กบง.เข็นมาตรการลดค่าไฟฟ้าให้คนไทย ตรึงราคาแอลพีจี 3 เดือน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กบง.เข็นมาตรการลดค่าไฟฟ้าให้คนไทย ตรึงราคาแอลพีจี 3 เดือน

Date Time: 22 ก.ย. 2563 06:01 น.

Summary

  • กบง.ตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) ที่ 318 บาทต่อเดือนระหว่าง ต.ค.–ธ.ค.นี้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนฝ่าภัยโควิด–19

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

กบง.ตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) ที่ 318 บาทต่อเดือนระหว่าง ต.ค.–ธ.ค.นี้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนฝ่าภัยโควิด–19 มั่นใจมีเงินหน้าตักเพียงพอ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการบ้านลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนอีกรอบโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ผ่านมาตรการทบทวนลงทุน 3 การไฟฟ้า ลดปริมาณไฟฟ้าสำรอง

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า กบง.ได้เห็นชอบให้คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่ราคาขายปลีก 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) ออกไปอีก 3 เดือนหรือตั้งแต่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค.นี้ โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันในส่วนของบัญชีแอลพีจีมาบริหาร ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน

การตรึงราคาดังกล่าว สามารถใช้เงินจากกองทุนน้ำมันมาบริหารได้ตามกรอบวงเงินของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมัน (กบน.) ที่กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 10,000 ล้านบาท โดยประเมินว่าราคาแอลพีจีตลาดโลกเฉลี่ยถึงสิ้นปีนี้จะอยู่ระดับ 354 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ที่จะใช้เงินอุดหนุนเฉลี่ยเดือนละ 450 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กองทุนน้ำมันในส่วนของบัญชีแอลพีจี ติดลบ 7,429 ล้านบาท แต่มั่นใจว่าใน 3 เดือนข้างหน้า สามารถรับมือได้ และยังมีมติให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เป็นผู้อนุญาตให้ผู้ค้ามาตรา 7 ส่งออกแอลพีจีเป็นรายเที่ยวแต่ต้องไม่เกินกว่าส่วนเกิน จากความต้องการใช้ภายในประเทศ

“กบง.ได้เห็นชอบแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับประชาชน โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาการลดภาระค่าไฟฟ้า ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ สนพ. ต้องหาทางช่วยลดค่าครองชีพประชาชนในช่วงโควิด-19 ได้แก่ การทบทวนอัตราส่วนผลตอบแทน ต่อเงินลงทุนเพื่อการดำเนินงาน (ROIC) ของ 3 การไฟฟ้าที่ขณะนี้อยู่ที่ 5% ให้กลับไปอิงอัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (SFR) ที่อดีตก็เคยใช้เพื่อให้กำไร ที่ได้รับสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง”

นอกจากนี้ ให้ไปศึกษาการปรับลด ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ปัจจุบันสูงถึง 37-40% ซึ่งจากการประเมินตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ของประเทศไทย (พีดีพี 2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จะมีปริมาณสูงมากใน 10 ปีแรก แต่ 10 ปีหลังจากนั้นไฟฟ้าสำรองเฉลี่ย จะอยู่ที่ระดับ 17% โดยแผนงานที่จะปรับก็กำลังพิจารณา เช่น การขายไฟส่วนเกินให้ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

“แนวทางลดค่าใช้จ่ายประชาชน กำชับให้ไปดูเรื่องของก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่มอบให้ กกพ.ไปทบทวนต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้ราคาขายปลีกเอ็นจีวีหรือก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ ให้สะท้อนต้นทุนและบรรเทาผลกระทบประชาชน และการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติ โดยให้กำหนดอัตราค่าบริการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และทบทวนค่าบริการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อให้เหมาะสม โดยให้นำข้อสรุปมาเสนอให้ กบง.พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป และที่ประชุมยังเห็นชอบให้ ธพ.ปรับเปลี่ยนชื่อเรียกกลุ่มน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้”

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ร่างปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ.2553 อยู่ระหว่างรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.นี้ ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (3) คล่องตัวมากขึ้น ลดขั้นตอนเพื่อตอบโจทย์การสร้างงาน พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล โดยงบประมาณปี 2564 จะเปิดให้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าเสนอโครงการเพื่อขอใช้งบกองทุนฯ ภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ วงเงิน 2,800 ล้านบาท จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ 30,000 คน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ