“ปานปรีย์” ทวงสัญญา “พล.อ.ประยุทธ์” ชี้ชะตากรรมเศรษฐกิจไทยใน “มือใหม่”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ปานปรีย์” ทวงสัญญา “พล.อ.ประยุทธ์” ชี้ชะตากรรมเศรษฐกิจไทยใน “มือใหม่”

Date Time: 5 ส.ค. 2563 08:08 น.

Summary

  • เตือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ รับมือชะตากรรมเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 คลี่คลาย ในหัวข้อ

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%


ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตผู้แทนการค้าไทย เขียนบทความลงในเฟซบุ๊กตัวเอง เตือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ รับมือชะตากรรมเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 คลี่คลาย ในหัวข้อ “ชะตาเศรษฐกิจไทยในมือ “ทีมใหม่” โดยยกเอาถ้อยแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ว่า “ผมอยากจะพูดถึงสิ่งที่เราต้องทำ เพื่อจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจกลับมาให้ได้โดยเร็ว” ขึ้นมาจั่วหัว

อดีตผู้แทนการค้าไทย ตอกย้ำว่าพลเอกประยุทธ์ยังพูดถึงวิธีการทำงานแบบนิวนอร์มอล (New Normal) ของรัฐบาล ซึ่งแปลโดยรวมได้ความว่า เศรษฐกิจไทยกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีปัญหาหนัก ต้องs ระบาดหนักไปยังเศรษฐกิจทั้งโลก แม้ขณะนี้สถานการณ์โรคในประเทศไทยจะคลี่คลายลงมาก แต่เศรษฐกิจไทยกลับสวนทาง ดิ่งลงจนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสร้างความวิตกกังวลต่อประชาชน และทุกภาคส่วนแต่ละวันผู้คนต่างเฝ้าลุ้น เฝ้ารอมาตรการ และแนวนโยบายในการฟื้นฟูจากรัฐบาลที่กำลังอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยน “ทีมเศรษฐกิจใหม่”

เมื่อย้อนกลับไปในอดีตไม่นานนัก หลายครั้งที่เกิดวิกฤติถึงขั้นที่เศรษฐกิจอาจล้มได้ รัฐบาลจะมีความสามารถในการจัดการ จนพ้นออกจากวิกฤติได้เสมอ อย่างเช่น ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 2540 ที่เกิดการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ จนรัฐบาลต้องใช้ยาแรง “ลอยตัวค่าเงินบาท” ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวสูงขึ้น เพิ่มรายได้ให้กับประเทศ จนเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับได้ในเวลาไม่นาน

“ไทย” รอดมาได้ทุกวิกฤติ

หรือกรณีที่มีต้นเหตุมาจากวิกฤติน้ำมัน จนเกิดการขาดดุลการค้า และบัญชีเดินสะพัดสูง ระหว่างปี 2524-2528 รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตัดสินใจลดค่าเงินบาทลง 14.8% ทำให้เศรษฐกิจรอดพ้นออกจากวิกฤติ ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวสูง และโครงการ Eastern Seaboard ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

แน่นอนว่า วิกฤติเศรษฐกิจในอดีต ไม่อาจเปรียบเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เข้าขั้นวิกฤติของไทยในปัจจุบันได้ เพราะปัจจัยแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาย่อมต่างกัน และยิ่งในระยะหลัง เทคโนโลยีก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้น “ทีมเศรษฐกิจใหม่” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกคัดสรรมาทดแทนทีมเก่า ก็จะเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ

สังคมกำลังจับจ้องว่า ทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลจะมีแนวทางในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาโดยเร็วได้อย่างไร

เสนอความเห็น 3 ทางรอด

จากที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ ผมมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ 3 ประเด็น คือ

1.คุณสมบัติของรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

นอกจากจะต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ โปร่งใส และรักษาผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของผู้บริหารราชการแผ่นดินอยู่แล้ว แต่คุณสมบัติสำคัญอีกประการ คือ มีทักษะพิเศษที่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มีความสลับซับซ้อน (Complex problem-solving) ในยุคใหม่ได้ด้วย ไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างเดียว แต่มีองค์ความรู้ ความเข้าใจในศาสตร์อื่นๆที่เป็นพื้นฐานด้วยเช่น ด้านเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยีสมัยใหม่ การต่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์

2.แนวนโยบายเศรษฐกิจใหม่

เพื่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจควรมีความชัดเจนตรงเป้า ซึ่งอาจประกอบด้วยหลายมาตรการ หรือโครงการที่นำไปสู่การแก้ปัญหาเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะปานกลาง และคู่ขนานกับนโยบายใหม่นี้ ควรวางแนวทาง “การปฏิรูปเศรษฐกิจเฉพาะด้าน” ที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับนิวนอร์มอลไปในโอกาสเดียวกันด้วยแต่การปฏิรูปนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับแผนปฏิรูปประเทศที่ยังไม่แล้วเสร็จ

แน่นอนว่า การปฏิรูปจะสำเร็จได้ต้องอาศัยภาวะผู้นำสูง และทีมเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ หรือ Charismatic Reformer ที่กล้าทำ กล้าตัดสินใจ ในเรื่องที่อาจมีผลกระทบต่อบางภาคส่วน แต่เป็นผลดีต่อส่วนรวม

ต้องมีความเป็นเอกภาพ

3.ทีมเศรษฐกิจต้องเป็นเอกภาพ

ในขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่าทีมเศรษฐกิจใหม่จะประกอบด้วยใครบ้าง และกระทรวงเศรษฐกิจใดบ้างที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายของการฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Planning) ว่าในแต่ละกลุ่มเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มการผลิต SME เกษตร แรงงาน หรือท่องเที่ยว จะเน้นประเภทของธุรกิจใดก่อนหลัง เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง และใช้งบประมาณ และเงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้วิกฤตการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยทรุดลงกว่าเดิม ทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลจึงเป็นที่คาดหวังจากประชาชน และภาคเอกชน ทั้ง “คุณสมบัติ” และ “ศักยภาพ” ที่จะเข้ามาพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาโดยเร็ว โดยเฉพาะแนวนโยบายใหม่ หรือมาตรการต่างๆที่จะเป็นการปฏิรูปเพื่อรองรับ New Normal อย่างที่นายกรัฐมนตรีก็คาดหวังไว้เช่นกันว่า วิกฤติครั้งนี้จะช่วยให้เราเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศ ให้ประเทศไทยก้าวเดินออกจากหายนะโควิด-19 ไปเป็นประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม

“นี่คือเวลาที่โลกเปลี่ยน และเราจะต้องเปลี่ยนด้วย” ดังคำมั่นที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ ฉะนั้น “ทีมเศรษฐกิจใหม่” ของรัฐบาล ก็จะยิ่งสำคัญในระดับที่ชี้ชะตาเศรษฐกิจไทยได้ทั้งปัจจุบันและอนาคต.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ