โควิด สะเทือนเศรษฐกิจ ดิ่งเหวหนักกลางปีหน้า คน 19 ล้าน ถูกลดชั่วโมงทำงาน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

โควิด สะเทือนเศรษฐกิจ ดิ่งเหวหนักกลางปีหน้า คน 19 ล้าน ถูกลดชั่วโมงทำงาน

Date Time: 1 ก.ย. 2563 19:55 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้างจนเจ็บสาหัสหนักโดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 เข้าสู่ไตรมาส 3 หลายบริษัททยอยปิดกิจการ หรือลดชั่วโมงการทำงาน

Latest


การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้างจนเจ็บสาหัสหนักโดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 เข้าสู่ไตรมาส 3 หลายบริษัททยอยปิดกิจการ หรือลดชั่วโมงการทำงาน พร้อมๆ กับผลประกอบการที่กำลังจะออกมาไม่สู้ดีนักในไตรมาส 4 คาดกันว่าจะมีคนถูกเลิกจ้างอีกเป็นจำนวนมาก และอาจมีความเป็นได้ที่ทั้งปีนี้จะมีคนตกงานมากถึง 7-10 ล้านคน จากที่หลายฝ่ายประเมินมาก่อนหน้า

ความสาหัสที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย เรียกได้ว่า "ดิ่งเหวลงหนัก" เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ แสดงความเป็นกังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย และไม่อยากจะคิดกับสิ่งเลวร้ายหนักหน่วงในกลางปีหน้า จนเกินเยียวยา หากไม่รีบแก้ไขและบรรเทาปัญหา โดยกล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า เฉพาะไตรมาส 2 ถือว่าหนักสุดๆ แล้ว และไตรมาส 3 ยังเหลืออีก 1 เดือน กำลังเริ่มออกอาการรุนแรงและเห็นชัดมากขึ้น จากเดิมไตรมาส 2 มี "คนตกงาน" ไปแล้ว 7 แสนกว่าคน และอีก 2.5 ล้านคน อยู่ในข่ายกำลังตกงานเพิ่มเติม เพราะเริ่มเห็นผู้ประกอบการที่สายป่านไม่ยาวพอ ยอมจ่ายเงินค่าชดเชย 300-400 วัน ให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง

“หลายๆ บริษัทเริ่มไม่ไหว ไม่รู้ต่อไปจะเจออะไรอีก และมีโอกาสที่แรงงานต่างด้าวจะลักลอบเข้ามา จนเชื้อโควิดระบาดติดคนในประเทศอีก ดูแล้วสิ้นปีนี้ไม่ช่องทางหรือหนทางใดๆ ที่ดีขึ้น หากจะควักเงินลงทุนต่อไปในช่วง 4 เดือนที่เหลือคงไม่ไหว ต้องเลือกที่จะจ่ายชดเชยเลิกจ้างพนักงานจะดีกว่า ยิ่งธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวตอนนี้ต้องอาศัยคนไทยเที่ยวไทย เพื่อแค่ให้อยู่รอด คงจะหวังและรอต่างชาติเข้ามาคงไม่ได้ จึงมองว่าเศรษฐกิจไทยจะแย่ไปจนถึงกลางปีหน้า และต้นปีหน้า อาจมีคนตกงาน 2-3 ล้านคน ทำให้เป็นห่วงคนที่ไม่มีรายได้ ออกจากระบบการทำงานทั้งๆ ที่ไม่มีเงินออม ไม่มีเงินเก็บ จนไม่มีจะกิน แค่คนๆ เดียวก็เดือดร้อนแล้ว ยังไม่รวมทั้งครอบครัว เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องรีบเข้ามาอุดหนุน ไม่ให้เกิดปัญหาสังคม ในกลุ่มคนที่เกเร อาจก่ออาชญากรรม”

สำหรับแนวทางทางออกขณะนี้อยากเสนอให้มนุษย์เงินเดือน ทั้งข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ กลุ่มที่ได้เงินบำนาญ ประมาณ 5-6 ล้านคน ให้ออกมาช่วยจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากขณะนี้การบริโภคภาคเอกชนหยุดชะงักไม่เดินหน้า ต่างระมัดระวังการใช้จ่าย ซึ่งจะกลายเป็นเงินฝืด โดยเฉพาะภาคลงทุนไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม เนื่องจากกลัวหนี้เน่า ทำให้เศรษฐกิจขณะนี้เข้าขั้นยากลำบาก ไม่มีเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการลงทุน ต้องอาศัยการลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ นอกจากนี้ภาครัฐควรสนับสนุนสินค้าโอทอปในการงาน เพื่อสร้างดีมานด์เทียม ไม่เช่นนั้นแล้วกลางปีหน้าจะทรุดหนักมาก

ในขณะที่คนยังไม่มีงานทำ รวมถึงนักศึกษาจบใหม่ เบื้องต้นรัฐบาลควรจัดคอร์สพัฒนาทักษะ หรือว่าจ้างนักศึกษาจบใหม่ช่วยเก็บข้อมูลในพื้นที่ และควรสนับสนุนผู้ประกอบการให้จ้างพนักงานแบบรายชั่วโมง เพื่อให้คนมีเงินติดกระเป๋า แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองแต่ตัวเองมากเกินไป ดังนั้นทางกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ควรออกประกาศชั่วคราวเพื่อสนับสนุนให้มีการจ้างรายวัน โดยไม่ต้องอิงค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งมีความเป็นไปได้ไม่ขัดกฎหมาย แทนที่จะไปจ้างแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน

ดร.ยงยุทธ ยอมรับที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาภาคท่องเที่ยวและภาคบริการมากเกินไป และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดจึงเกิดผลกระทบหนัก ทำให้การท่องเที่ยวและห้างร้านต่างๆ ไม่มีการจับจ่ายในวันธรรมดา ยกเว้นวันหยุดที่จะมีผู้คนออกมาจับจ่ายแบบประปราย อีกทั้งอุตสาหกรรม 22 สาขา ที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่เดือน ม.ค. พบว่าแทบไม่กลับมาเป็นปกติ ส่วนอุตสาหกรรมหนักยังพอไปได้ รวมถึงอาชีพที่เกี่ยวกับไอที

เมื่อประเมินตัวเลขผู้มีงานทำในไทย ก่อนมาเจอวิกฤติโควิดมีประมาณ 38 ล้านคน เมื่อมีการแพร่ระบาดหนักได้ทำให้คนตกงานไปแล้วเกือบ 8 แสนคน และเมื่อรวมกับตัวเลข 2.5 ล้านคนที่ไม่มีงานทำ เนื่องจากบริษัทไม่ป้อนงานให้โดยไม่จ่ายเงินเดือน ก็เท่ากับว่าประชากรทั้งประเทศมีงานทำ 37.2 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 19 ล้านคน ทำงานในแต่ละวันไม่ถึง 4 ชั่วโมง โดยมีรายได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 40 บาท หรือมีรายได้ต่อวันเพียง 160 บาท ซึ่งน้อยมาก หากผ่านไตรมาส 3 ไป จะเริ่มรู้ตัวเลขผลประกอบการของแต่ละบริษัทในไตรมาส 4 คาดว่าจะปิดกิจการอีกจำนวนมาก

“ไม่อยากคิดจะเกิดอะไรขึ้นในกลางปีหน้า เฉพาะเด็กจบใหม่ 3 แสนคน มีงานทำเพียง 10% ยังไม่รวมเด็กจบใหม่ไปก่อนหน้าที่รองานอีก 1 แสนคน รวมแล้ว 4 แสนคน ต้องแย่งงานกัน จากปกติแล้วเด็กจบใหม่จะถูกดูดซับเข้าในระบบการจ้างงานประมาณ 1.7 แสน ถึง 1.8 แสนคนต่อปี กระทั่งเกิดการระบาดของโควิด เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงมองว่ากลางปีหน้าจะหนักมากกว่านี้ เพราะทุกอย่างมองไม่เห็นแสงสว่าง หากรัฐบาลไม่รีบเข้าไปแก้ปัญหา”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ