จ่อหารือ รมว.คลังดูแล “ตลาดทุน” “การเมือง” เบอร์หนึ่งฉุด “เชื่อมั่น”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จ่อหารือ รมว.คลังดูแล “ตลาดทุน” “การเมือง” เบอร์หนึ่งฉุด “เชื่อมั่น”

Date Time: 14 ส.ค. 2563 09:17 น.

Summary

  • สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าวูบ 16% หวังเศรษฐกิจฟื้นเป็นแรงบวก ขณะที่ปัจจัยการเมือง มีผลฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าวูบ 16% หวังเศรษฐกิจฟื้นเป็นแรงบวก ขณะที่ปัจจัยการเมือง มีผลฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด จ่อขอหารือ รมว.คลัง คนใหม่ ส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุน ลดภาษีเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพิ่มเงินออมประเทศ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ประจำเดือน ส.ค.63 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ต.ค.63) ลดลง 16% มาอยู่ที่ระดับ 85.26 อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยนักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด ตามด้วยการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ รวมถึงความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19

ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ปัจจัยรองลงมา คือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ต่ำกว่าที่คาด สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด คือ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK) ทั้งนี้ ผลสำรวจ ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มอยู่ในระดับ “ทรงตัว” โดยความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับขึ้นมาเล็กน้อยอยู่ที่ 87.04 ความเชื่อมั่นของกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลดลงที่ 83.33 สถาบันในประเทศปรับลดลงที่ 89.47 และนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลงที่ 83.33

ขณะที่ภาวะการลงทุนเดือน ก.ค.63 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1,328.53 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือน มิ.ย.63 โดยดัชนีแกว่งตัวในกรอบแคบๆ ระหว่าง 1,315 -1,377 จุด หลังจากภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการ ส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยมีปัจจัยฉุดในบางช่วงจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ

นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า FETCO เตรียมประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาข้อเสนอขับเคลื่อนตลาดทุนไทยต่อ รมว.คลัง โดยเบื้องต้นประเด็นที่จะนำเสนอ คือ.การส่งเสริมและการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการออมในระยะยาวมากขึ้น เนื่องจากในช่วงวิกฤติโควิด-19 ทำให้เห็นว่า ประชาชนมีการออมเงินน้อยมาก หากใช้มาตรการด้านภาษีก็น่าจะช่วยให้เกิดการออมเพิ่มขึ้นได้ รวมทั้ง FETCO จะเสนอให้มีการต่ออายุกองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) ไปอีก 10 ปี หลังจากสิทธิประโยชน์ที่ให้เป็นพิเศษหมดอายุไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.63 และจะเสนอให้ลดระยะเวลาการถือครอง จาก 10 ปี เหลือ 7 ปี เนื่องจากที่ผ่านมามีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนค่อนข้างน้อยมาก เชื่อว่าระดับ 7 ปีน่าจะมีความเหมาะสม และน่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่อีกส่วนที่จะนำเสนอ คือ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินปันผล หากถือครองหุ้นในระยะยาว เหมือนกับประเทศจีน ซึ่งหากมีการถือครองหุ้นในระยะ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินปันผลหรือไม่เสียภาษี นอกจากนั้น ยังขอให้เร่งรัดยกระดับสถานะตลาดทุนไทยสู่ระดับภูมิภาค เปิดให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนไทยได้เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย อีกทั้งการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุนได้มากขึ้น

“อยากให้ภาครัฐเข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนไทย เป็นแหล่งระดมทุนเพิ่มมากขึ้น และมีการประชุมร่วมกันระหว่างภาคตลาดทุนและภาครัฐให้มากขึ้น รวมถึงผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ปัจจุบันตัวเลขการลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่ถึง 2 ล้านคน ภาครัฐจะต้องส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อให้เกิดการออมมากขึ้น มองว่าหากไปถึงระดับ 10 ล้านคน จะเป็นระดับที่ไม่ต้องกระตุ้นแล้ว”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ