ไม่เปิดประเทศเศรษฐกิจไม่ฟื้น "ไพรินทร์" เตือน "อย่าติดกับดัก ความสำเร็จ"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไม่เปิดประเทศเศรษฐกิจไม่ฟื้น "ไพรินทร์" เตือน "อย่าติดกับดัก ความสำเร็จ"

Date Time: 12 ต.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • เป็นที่ถกเถียงกันมากว่าประเทศไทยจะอยู่ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกได้อย่างไร ท่ามกลางการติดเชื้อของคนภายในประเทศเป็นศูนย์ แต่เศรษฐกิจไทยดำดิ่งลงลึก

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

เป็นที่ถกเถียงกันมากว่าประเทศไทยจะอยู่ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกได้อย่างไร ท่ามกลางการติดเชื้อของคนภายในประเทศเป็นศูนย์ แต่เศรษฐกิจไทยดำดิ่งลงลึก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติเป็นสำคัญ

มีการนำเสนอรูปแบบการเปิดประเทศมาหลากหลายครั้ง แต่ก็ถูกสกัดด้วยความรู้สึกของคนไทยยังไม่ยอมรับ

ทีมเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์ “ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว ที่อยู่ภายใต้ “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19” หรือ “ศบศ.”

มาฟังเหตุผล มุมมองของเขา บนหลักการและเหตุผล ว่าทำไมประเทศไทยจึงต้องเปิดประเทศ และการตอบโจทย์ถึงวิธีการที่จะพยุงเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ คนไทยต้องร่วมใจทำสิ่งใดต่อไปอีกบ้าง...

ชนะการรบ แต่แพ้สงคราม

แนวคิดของ ศบศ.เป็นการทำงานที่ล้อกับแนวคิดของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่ประสบความสำเร็จเรื่องการยับยั้งการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อไป คือ เมื่อเราสำเร็จในเรื่องการหยุดยั้งการระบาดของโควิดได้

แต่การล็อกดาวน์และปิดประเทศในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก เศรษฐกิจไทยลงลึกมากไตรมาสที่ 2 หดตัวไปถึง 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนเศรษฐกิจทั้งปีนี้คาดว่าจะติดลบมากถึง 8-10% เท่ากับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศหายไปถึง 1.5 - 1.7 ล้านล้านบาท เท่ากับความมั่งคั่งของประเทศถอยหลังไปนับสิบปี

“ปัญหาทางเศรษฐกิจในขณะนี้ถือว่าหนักมาก ที่สำคัญผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในขณะนี้คนข้างบนยังไม่รู้สึก หมายถึงคนที่มีเงินเดือนประจำเท่าเดิม คนที่เป็นข้าราชการยังไม่รู้สึก เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น เกิดจากคนที่อยู่ข้างล่างก่อน มีการเลิกจ้าง การปลดคนงาน การปิดกิจการ จากครั้งที่มีการล็อกดาวน์ คนได้รับผลกระทบตกงานจำนวนมาก เหมือนตึกค่อยๆพังจากฐาน คนข้างบนจะรู้สึกได้ ก็ต่อเมื่อตึกมันถล่มไปแล้ว แล้วปัญหาเศรษฐกิจที่จะตามมาจะกลายเป็นปัญหาสังคมและการเมือง เด็กที่จบการศึกษามาในช่วงนี้จะหางานทำยากที่สุด ก็จะเป็นพวกต่อต้านรัฐบาลเพราะเขาก็มองว่ารัฐบาลทำให้เขาตกงาน ซึ่งจะเป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องเร่งแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้”

คือ เราชนะการรบ แต่แพ้สงครามไม่ได้ เราชนะศึกในการคุมโควิดได้ แต่ในภาพรวมเราจะแพ้ เพราะเราแลกด้วยเศรษฐกิจที่ดิ่งลึก

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ควบคุมไม่ให้การติดเชื้อโควิดพุ่งเยอะ จากที่ไทยเคยมีผู้ติดเชื้อวันละเป็นร้อยคน ทำได้ดีมากจนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ เลยคิดว่ามีผู้ติดเชื้อไม่ได้ ผมกลัวว่าเรากำลังติดกับดักความสำเร็จของตัวเอง คือเราคิดว่า

เราต้องไม่มีผู้ติดเชื้อเลยสักคนเดียว โดยการปิดประเทศ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจตกลงลึกมาก

“เราต้องชนะทั้งคู่ และต้องไม่เป็นเหยื่อความสำเร็จของตัวเอง”

ปิดประเทศ เศรษฐกิจไม่ฟื้น

ดร.ไพรินทร์ กล่าวว่า ศบศ.กำลังประเมินเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะติดลบประมาณ 8% จะเห็นว่าแม้ที่ผ่านมามีการออกมาตรการไปมาก และคลายล็อกดาวน์ไป 6 ครั้ง แต่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวได้มากนัก

“สิ่งที่กดดันเศรษฐกิจมากที่สุดคือ การปิดประเทศไม่ให้ชาวต่างชาติทั้งนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ หากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ เศรษฐกิจจะกลับขึ้นมาไม่ได้ เพราะรายได้ท่องเที่ยวจากต่างประเทศในปีก่อนเท่ากับ 2 ล้านล้านบาท ได้หายไปตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ยาก”

สิ่งที่ต้องพิจารณาเร่งด่วนคือ มาตรการด้านการผ่อนคลายให้ต่างชาติเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะแรงงานที่ตกงานจากภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีจำนวนมากเป็นแสนคน เราจำเป็นต้องค่อยๆเปิดประเทศ โดยใช้แง่คิดหลักของทางสายกลาง

เพราะเศรษฐกิจของเราพึ่งพาเรื่องการท่องเที่ยวอยู่มาก ซึ่ง ศบศ.กำลังทำงานร่วมกับ ศบค. ที่จะดูเรื่องการผ่อนปรนเปิดประเทศรับชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศมากขึ้น ต้องมีจำนวนที่มากกว่า
ที่ผ่อนปรนในปัจจุบันและทำให้รวดเร็วให้ทันต่อช่วงไฮซีซัน ตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้ เพราะถ้าให้เลื่อนออกไปอีก 3-4 เดือนก็จะเป็นโลว์ซีซันก็อาจจะสายไป

อีกทั้งการปิดประเทศแบบปิดล็อกไม่ให้ต่างชาติและเที่ยวบินต่างชาติเข้าประเทศนานเกินไป จะส่งผลกระทบต่อสถานะของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เรามีความได้เปรียบในด้านนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

เพราะในขณะที่เราปิดประเทศ คู่แข่งอย่างสิงคโปร์และเวียดนาม เปิดสนามบิน เที่ยวบินจากต่างประเทศที่ต้องวางแผนเส้นทางการบินก็จะไปใช้สนามบินอื่นๆแทน ความเป็นศูนย์กลางการบินของไทยจะหายไป เหมือนที่สนามบินนาริตะของญี่ปุ่นได้เสียศูนย์กลางการบินให้กับสนามบินอินชอนของเกาหลีใต้มาแล้ว

นอกจากนี้ ต้องทบทวนแนวการปฏิบัติสำหรับคนที่มาจากต่างประเทศที่มีมาตรการซ้ำซ้อน เช่น กำหนดให้ตรวจโควิดจากประเทศต้นทาง และตรวจซ้ำเมื่อมาถึงไทย และต้องกักตัวอีก 14 วัน ระหว่างนั้นก็ตรวจอีก จริงๆ ถ้าไม่มั่นใจจะให้มีตรวจก่อนเดินทางทำไม ให้มาตรวจในไทยเลย และการกำหนด 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางทำให้เดินทางวันจันทร์ไม่ได้อีก เพราะติดวันเสาร์-อาทิตย์

เอาคนไข้ ขึ้นรถกู้ชีพ

ดร.ไพรินทร์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเรายืนอยู่ที่ไตรมาสที่ 4 ซึ่งกำลังรอผลของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ซึ่งหากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ไม่ได้ลบ 8% แต่ติดลบมากกว่านั้น และเศรษฐกิจไตรมาส 4 ไม่ได้ดีขึ้นหรือเห็นสัญญาณในการฟื้นตัวได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2564 คือเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวแบบตัว V หรือ V หางยาว แต่หากเป็นการฟื้นตัวแบบตัว L หางยาว

หรือหากเศรษฐกิจดิ่งลงไปอีก งบประมาณปี 2564 ก็ช่วยประคองไม่ได้ เปรียบเหมือนคนไข้ที่หัวใจหยุดเต้น มาตรการต่างๆที่ออกมาตอนนี้จึงเหมือนกับการช็อกหัวใจเพื่อให้หัวใจยังเต้นอยู่

ถือเป็นภารกิจสั้นๆที่เป็นหน้าที่ของ ศบศ.ต้องประคองไปให้ได้เมื่อเศรษฐกิจติดลบน้อยลง ถ้าเริ่มเห็นการฟื้นตัว ศบศ.ก็ยกเลิกกลับไปสู่มาตรการให้ระบบราชการทำงานแบบปกติ

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ คือ เมื่อเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ติดลบถึง 12.2% เศรษฐกิจลงลึกไปมากที่สุดครั้งนึงในประวัติศาสตร์ของประเทศ เหมือนกับคนที่ถูกรถชน ภารกิจของ ศบศ.จึงเหมือนกับรถกู้ชีพที่ต้องนำคนไข้ไปส่งให้ถึงโรงพยาบาล ช่วยประคับประคองผ่านไตรมาสที่ 4 ไปจนถึงปี 2564 ให้ได้ โดยไม่ให้คนไข้ตาย ต้องช่วยให้หัวใจยังเต้นอยู่ เพราะเมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้วคนไข้ตายไม่มีประโยชน์”

การทำงานของ ศบศ.ออกแบบให้มีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะปานกลางถึงยาว โดยมีคณะอนุกรรมการที่ศึกษามาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆเสนอขึ้นไปยัง ศบศ.ชุดใหญ่ และ ศบศ.นำเรื่องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)
จากนั้นโครงการต่างๆจะกลับลงมาที่คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ที่ผมเป็นประธาน ก็จะไล่ตามงานไปทุกๆเรื่องว่าโครงการใดมีปัญหาอุปสรรคอย่างไร จะให้ช่วยแก้ไขหรือประสานอย่างไร

กระตุ้นเอกชน รัฐวิสาหกิจ

ส่วนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป ที่ต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว ขึ้นมาดู ในเรื่องนี้ เพราะหลังจากเกิดโควิดขึ้นสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเดียวที่ติดอยู่คือการลงทุนภาครัฐ ขณะที่เอกชน รัฐวิสาหกิจ ทุกบริษัทหยุดรับคนเข้าทำงาน หยุดลงทุน จะยิ่งเป็นปัญหาทั้งประเทศ สิ่งที่ทำคือ การกระตุ้นเอกชนและรัฐวิสาหกิจให้กลับมาลงทุนและใช้จ่าย โดยการผลักดันการลงทุน ขอให้รัฐวิสาหกิจกลับไปลงทุนเหมือนเดิม

พร้อมกันนี้ ทางรัฐบาลได้คัดเลือกโครงการที่เป็นเมกะโปรเจกต์ที่ต้องการให้เดินหน้าต่อเพื่อส่งสัญญาณว่าการลงทุนของรัฐไม่หยุด โดยเฉพาะโครงการที่จะก่อให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) เพื่อกระตุ้นให้เอกชนและรัฐวิสาหกิจลงทุน เพื่อให้เป็นอีกเครื่องยนต์ที่เดินหน้าคู่กันไปจนกว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวจะกลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติ

“การติดเครื่องยนต์เศรษฐกิจต้องค่อยๆติดทีละเครื่อง ทำให้องคาพยพค่อยๆขับเคลื่อน มาตรการต่างๆค่อยออกมา ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง เราหวังว่าตึกจะไม่พังทลายลงมา และที่สุดจะค่อยๆทรงตัวได้ ที่สำคัญคือข้างล่างซึ่งเป็นฐานของเศรษฐกิจต้องสามารถอยู่ได้”

ซึ่งการกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ศบศ.ได้เห็นชอบ กว่า 20 โครงการ โดยเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเส้นทางรถไฟ ระบบขนส่งมวลชน โครงการทางพิเศษ โครงการพัฒนาท่าเรือ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายอีสาน ที่เราต้องไปจ่อที่ จ.หนองคายให้ได้ เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ต้องไม่ลืมว่าคนอีสานใช้รถไฟมากที่สุด เส้นใดที่เป็นสายยุทธศาสตร์เราต้องรีบทำ

วางรากฐาน ลงทุนระยะยาว

ส่วนที่พูดกันมากคือ คลองไทย ที่ตัดจากอ่าวไทยกับอันดามัน ต้องเข้าใจว่าเป็นคลองไม่ได้ด้วยเหตุที่น้ำทะเลทางฝั่งอันดามันสูงกว่าฝั่งอ่าวไทย ถ้าเปิดน้ำจะท่วมจนแผ่นดินหายหมด และขุดลึกมากไม่ได้เพราะต้องมีประตูน้ำ พอมีเรือเข้ามาต้องปิดประตูน้ำเพื่อถ่ายระดับน้ำ ต้องให้เรือผ่านได้ทีละลำ ลองคิดดูว่าวันหนึ่งจะผ่านไปได้กี่ลำ และทำคลองกว้างไม่ได้ด้วย จะเอาดินไปไว้ไหนเพราะหลายกิโลเมตร

ฉะนั้นโครงการนี้ทำจริงๆยาก ขณะที่เรือที่วิ่งอยู่ปัจจุบันอ้อมไปมาเลเซีย 2 วันก็ผ่านแล้ว คงไม่มีเรือมารอเข้าทีละลำ เรื่องคลองไทยจึงลืมไปได้เลย

ส่วนแลนด์บริดจ์ หรือสะพานเศรษฐกิจ ให้เรือมาเทียบท่าทางฝั่งหนึ่งและขนถ่ายสินค้าไปอีกฝั่งต้องยกของขึ้นและยกของลง กลายเป็นอีกโครงการที่พูดได้ ซึ่งสมัยรัฐบาลทักษิณ เราเคยมีถนนเส้นหนึ่งใหญ่โตสวยงามแล้วตอนนี้เขาเรียกกันว่าถนนควายเดิน ไม่มีใครใช้

แต่จริงๆมีแลนด์บริดจ์อีกเส้น ที่ผมเสนอสมัยเป็น รมช.คมนาคม

ตอนนี้เรามีรถไฟทางคู่ลงไปถึง จ.ชุมพร จึงเสนอทำรถไฟทางคู่ต่อไปถึง จ.ระนอง ตามแนวทางเส้นทางรถไฟของญี่ปุ่น 90 กิโลเมตร ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ระยะทาง 90 กิโลเมตร จาก จ.ชุมพร ถึงคลองละอุ่น จ.ระนอง จะเป็นทางรถไฟเส้นแรกเข้าสู่ทะเลฝั่งอันดามัน ซึ่งที่ จ.ระนอง ก็มีท่าเรือที่สามารถขยายและไปสู่กลุ่มบิมสเทคได้

ประเทศไทยจะมีท่าเรือฝั่งอันดามันในรอบร้อยกว่าปี จากที่ซึ่งเราเคยมีเมืองท่ามะริด ทวาย ตะนาวศรี แต่เสียให้อังกฤษไปตอน ร.3-ร.4 หลายคนก็เรียกโครงการนี้ที่เสนอไว้ในระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ว่าแลนด์บริดจ์ ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ออกสู่อันดามันได้ เป็นโครงการง่ายๆ ใช้งบลงทุนไม่เยอะตอนนี้ได้งบออกแบบแล้ว อีก 3-4 ปี ก็เสร็จ

นอกจากนี้ เราเสนอโครงการสะพานไทย มูลค่าลงทุน 990,000 ล้านบาท ระยะทาง 100 กิโลเมตร ร่นระยะทางจากการวิ่งอ้อมอ่าวตัว ก. ระยะทาง 400 กิโลเมตร โดยสร้างสะพานออกจาก จ.ชลบุรี ลอดอุโมงค์ใต้ทะเล 20-30 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม และไปขึ้นเหนือทะเลบริเวณเกาะเทียมที่สร้างขึ้น และก่อนเข้าสู่ฝั่งก็จะมีเกาะเทียมอีกแห่ง ก่อนลงไปลอดใต้ทะเลอีก 20-30 กิโลเมตรก่อนเข้าสู่ฝั่ง จ.เพชรบุรีหรือ จ.ประจวบคีรีขันธ์

เป็นอีกแนวคิดให้ว่า ถ้าทำได้จะทำให้เกิดการลงทุน และช่วยกระจายความเจริญจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ไปภาคตะวันตกและภาคใต้ด้วย.


ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ