“ลุงตู่” แจกเงินรอบสอง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“ลุงตู่” แจกเงินรอบสอง

Date Time: 8 ก.ย. 2563 05:01 น.

Summary

  • เอาความสำเร็จของโครงการ “ชิมช้อปใช้” มาสานต่อเป็นโครงการ “คนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563 เพื่อฟันฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปให้ได้นั้น

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

เอาความสำเร็จของโครงการ “ชิมช้อปใช้” มาสานต่อเป็นโครงการ “คนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563 เพื่อฟันฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปให้ได้นั้น ก็ไม่ต่างจากนโยบายการแจกเงิน สร้างระบบประชานิยมให้ประชาชนใช้จ่ายเงินอย่างมือเติบเหมือนเดิม

ศบศ.หรือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งขึ้นมาก็เพื่อจุดประกายความหวังของการระดมสมองจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการช่วยเหลือประชาชน แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นในการใช้จ่ายเงินจากภาครัฐ แบบลูบหน้าปะจมูกเพียงซื้อเวลาในช่วงนี้กลบปัญหาการเมืองที่ร้อนระอุ

ทั้งนี้ โครงการชิมช้อปใช้ ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2562 จนถึง ม.ค.2563 ปรากฏว่า มีประชาชนมาใช้สิทธิ์ 11,802,073 คน จากจำนวนผู้เข้าร่วมมาตรการ 14,354,159 คน โดยมียอดใช้จ่ายรวม 28,820 ล้านบาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.2 ของจีดีพี

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ชิมช้อปใช้ ได้มีการใช้จ่ายไปทั่วประเทศครบ 77 จังหวัด โดยแบ่งเป็นการใช้จ่ายในเมืองรองมากกว่าในเมืองหลัก คิดเป็นสัดส่วน 60% หรือมูลค่ามากถึง 17,000 ล้านบาท

และเมื่อเปรียบเทียบยอดการใช้จ่ายต่อวันต่อคน กระทรวงการคลังยังพบว่า มีการใช้จ่ายในเมืองรองมากกว่าเมืองหลัก รวมทั้งประชาชนยังมีการใช้เงินในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ g-Wallet ช่อง 2 ซึ่งเป็นการเติมเงินเอง มากกว่าที่จะใช้เงิน 1,000 บาท (g-Wallet ช่อง 1) ถึง 16 เท่า ทำให้มียอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) เฉพาะการเก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในจังหวัดอยู่ที่ 41,983 ล้านบาท

สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการชิมช้อปใช้มีส่วนช่วยพยุงการบริโภคภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง

แต่หากมองย้อนกลับไปดูมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน www.เราเที่ยวด้วยกัน.com ตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา หวังว่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยในช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพราะโควิด-19 ยังระบาด อย่างหนักในหลายประเทศนั้น

ปรากฏว่ามีประชาชนให้ความสนใจลงทะเบียนล้นทะลัก 4.92 ล้านคน แต่ทว่ามีผู้ใช้สิทธิ์จองโรงแรมและจ่ายเงินเพื่อยืนยันจะไปเที่ยวในประเทศเพียงแค่ 872,982 ห้อง จากจำนวนสิทธิ์ทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ์เท่านั้น

แม้รัฐบาลโดย ศบศ.กำลังจะปรับเกณฑ์เพิ่มเพื่อจูงใจ ประชาชนทั้งเพิ่มสิทธิ์ส่วนลดที่พัก 40% ของราคาห้องพักจากเดิม 5 คืนต่อคน สูงสุดเป็น 10 คืนต่อคน ให้เงินคืนค่าตั๋วเครื่องบินจำนวน 2,000 บาทต่อที่นั่ง จากเดิม 1,000 บาท รวมถึงเพิ่มคูปองอาหาร (e-Voucher) ต่อการท่องเที่ยวเพื่อใช้เป็นค่าอาหาร-ซื้อของ สูงสุดมูลค่า 900 บาทต่อวัน ในวันธรรมดา (จันทร์-พฤหัสบดี) ส่วนวันศุกร์-อาทิตย์ ยังได้รับคูปอง 600 บาท ตามเดิม

แต่ก็ดูเหมือนว่าจะล้มเหลวตั้งแต่ต้น เพราะล่าสุดยอดการใช้ก็ยังไปไม่ถึงไหน แม้จะมีช่วงหยุดยาว 4-7 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อชดเชยวันหยุดสงกรานต์ แต่ดูเหมือนว่าสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งกลับเงียบเหงาไร้ผู้คนเดินทาง เพราะโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชน เมื่อไม่มี “เงิน” ก็ไม่รู้จะไปไหน ประกอบกับ ไม่รู้ว่าในอนาคตการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบสองจะเกิดขึ้นหรือไม่

ดังนั้น รัฐบาลจึงเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าด้วยการลงทะเบียน “คนละครึ่ง” ผ่าน www.คนละครึ่ง.com วงเงิน 45,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในต้นเดือน ต.ค.นี้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ และจะได้รับเงิน 3,000 บาทต่อคน เพื่อใช้จ่ายในร้านค้ารายย่อย หาบเร่ แผงลอย ร้านข้าวแกง และอาหารตามสั่ง วันละ 100-250 บาท

โดยรัฐบาลจะเติมเงินให้ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ครึ่งหนึ่ง และให้ประชาชนจ่ายเงินอีกครึ่งหนึ่ง เรียกว่าก๊อบปี้โครงการชิมช้อปใช้ 100%

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ คือความไม่พร้อมของร้านค้ารายย่อย ที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ ที่ยังไม่ได้เป็นสมาร์ทโฟนหรือมีอินเตอร์เน็ตจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ต้องลงทุนซื้อสมาร์ทโฟนใหม่ รวมทั้งหาบเร่แผงลอยยังเคลื่อนย้ายไม่มีหลักแหล่งแน่นอน

ดังนั้น โครงการคนละครึ่ง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนลงทะเบียน เพราะเชื่อว่าการแจกเงินแบบโครงการประชานิยมจะได้รับการตอบรับจากประชาชนท่วมท้นแน่นอน แต่อยู่ที่ ศบศ.จะสามารถดึงร้านค้ารายย่อยจริงๆ มาเข้าร่วมได้มากน้อยแค่ไหน

ถือเป็นสิ่งที่ ศบศ.และกระทรวงการคลังต้องออกแบบให้ดี ก่อนจะเข็นมาตรการออกมา เพราะถ้าทำไม่ได้นอกจากจะไม่ได้ช่วยประชาชนในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริงแล้ว ยังทำให้ประชาชนในประเทศขาดวินัยในการใช้เงินอย่างรุนแรงเพราะถือเป็นเงินที่ได้มาฟรีๆ.

นันท์ชยา ชื่นวรสกุล


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ