวโน้มอายุมากขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และยังมีหนี้หลักแสนแม้จะอายุแตะ 80 ปี

แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะไม่กระทบกับกระบวนการการผลิตของภาคเกษตรในส่วนต้นน้ำมากนัก แต่สิ่งที่ทำให้เกษตรกรเจ็บหนัก คือ การหยุดชะงักของอุตสาหกรรมกลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้สินค้าเกษตรไม่สามารถขนส่งไปถึงมือลูกค้า อีกทั้งครัวเรือนเกษตรกรไทย ยังไม่สามารถพึ่งพารายได้นอกภาคเกษตร เนื่องจากผลกระทบจากโรคระบาด หลายครอบครัวจึงเผชิญภาวะรายได้ลดลง และอาจมีความยุ่งยากในการหาเงินมาจ่ายหนี้

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วิกฤติโควิด-19 อาจเป็นโอกาสเติบโตของภาคเกษตรไทย คือ การที่แรงงานรุ่นใหม่เดินทางกลับบ้าน จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายจูงใจให้เกษตรกรรุ่นใหม่เดินหน้าทำการเกษตร ลดการกระจุกตัวของที่ดิน ขยายโครงข่ายแหล่งน้ำ รวมถึงหนุนเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางการเกษตร และพัฒนาทักษะทางธุรกิจและดิจิตอลให้เกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อให้รายได้จากภาคเกษตรจะกลับมามีบทบาทในฐานะ "รายได้หลัก" ของครัวเรือนอีกครั้ง

ทั้งนี้ ภาคเกษตรเคยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรับแรงงานส่วนเกินในเมืองใหญ่หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ.2540 การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เพราะแรงงานที่มาแสวงหารายได้ในเมืองใหญ่ต่างหันหน้ากลับบ้านเกิดหลังจากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ เปลี่ยนกรุงเทพฯ เมืองที่ไม่เคยหลับใหลให้กลายเป็นเมืองที่ร้างไร้ผู้คนในชั่วข้ามคืน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าภาคธุรกิจที่เจ็บหนักที่สุดจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ คือ ภาคโรงแรม การท่องเที่ยว และบริการ รวมถึงเหล่าธุรกิจที่ต้องบริโภคแบบแนบชิดสนิทเนื้ออย่างสถานบันเทิง ร้านอาหาร รวมถึงโรงภาพยนตร์ และงานคอนเสิร์ตต่างๆ อุตสาหกรรมเหล่านี้คือเครื่องยนต์ขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตวันโตคืน ในขณะที่ภาคเกษตรยิ่งนานวันยิ่งลดน้อยด้อยความสำคัญ โดยล่าสุดคิดเป็นสัดส่วนเพียง 8% ของจีดีพีไทย

หน้าตาครัวเรือนเกษตรกรปัจจุบันเกินกว่าครึ่งหนึ่ง จึงต้องพึ่งพารายได้นอกภาคการเกษตรคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าการเกษตรกลับกลายเป็นอาชีพเสริมของครอบครัว ดังนั้นการเกษตรในปัจจุบันจึงอาจไม่หลงเหลือศักยภาพในการดูดซับแรงงานส่วนเกินจากวิกฤติเฉกเช่นในอดีต

งานวิจัยภูมิทัศน์ภาคเกษตรไทย จะพลิกโฉมอย่างไรสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน? นำเสนอว่าต้นทุนในภาคการเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อกำไรที่ลดลงจนการปลูกสินค้าเกษตรหลายชนิดกลับยิ่งทำยิ่งจน อีกทั้งหนี้สินครัวเรือนยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่เกษตรกรอายุ 85 ปี ยังมีมูลหนี้เฉลี่ยสูงถึงหลักแสนบาท จึงไม่น่าแปลกใจที่แรงงานในภาคเกษตรมีแนวโน้มแก่ชราลง เพราะคนรุ่นใหม่ต่างหันหน้าไปหาอาชีพอื่น โดย พ.ศ.2561 เกษตรกรไทยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 46% โดยอายุเฉลี่ยของหัวหน้าครอบครัวในภาคการเกษตรสูงถึง 58 ปี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคเกษตรไทยอยู่ในช่วงขาลงอย่างเต็มขั้น แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า วิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้หลายอุตสาหกรรมทรุดหนัก อาจเป็นโอกาสสำคัญที่ภาคการเกษตรจะกลายเป็นกลจักรสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจ

โควิด-19 กับเกษตรกรไทย

แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะไม่กระทบกับกระบวนการการผลิตของภาคเกษตรในส่วนต้นน้ำมากนัก แต่สิ่งที่ทำให้เกษตรกรเจ็บหนักคือ วิกฤติดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมกลางน้ำ คือการขนส่งและการแปรรูปต้องหยุดชะงักไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าเกษตรบางชนิดมีแนวโน้มลดลง ซ้ำร้ายด้วยภัยแล้งตั้งแต่ปลายปีก่อน ผนวกกับโรคระบาดทั้งพืชและสัตว์ ผลลัพธ์คือจีดีพีภาคเกษตรครึ่งปีแรกของไทยลดลงถึง 5.2% 

การศึกษาพบว่า สมาชิกในครัวเรือนภาคการเกษตร 75% เผชิญภาวะว่างงาน หรือถูกลดเวลาทำงาน รายได้ที่เคยส่งกลับมาสู่บ้านเกิดต้องหยุดชะงัก เกิดเป็นแรงกระเทือนทางรายได้ (income shock) ที่ส่งผลให้เกษตรกรหลายครัวเรือนเผชิญภาวะเงินตึงมือ โดยพบว่าเกือบ 60% เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ โดยครัวเรือนที่มีฐานะยากจนจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐมากกว่า

อย่างไรก็ดี ภาคการเกษตรในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างมาก โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี มองว่าราคาสินค้าเกษตรจะปรับตัวสูงขึ้นราว 2.1 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากผลผลิตทั่วโลกที่ลดลง จากการคาดการณ์โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จีดีพีของภาคเกษตรจะกลับมาปิดที่ +1.2% สวนทางกับตัวเลขการส่งออก การผลิต และการท่องเที่ยว รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวม

การระบาดของโควิด-19 ยังอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อแรงงานวัยหนุ่มสาวที่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้บนอินเทอร์เน็ต และมีทักษะด้านดิจิตอล ต่างเดินทางกลับบ้านเกิดหลังจากเมืองใหญ่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตอีกต่อไป

ปลดล็อกศักยภาพภาคเกษตร

ปัจจัยแรกที่นับว่าเป็นจุดอ่อนของภาคเกษตรไทยในปัจจุบันคือ แรงงานที่มีแนวโน้มสูงอายุขึ้น ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อการปรับใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตและการจัดจำหน่าย การระบาดของโควิด-19 เปิดโอกาสให้เกษตรกรรุ่นใหม่เดินทางกลับบ้าน อีกทั้งหลายอุตสาหกรรมนอกภาคเกษตรยังประสบปัญหาหนัก จึงนับเป็นโอกาสที่รายได้จากภาคเกษตรจะกลับมามีบทบาทในฐานะ "รายได้หลัก" ของครัวเรือนอีกครั้ง

ปัจจัยที่สองคือ ปัญหาคาราคาซังของภาคเกษตรไทยนับตั้งแต่อดีตนั่นคือ การกระจายตัวของที่ดินและการเข้าถึงแหล่งน้ำ เกษตรกรไทยกว่า 50% จัดอยู่ในประเภทเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ โดยเกษตรกรกว่า 40% ทำหาเลี้ยงชีพบนที่ดินเช่า ซ้ำร้ายคือที่ดินกว่า 58% ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบชลประทานได้


การนำเสนอใน Thailand Sustainable Water Management Forum 2016 ระบุว่า ประเทศไทยต้องใช้น้ำราว 1 แสนลูกบาศก์เมตรในแต่ละปี ขณะที่ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 7.5 แสนล้านลูกบาศก์เมตร แต่เรากลับกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้เพียง 5.7% เท่านั้น นี่คือโจทย์สำคัญที่ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการอุดหนุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพราะหากขาดแหล่งน้ำการเกษตรจะไม่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี หากยังไม่แก้โจทย์นี้ ภายหลังวิกฤติโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย สุดท้ายแรงงานรุ่นใหม่ก็ต้องหันหน้าไปหางานในเมืองอยู่ดี

ปัจจัยสุดท้าย คือ นวัตกรรม ในวันที่ข้อมูลสารสนเทศราคาถูก เราสามารถเข้าถึงเทคนิควิธีใหม่ๆ ในการเพิ่มผลผลิตภาคการเกษตรจากผู้เชี่ยวชาญผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งในรูปแบบบทความและวิดีโอ ใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อคาดการณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลที่อาจส่งผลต่อผลผลิตไปจนถึงระบบรายรับรายจ่ายผ่านแพลตฟอร์มแบบครบวงจร

เช่น Farmbook.co นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งแพลตฟอร์มเรียกรถเกี่ยวข้าวอย่าง Getz Trac รวมถึงระบบ Internet of Things ซึ่งประกอบด้วยเซนเซอร์ตรวจจับพารามิเตอร์สำคัญ เช่น ความชื้น หรือแสงสว่าง เพื่อนำมาใช้ประมวลผลและเพิ่มผลผลิตให้มากที่สุด

นอกจากภาคการผลิตแล้ว ช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรทุกคนสามารถผันตัวเป็นผู้ประกอบการ สร้างแบรนด์ และจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทางตรงแบบไม่ต้องผ่านตัวกลาง โดยใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งภาคเอกชนที่พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันสูงจนต้นทุนต่ำกว่าในอดีตอย่างมาก

แต่ทั้ง 3 ปัจจัยก็ยังต้องอาศัยแรงผลักจากภาครัฐที่สามารถออกแบบนโยบายเพื่อจูงใจให้เกษตรกรรุ่นใหม่เดินหน้าทำการเกษตร ลดการกระจุกตัวของที่ดิน ขยายโครงข่ายแหล่งน้ำผ่านระบบชลประทาน หรือโครงการขุดบ่อน้ำสำหรับการเกษตร รวมถึงหนุนเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางการเกษตร รวมถึงการนำไปใช้จริงเชิงพาณิชย์ และที่ขาดไม่ได้คือพัฒนาทักษะทางธุรกิจและดิจิตอลให้เกษตรกรรุ่นใหม่

ทั้งนี้ ถึงเวลาที่รัฐต้องก้าวข้ามนโยบายที่เน้นช่วยเหลือระยะสั้นอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นการพักหนี้ ประกันราคา หรือเงินชดเชยเมื่อประสบภัยพิบัติ เพราะนโยบายเหล่านี้สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรไม่ปรับตัว

อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรแบกรับความเสี่ยงที่สูงเกินควร เช่น การปลูกพืชเพียงชนิดเดียวแทนที่จะปลูกหลายชนิดเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยรัฐต้องปรับเปลี่ยนสู่การช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขให้เกษตรกรปรับตัวยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการลงทุนในบุคลากรและนวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาว.

@@@@@@@@@

ร่วมติดตามงานเสวนาเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ในงาน "Sharing Our Common Future : ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน" ในวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2563 เวลา 18:30-21:00 น.
ผ่าน Live ทุกช่องทางของไทยรัฐ ได้แก่

Facebook: Thairath - ไทยรัฐออนไลน์
Facebook: ThairathTV
YouTube: Thairath

ติดตามรายละเอียดได้ที่
https://www.thairath.co.th/news/business/1970951


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์