ทอท.เผยสถานะการเงินล่าสุด มีเงินสดเหลือแค่ 4.1 หมื่นล้านบาท คาดใช้ได้ถึงเดือน มิ.ย.64 ถ้ามีวัคซีนต้านโควิด–19 ออกมาภายในกลางปี 64 ถ้าออกมาไม่ทัน เล็งกู้เงินระยะสั้นบริหารรายจ่าย ส่วนรายได้จากการเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออก อยู่ที่ 240–270 ล้านบาท/เดือนเท่านั้น
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงแผนดำเนินงานว่า ปัจจุบัน ทอท.ยังดำเนินการได้ตามแผน โดยในช่วงปีงบประมาณ 63 ทอท. มีรายได้เพียง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ แต่สามารถครอบคลุมรายจ่ายได้ตลอด 8 เดือนที่เหลือ ที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นประเมินว่าการแพร่ระบาดยังไม่คลี่คลายจนถึงช่วงตรุษจีนปี 64
“ปัจจุบัน ทอท.มีกระแสเงินสดประมาณ 41,000 ล้านบาท ซึ่งตามประมาณการ หากวัคซีนรักษาโควิด-19 ออกมาได้ในช่วงกลางปี 64 จำนวนเงินดังกล่าวจะยังสามารถบริหารจัดการจนได้ถึงเดือน มิ.ย.64 หาก เกินกว่านั้น ทอท.อาจจะต้องกู้เงินระยะสั้น เพื่อมาช่วยในการบริหารจัดการ โดยจะต้องคำนวณว่า จะต้องกู้จำนวนเท่าไหร่”
สำหรับแผนการดำเนินการในปี 64 นั้น ทอท.มีแผนลงทุน รวมวงเงิน 13,000-14,000 ล้านบาท ส่วนการเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออก ปัจจุบันอยู่ที่ 8-9 ล้านบาทต่อวัน หรือ 240-270 ล้านบาทต่อเดือน จากจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศรวม 80,000-90,000 คนต่อวัน หรือมีรายได้เฉลี่ย 100 บาทต่อคน ส่วนการเตรียมพร้อมสำหรับการลงพื้นที่ตรวจความก้าวหน้างานโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และห้องปฏิบัติการคัดกรองตรวจเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 21 ต.ค.63 ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมนั้น นายนิตินัยกล่าวว่า จะมีการตรวจห้องปฏิบัติการคัดกรองตรวจเชื้อโควิด-19 ความก้าวหน้าของการดำเนินการการก่อสร้าง อาคารเทียบ เครื่องบินรองหลังที่ 1 รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต่างๆ
“วันนี้ (19 ต.ค.) รายงานให้ รมว.คมนาคมทราบถึงการเตรียมความ พร้อมการลงพื้นที่ตรวจสอบสนามบินสุวรรณภูมิวันที่ 21 ต.ค.นี้ ซึ่ง รมว.คมนาคมสั่งการให้เร่งรัด ซ่อมแซม หรือก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) และทางขับเครื่องบิน (แท็กซี่เวย์) ในช่วงที่มีปริมาณเที่ยวบิน น้อย พร้อมทั้งให้บริหารจัดการตารางการบินให้ชัดเจน ซึ่งผมรายงานว่า การซ่อมแซมยังทำได้ตามแผน และมีแนวโน้มจะเร็วขึ้น ในส่วนของการประกาศตารางการบินล่วงหน้า สำนักงานการบินพลเรือน แห่งประเทศไทย (กพท.) รับเป็นเจ้าภาพดำเนินการ”
สำหรับการซ่อมแซมใหญ่สนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยการเปลี่ยนตัวแอสฟัลต์เป็นคอนกรีต เนื่องจากมีรอยร่องล้อนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างประกวดราคา ซึ่งตามแผนจะเริ่มปีงบ 64 แบ่งดำเนินการ 2 ระยะ โดยระยะแรกอนุมัติการประมูลไปแล้ว และหากจัดการเกี่ยวกับตารางการบินได้ คาดจะใช้เวลาเพียง 2 ปีครึ่ง จากแผนเดิม 3-4 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดือน ก.ย.63 วิทยุการบินได้ให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ 31,323 เที่ยวบิน ลดลง 61.7% จากเดือน ก.ย.62 ที่มี 50,555 เที่ยวบิน แต่เพิ่ม 3.2% หรือ 963 เที่ยวบินเทียบกับเดือน ส.ค.63 โดยสนามบินที่มีเที่ยวบินมากที่สุด คือ เชียงใหม่ และไทยยังคงมีเที่ยวบินมากเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย สำหรับทั้ง 31,323 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 4,171 เที่ยวบิน, เที่ยวบินในประเทศ 16,229 เที่ยวบิน, เที่ยวบินผ่านน่านฟ้า 2,237 เที่ยวบิน และเที่ยวบินสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจทางทหารและราชการ 8,686 เที่ยวบิน.