เปิดภารกิจ “ลวรณ” มือเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง ขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูประเทศ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดภารกิจ “ลวรณ” มือเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง ขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูประเทศ

Date Time: 21 ก.ย. 2563 05:01 น.

Summary

  • ในภาวะที่ “เศรษฐกิจ” ของทุกประเทศกำลังเผชิญหน้ากับความตกต่ำทั่วโลกจากวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยไม่สามารถพึ่งพาการส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งเคยเป็น “พระเอก” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ในภาวะที่ “เศรษฐกิจ” ของทุกประเทศกำลังเผชิญหน้ากับความตกต่ำทั่วโลกจากวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยไม่สามารถพึ่งพาการส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งเคยเป็น “พระเอก” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาได้

ช่วงแรก “นโยบายการเงิน” จึงถูกใช้เป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาความเสียหายของเศรษฐกิจ ในขณะที่ “นโยบายการคลัง” เข้ามาเป็นนโยบายหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ บรรเทาความเดือดร้อนในระยะสั้น และระยะยาวของประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการ

และในช่วงต่อจากนี้ไป เมื่อนโยบายการเงินมีข้อจำกัด “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” จากภาคการคลังยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ทั้งเพื่อการประคับประคอง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โดยที่ผ่านมารัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ได้ออกหลากหลายมาตรการเพื่อลดผลกระทบของประชาชน โดยมาตรการที่สำคัญๆ เช่น โครงการ “ชิมช้อปใช้” แจกเงินให้ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป คนละ 1,000 บาท รวมจำนวนทั้งหมด 14 ล้านคน ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อนำไปใช้จ่าย ซื้ออาหาร ของใช้ และท่องเที่ยวกับร้านค้าที่ร่วมโครงการ และยังให้สิทธิ์ได้รับเงินคืน (Cash back) 20% สำหรับผู้ที่ใช้จ่ายผ่านกระเป๋าที่ 2 ในวงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 50,000 บาท

โครงการ “ชิมช้อปใช้” ถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ โดยมีเม็ดเงินใช้จ่ายผ่านโครงการดังกล่าวประมาณ 30,000 ล้านบาท ช่วยให้ประชาชน และร้านค้ามีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น

ต่อด้วยโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ซึ่งเป็นโครงการบรรเทาผลกระทบหลังจากรัฐบาลตัดสินใจ “ล็อกดาวน์” ประเทศ หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดในเดือน เม.ย.63 ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลให้เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในกลุ่มหลักๆ 3 กลุ่ม

ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงาน และลูกจ้างชั่วคราว 15.10 ล้านราย กลุ่มที่ 2 เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด ได้สิทธิ์รับเงินทั้งสิ้น 10 ล้านครัวเรือน โดย 2 กลุ่มแรกนี้ได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) รวมเป็นเงิน 15,000 ล้านบาท และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีความเปราะบาง จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กแรกเกิดถึง 6 ปี ผู้สูงอายุ และคนพิการ 13 ล้านราย จ่ายเงินเยียวยารายละ 1,000 บาท จำนวน 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค.) รวมเป็นเงิน 3,000 บาท

โดยมาตรการทั้งหมดนี้ “สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.” ถือเป็นหน่วยงานหลักในการประมวลแนวคิดประสานงาน และขับเคลื่อนนโยบาย ทำให้ “ลวรณ แสงสนิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ต้องรับบทหนักในการผลักดันนโยบาย และรับหน้าเสื่อเมื่อเกิดปัญหา

และในช่วงรอยต่อ ซึ่งเรายังไม่ได้ตัว “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” คนใหม่ แต่รัฐบาลยังมี “มาตรการด้านการคลัง” เหลืออีก 2 มาตรการที่กำลังดำเนินการอยู่ คือ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และโครงการล่าสุด “คนละครึ่ง” แจกเงิน 3,000 บาท ซึ่งกำลังจะออกมาในเดือน ต.ค.นี้

“ทีมเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ “ลวรณ แสงสนิท” ทิ้งทวนตำแหน่ง ผอ.สศค. ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังค้างอยู่ และแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปของกระทรวงการคลัง ก่อนที่ไปดำรงตำแหน่งใหม่อธิบดีกรมสรรพสามิตในวันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้

*************

“เราเที่ยวด้วยกัน” 5 ล้านสิทธิ์ หมดเกลี้ยง

“มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ 2 โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ คือ “เราเที่ยวด้วยกัน” วงเงิน 30,000 ล้านบาท และ “คนละครึ่ง” วงเงิน 51,000 ล้านบาทนั้น รัฐบาลคาดว่า จะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีรวม 81,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศขยายตัวขึ้นประมาณ 0.24%” นายลวรณกล่าวถึงความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

สำหรับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” นั้น เราเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน www.เราเที่ยวด้วยกัน.com ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยล่าสุดมีผู้มาลงทะเบียนล้นทะลักถึง 5.1 ล้านราย และมีโรงแรมทั้งห้าดาวและโรงแรมขนาดเล็กสนใจเข้าร่วมมาตรการทั้งสิ้น 6,000 แห่ง รวมถึงร้านอาหารอีกจำนวน 50,000 ร้านค้า

โดยรัฐบาลคาดว่า จำนวนโรงแรมและร้านค้าดังกล่าวจะเพียงพอสำหรับการรองรับประชาชนที่ออกเดินทางไปท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงจำนวนผู้จองที่พักในปัจจุบัน นายลวรณ ระบุว่า มีผู้ใช้สิทธิ์จองห้องพักและโรงแรมแล้ว 1.12 ล้านสิทธิ์ จากจำนวน 5 ล้านสิทธิ์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยมีผู้มาลงทะเบียนจองโรงแรมที่พักเฉลี่ยวันละประมาณ 10,000 ห้อง โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาววันที่ 4-7 ก.ย.ที่ผ่านมา มีคนใช้สิทธิ์เราเที่ยวด้วยกันมากกว่าปกติถึง 2 เท่าตัว ซึ่งถือว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้

“ส่วนที่กังวลกันว่า มีคนท่องเที่ยวน้อยกว่าที่คาดนั้น ยังเชื่อมั่นว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกัน จะมีผู้เข้าร่วมมาตรการถึง 5 ล้านสิทธิ์ตามที่กำหนดไว้ เพราะตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ปรึกษากับการ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แล้วว่ามีความเป็นไปได้ ที่คนจะออกมาท่องเที่ยวได้ตามเป้าหมาย”

นอกจากนั้น รัฐบาลยังเพิ่มแรงจูงใจให้คนออกมาเที่ยวมากขึ้น ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งการให้สิทธิ์ที่พักจากเดิมจองรายละ 5 คืน เพิ่มขึ้น 10 คืน (สามารถทยอยพักเป็นครั้งๆได้ ไม่ต้องพักครั้งเดียว 10 คืน)

เนื่องจากเมื่อสำรวจพฤติกรรมคนที่มาท่องเที่ยวในโครงการ พบว่า ผู้ใช้สิทธิ์ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีกำลังซื้อ โดยผู้ที่เข้าโครงการ 400,000-500,000 ราย ใช้สิทธิ์จองที่พัก ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายเงินค่าที่พักให้ 40% ของราคาที่พักต่อห้องต่อคืน (ไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน) เต็ม 5 คืนตามสิทธิ์ของโครงการ ซึ่งเป็นที่มาที่เราตัดสินใจขยายเวลาในการจองห้องพักเพิ่มขึ้น

ส่วนการเพิ่มค่าตั๋วเครื่องบินจาก 1,000 บาทเป็น 2,000 บาทต่อราย และการเพิ่มเงินค่าอาหารและท่องเที่ยวในวันธรรมดา (จันทร์-พฤหัสบดี) เป็น 900 บาท จากเดิม 600 บาทนั้น เป็นวิธีที่รัฐบาลจูงใจให้คนที่มีกำลังซื้อออกมาท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย และในอนาคตรัฐบาลอาจจะมีการปรับเปลี่ยนสิทธิ์ต่างๆ อีกตามสถานการณ์ในประเทศ หรือพฤติกรรมผู้ที่ออกมาท่องเที่ยวได้ด้วย

ขณะที่สาเหตุที่โครงการเที่ยวด้วยกันมีผู้ลงทะเบียนจำนวนมาก แต่ยังมีผู้มาใช้สิทธิ์น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้นั้น มองว่าเกิดจาก 3 สาเหตุหลัก คือ 1.คนลงทะเบียนไปก่อน เพราะกลัวไม่ได้สิทธิ์ แต่ยังไม่ได้วางแผนการเดินทางไว้ 2.โครงการให้ระยะเวลานานถึง 4 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ต.ค.63 ประชาชนที่ลงทะเบียนไว้จึงไม่รีบใช้สิทธิ์ รวมถึงถ้ามีการจองที่พักโรงแรมจะต้องจ่ายเงินจอง 60% ของราคาห้องพักทันที ซึ่งบางรายยังไม่พร้อมด้านการเงิน และ 3.โรงเรียนอยู่ในช่วงการเปิดภาคเรียนใหม่ จึงทำให้การไปเที่ยวแบบครอบครัว พ่อ แม่ และลูกน้อยลง

เดินหน้า “คนละครึ่ง” กระตุ้นกำลังซื้อปลายปี

ส่วนโครงการคนละครึ่ง ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศช่วงปลายปีจากรัฐบาลนั้น เป็นมาตรการที่เข้ามารองรับให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในช่วงไตรมาส 4 หลังจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยว ซึ่งโดยปกติจะต้องเดินทางมาเที่ยวไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือไฮซีซั่น ช่วงปลายปีมากกว่า 40 ล้านคนหายไป

โดยโครงการดังกล่าว จะเริ่มเปิดลงทะเบียนวันที่ 16 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นการแจกเงิน 3,000 บาท 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.) ให้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจำนวน 10 ล้านราย วงเงินรวม 45,000 ล้านบาท โดยภาครัฐจะให้สิทธิประโยชน์โดยอาศัยวิธีการร่วมจ่าย (Co-pay) คือรัฐจ่าย 50% และประชาชนจ่าย 50% ไม่เกิน 3,000 บาทต่อราย โดยกำหนดให้ประชาชนใช้วันละ 100 บาทต่อคนต่อวัน

ส่วนร้านค้าที่ร่วมโครงการนั้น ในเบื้องต้น สศค.ได้ดึงร้านค้าจากโครงการชิมช้อปใช้ และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ไว้แล้วในช่วงที่ผ่านมา และเป็นร้านค้าขนาดเล็ก และไม่ได้เป็นนิติบุคคล ให้มาเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งแล้วประมาณ 100,000 ร้านค้า ซึ่งกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใหม่

ขณะที่ร้านค้าที่ยังไม่ได้เข้าร่วมมาตรการนี้ สศค.จะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 1 ต.ค.นี้ ซึ่ง สศค.คาดว่าจะมีร้านค้ารายย่อย และร้านหาบเร่แผงลอย เข้าร่วมโครงการเพิ่มประมาณ 100,000 ร้านค้า

“เชื่อมั่นว่า “โครงการคนละครึ่ง” จะไม่มีปัญหาขัดข้องเรื่องระบบแบบที่ผ่านมา เพราะสศค.ได้เริ่มใช้แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาลโอนเงินให้ประชาชนแล้วหลายโครงการ ทั้งชิมช้อปใช้, เราไม่ทิ้งกัน และเราเที่ยวด้วยกัน รวมทั้ง สศค.ยังได้แก้ไขระบบที่เคยติดขัดก่อนหน้านี้แล้ว”

ทั้งนี้ การพัฒนาระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล ถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายเพื่อก้าวสู่ “สังคมไร้เงินสด” ของรัฐบาลด้วย โดยโครงการคนละครึ่งที่จะเปิดลงทะเบียนวันที่ 16 ต.ค.นี้ ระบบของธนาคารกรุงไทยสามารถรองรับคนลงทะเบียนได้เกิน 1 ล้านรายแน่นอน เพราะ สศค.มีประสบการณ์จากหลายโครงการที่ดำเนินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนเมื่อถูกถามว่าโครงการคนละครึ่งจะถูกครหาว่ารัฐบาลใช้แต่วิธีแจกเงิน ซึ่งเป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่ นายลวรณระบุว่า “การที่รัฐบาลใช้วิธีแจกเงินนั้น เป็นวิธีที่ทุกประเทศทำเหมือนกันหมด ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียว เนื่องจากเป็นวิธีที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด”

ฝากงาน ผอ.สศค.คนใหม่

สุดท้าย ในฐานะที่กำลังจะเปลี่ยนไปอยู่ในตำแหน่ง “อธิบดีกรมสรรพากร” ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ อยากฝากถึงผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคนใหม่ที่จะมารับตำแหน่งอย่างไร

นายลวรณกล่าวถึงเรื่องที่อยากให้สานต่อว่า “อยากให้ ผอ.สศค.คนใหม่เดินหน้าในเรื่องที่ผมยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้นในช่วงตำแหน่ง คือ การจัดทำเครดิตสกอริ่ง (Credit Scoring) หรือคะแนนเครดิต ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล หรือประวัติการชำระหนี้ไว้จากทุกภาคส่วน”

โดยฐานข้อมูลชุดนี้จะมีลักษณะเหมือนข้อมูล “เครดิต บูโร” ที่ธนาคารสามารถดึงข้อมูลไปประกอบการพิจารณาการปล่อยเงินกู้ได้ทันที เพราะสามารถรู้ได้ว่าคนที่มากู้เงินทำอาชีพอะไร บ้านอยู่ที่ไหน เคยกู้เงินที่ธนาคารใดบ้าง หรือเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือทางการเงินใดของรัฐบาลมาบ้าง ซึ่งจะทำให้ธนาคารมี “ข้อมูลทางเลือก” ในการปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนมากขึ้น

นอกจากนั้น วิธีการนี้ยังจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบบรรเทาลง และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบที่ขูดรีดดอกเบี้ยกับประชาชนในราคาแพง

“เดิมประชาชนที่ต้องการกู้เงินธนาคาร ถ้าไม่เคยมีประวัติมาก่อนจะกู้เงินได้ยาก เพราะธนาคารไม่สามารถรู้ว่าบุคคลนี้มีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ แต่ถ้าหากทำระบบเครดิต สกอริ่งสำเร็จ จะทำให้การอนุมัติเงินด่วนได้ไวขึ้น เพราะธนาคารสามารถ ดึงข้อมูลไปดูได้ทันที”

นอกจากนี้ ยังอยากฝากให้ ผอ.สศค.คนใหม่ สานต่อเรื่องการรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big data ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมา สศค.และกระทรวงการคลังได้เก็บรวบรวมข้อมูลผู้ที่มีรายได้น้อยจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้านค้ารายย่อยในโครงการชิมช้อปใช้ ข้อมูลผู้ประกอบการอิสระและเกษตรจากมาตรการเราไม่ทิ้งกันไว้จำนวนมาก รวมถึงข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อยในโครงการต่างๆ

โดยหากเราสามารถสร้าง “ฐานข้อมูล” ใหญ่ของผู้มีรายได้น้อยได้ว่าเป็นใคร อยู่ตรงไหน มีพฤติกรรมอย่างไร ในอนาคตรัฐบาลจะสามารถนำมาใช้ในการวางแผนออกมาตรการช่วยเหลือในช่วงที่ประเทศเกิดภาวะวิกฤติ ความเดือดร้อน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมายได้.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ