14,000 เศรษฐีไทย เตรียมส่งต่อความมั่งคั่งรุ่นสู่รุ่น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

14,000 เศรษฐีไทย เตรียมส่งต่อความมั่งคั่งรุ่นสู่รุ่น

Date Time: 20 ต.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผมเพิ่งอ่าน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนตุลาคม มีสกู๊ปพิเศษน่าสนใจ “Private Banking รุ่ง รับครอบครัวเศรษฐีไทย เตรียมส่งต่อมรดกรุ่นสู่รุ่น”

Latest

เจ้าหนี้การบินไทยขอเลื่อนโหวตแผนฟื้นฟู

โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผมเพิ่งอ่าน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนตุลาคม มีสกู๊ปพิเศษน่าสนใจ “Private Banking รุ่ง รับครอบครัวเศรษฐีไทย เตรียมส่งต่อมรดกรุ่นสู่รุ่น” เป็นการเปลี่ยนผ่านความมั่งคั่งจากยุค Baby Boomers ไปสู่ เจเนอเรชันใหม่ ที่เป็น Digital Natives หรือคนเจนวายเจนแซดในปัจจุบัน ข้อมูลจาก World Wealth Report ระบุว่า ความมั่งคั่งของบุคคลที่มีความมั่งคั่งตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป ทั่วโลกมีกว่า 74 ล้านล้านดอลลาร์ กว่า 2,330 ล้านล้านบาท

นี่คือการเปลี่ยนผ่านความมั่งคั่งในโลกปัจจุบันที่จะทำให้อนาคตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

คุณลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ไทยพาณิชย์ จูเลียสแบร์ ให้สัมภาษณ์ใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับตุลาคม ประมาณการว่า กลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยมีราว 14,000 ครอบครัว มีมูลค่าทรัพย์สินที่ถือครองประมาณ 10 ล้าน ล้านบาท และสิ่งที่มาพร้อมกับเทรนด์ใหม่ก็คือ คนให้คุณค่ากับการใช้ชีวิตมากกว่าการทำงานหนักแบบคนรุ่นก่อน

เรื่องหนึ่งที่กลุ่มคนมั่งคั่งสูงของไทยตื่นตัวอย่างเห็นได้ชัดก็คือ การจัดการทรัพย์สินกับภาษีมรดก ส่งผลให้เกิดความสนใจในการวางแผน Family Wealth Planning รวมทั้งการริเริ่มให้มี “ธรรมนูญครอบครัว” เพื่อความคงอยู่ของตระกูลและธุรกิจอย่างยั่งยืน

การวางแผนความมั่งคั่งในครอบครัว เป็นเรื่องที่ ครอบครัวเศรษฐีต่างประเทศให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ มากกว่าผลตอบแทนเสียอีก เพราะการแบ่งเท่ากันอาจจะไม่เท่ากันก็ได้ อาจมีปัจจัยอื่นอีกมาก Family Wealth Planning จึงสำคัญมาก สมัยก่อนครอบครัวกลุ่มนี้จะมี “ระบบกงสี” ผูกรวมกันไว้ แต่การผูกกันอาจไม่ได้ทำให้ครอบครัวอยู่ได้ระยะ ยาว ปัจจุบันจึงมีการหาวิธีจัดการที่เหมาะสม ทรัพย์สินบางอย่างควรผูกพันกันไว้ ทรัพย์สินบางอย่างต้องแยก เป็นเรื่องใหม่ที่แต่ละครอบครัวจะต้องคุยกัน และเป็นหน้าที่ของ Private Banker ในการช่วยวางแผนส่งต่อความมั่งคั่งในครอบครัว ซึ่งต้องอาศัยมืออาชีพในการให้คำปรึกษาและใช้เวลา

คุณลลิตภัทร บอกว่า ไทยพาณิชย์ จูเลียสแบร์ มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญเรื่องการวางแผนความมั่งคั่งให้ครอบครัวอยู่ที่สิงคโปร์ และยังมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศในหลายด้าน เพื่อช่วยจัดโครงสร้างธุรกิจให้เป็นระบบก่อนจะขยายไปด้านอื่น

สิบกว่าปีที่แล้ว ผมได้ริเริ่มจัดทำ หลักสูตร Family Business ร่วมกับ สถาบันศศินทร์ จุฬาฯ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย มีตระกูลดังและธนาคารส่งลูกค้ามาเรียนกันมากมายกว่า 300 ตระกูล แล้วธนาคารก็นำไปเปิดเป็นหลักสูตรเองให้กับลูกค้า จนกระทั่ง Babson College มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของสหรัฐฯในเรื่อง Entrepreneur ผู้ประกอบการและธุรกิจครอบครัว ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดหลักสูตรนี้ขึ้นในมหาวิทยาลัยและชวนผมนำหลักสูตรนี้ไปร่วม ก็เอามาเล่าสู่กันฟังประกอบเรื่องครับ

คุณณฤทธิ์ โกสาลาทิพย์ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษา การลงทุนส่วนบุคคล บล.เกียรตินาคินภัทร ก็ให้สัมภาษณ์ใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับนี้ว่า จำนวนคนไทยที่เข้าข่ายกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูงเพิ่มขึ้นปีละ 9-10% สินทรัพย์ที่คนกลุ่มนี้ถืออยู่ก็เติบโตปีละ 9% เช่นเดียวกัน เศรษฐีเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการ แยกออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำกิจการมีความมั่งคั่งในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา กับ กลุ่มเศรษฐีดั้งเดิมที่มีกิจการยาวนานนับ 60 ปี มักเป็นธุรกิจครอบครัวและกิจการที่มีขนาดใหญ่

การส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย ใครดูละครเรื่อง “เลือดข้นคนจาง” คงได้ข้อคิดว่า ควรจะบริหารจัดการความมั่งคั่งใน ครอบครัว ก่อนที่จะเกิดความบาดหมางเหมือนในละคร การมี “ธรรมนูญครอบครัว” ที่ดี จะช่วยให้การส่งต่อความมั่งคั่งเป็นไปด้วยดีและยั่งยืน เช่นเดียวกับ “รัฐธรรมนูญ” ระดับประเทศก็เหมือนกัน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ