สรรพสามิตเล็งต่ออายุยกเว้น "ภาษีน้ำมันเครื่องบิน" อีก 6 เดือน ให้ธุรกิจการบินโลว์คอสต์ หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เหลือเที่ยวบินเพียง 20%
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตพร้อมจะพิจารณาผ่อนปรน หรือขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินให้กลุ่มธุรกิจการบินราคาประหยัด (โลว์คอสต์) จากเดิมจะสิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีดังกล่าวสิ้นเดือนกันยายนนี้ เนื่องจากมองว่าผู้ประกอบการดังกล่าวได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องลดเที่ยวบินในประเทศเหลือเพียง 20% ของไฟล์ตบิน อย่างไรก็ตามหากจะต้องขยายระยะเวลาผ่อนปรนออกไป จะพิจารณาขยายเวลาออกไปอีก 6 เดือน เพื่อประเมินสถานการณ์ผลกระทบเป็นระยะๆ
"ตามปกติแล้วการจัดเก็บรายได้ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินจะมีจำนวนไม่มากนัก หรือราว 1,000 ล้านบาทต่อปี หากต้องขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีดังกล่าวออกไป ก็จะไม่กระทบรายได้กรมฯ มากนัก ทั้งนี้ธุรกิจโลว์คอสต์นั้น ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ถ้าเข้าไปช่วยเหลือ จะเป็นการช่วยส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศเช่นกัน"
ส่วนการช่วยเหลือสภาพคล่องธุรกิจสายการบินนั้น จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ภายในตุลาคมนี้ โดยจะให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ผ่านธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลา 60 เดือน เนื่องจากเห็นว่าการท่องเที่ยวยังเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงปัญหาโควิด-19
สำหรับแผนการจัดเก็บภาษีสินค้าตัวใหม่ โดยเฉพาะภาษีความเค็ม หรือการขึ้นอัตราภาษีในบางสินค้านั้น กรมอยู่ระหว่างการศึกษา แต่เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้กรมต้องชะลอการพิจารณาเรื่องดังกล่าวออกไป
"ต้องยอมรับว่าหากภาษีสรรพสามิตสูงมากเกินไป จะเป็นดาบสองคม อาทิ จะทำให้มีการลักลอบนำเข้าตามชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน และในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ การขึ้นภาษีหรือเก็บภาษีสินค้าใหม่ๆ จะเป็นการซ้ำเติมผู้ผลิตและประชาชน"
ขณะที่ผลการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตในรอบ 11 เดือน (ตุลาคม 62 - สิงหาคม 63) ยอดรวมอยู่ที่ 503,000 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 35,000 ล้านบาท หรือ 6.53% โดยรายได้ภาษีจัดเก็บได้สูงสุด 5 อันดับแรก ดังนี้
1. ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 206,000 ล้านบาท
2. ภาษีรถยนต์ 77,700 ล้านบาท
3. ภาษีเบียร์ 73,300 ล้านบาท
4. ภาษีสุรา 56,600 ล้านบาท
5. ภาษียาสูบ 58,100 ล้านบาท
ทั้งนี้ กรมประเมินว่า ทั้งปีงบประมาณยอดจัดเก็บรายได้จะอยู่ที่กว่า 520,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 501,000 ล้านบาท โดยภาษีที่จัดเก็บได้ดี คือ ภาษีรถยนต์ เป็นผลจากการเปลี่ยนโมเดลรถยนต์ในหลายรุ่น ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขาย และยังทำให้ภาษีน้ำมันปรับขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งการที่รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ทำให้ประชาชนบริโภคสินค้าที่เกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตมากขึ้น
"ส่วนปีงบประมาณ 64 กรมฯได้รับเป้าหมายที่ 534,000 ล้านบาท ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์ปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบอย่างรุนแรง เชื่อว่าจะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย".