ปรับลด “จีดีพี” ติดลบ 9.4% โควิดซัดเศรษฐกิจไทยวูบ 2 ล้านล้านบาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปรับลด “จีดีพี” ติดลบ 9.4% โควิดซัดเศรษฐกิจไทยวูบ 2 ล้านล้านบาท

Date Time: 4 ส.ค. 2563 07:58 น.

Summary

  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดจีดีพีปีนี้ เป็นติดลบ 9.4% จากเดิมลบ 4.9% ถึงลบ 3.4% หลังโควิด–19 สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจไทยแล้ว 2 ล้านล้านบาท

Latest

“เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ในประเทศไทย จังหวัดไหนบ้าง? ที่ทำเลมีศักยภาพ พร้อมให้ทุนใหญ่ลงทุน

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดจีดีพีปีนี้ เป็นติดลบ 9.4% จากเดิมลบ 4.9% ถึงลบ 3.4% หลังโควิด–19 สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจไทยแล้ว 2 ล้านล้านบาท จี้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เร่งออกมาตรการกระตุ้น ทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ไม่เช่นนั้น ช่วงที่เหลือของปีนี้คนไทยอาจตกงานอีก 1.9 ล้านคน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯได้ปรับอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยปีนี้ ใหม่จากเดิมที่ติดลบ 4.9% ถึงติดลบ 3.4% เป็นติดลบ 9.4% เพราะโควิด-19 เป็นสำคัญ ทำให้เกิดความเสียหายเศรษฐกิจไทย 2.098 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นผลจากมาตรการปิดเมืองที่กระทบต่อภาคท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมร้านอาหาร ค้าปลีกค้าส่ง ขนส่ง บันเทิง 1.5 ล้านล้านบาท, ภาคการผลิตและส่งออก 500,000 ล้านบาท ภัยแล้ง 75,000 ล้านบาท

รอดูฝีมือทีมเศรษฐกิจชุดใหม่

“การปรับลดจีดีพีเหลือติดลบ 9.4% มาจากการคาดว่า มูลค่าส่งออกไทยติดลบ 10.2%, การบริโภคภาคเอกชน ติดลบ 2.6%, การบริโภคภาครัฐบวก 4.5%, การลงทุนรวม ติดลบ 8% การนำเข้าติดลบ 19.5%, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ลดลง 82.3% เงินเฟ้อติดลบ 1.5% และ ไตรมาสที่ 2 ของปี นี้คาดว่าจีดีพีจะติดลบ 15% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และต่ำกว่าไตรมาส 2 ของปี 2541 ที่อยู่ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่จีดีพีติดลบ 12% ส่วนไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ อาจค่อยๆดีขึ้นจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลและการคลายล็อกเฟสต่างๆ”

ทั้งนี้ นักวิชาการและเอกชนต้องการ ให้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ เร่งออกมาตรการเติมเพิ่มในการพยุงเศรษฐกิจ แต่ไม่ควรใช้การแจกเงินเหมือนการเยียวยาคนละ 5,000 บาท แต่ควรเป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น แม้ว่าจะเกิดประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่ำกว่าโครงการอื่นๆ แต่ผลที่ได้ทำให้ประชาชนมีรายได้จากการมีงานทำ ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นหลายรอบ

ระทึกตกงานเพิ่มอีก 1.9 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังต้องเร่งผ่อนคลายให้เอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 500,000 ล้านบาท เพราะส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ และหลายๆกรณีธนาคารพาณิชย์ต้องขอหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงอยากให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เข้ามาช่วยค้ำประกันด้วย โดยหากไม่มีมาตรการกระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลเข้ามาเพิ่มเติม รวมถึงเอสเอ็มอียังขาดสภาพคล่อง เชื่อว่า ช่วงที่เหลือของปี ต้องมี การปลดคนงานออก 1.9 ล้านคน โดยเฉพาะเดือน ต.ค.นี้ อาจเห็นการปลดคนหลักล้านคน แต่หากเอสเอ็มอีมีสภาพคล่อง จะช่วยประคองการจ้างงานได้ต่อไปอีก 10 เดือน

น.ส.อุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของเอสเอ็มอีเกี่ยวกับ ผลกระทบของโควิด-19 พบว่า เอสเอ็มอี 61.7% ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด ส่วน 26.9% ได้รับผลกระทบปานกลาง, 11.2% ได้รับผลกระทบน้อย และ 0.2% ไม่ได้รับผลกระทบ เอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สุขภาพ ความงาม อัญมณีและหัตถกรรม แม้ว่าเอสเอ็มอี 86.5% ยังไม่มีการเลิกจ้างงาน แต่ 13.5% บอกว่า ปลดคนงาน และเลิกจ้าง แต่หากช่วงต่อไป ยังไม่มีรายได้ หรือมีรายได้น้อยมาก จะประคองกิจการไปได้อีกเฉลี่ย 6 เดือน สูงสุดไม่เกิน 9 เดือน ขณะที่ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ระบุว่า จะประคองกิจการไปได้เพียง 3 เดือน

ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เดือน ก.ค.พบว่าดัชนีฯเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จากเดือนก่อนหน้าที่ 38.5 มาอยู่ที่ระดับ 42.9 โดยปรับดีขึ้นในเกือบทุกธุรกิจ ซึ่งดัชนีรวมและดัชนีย่อยยังต่ำกว่า 50 ในทุกภาคธุรกิจ สะท้อนความเชื่อมั่นที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ทยอยมีสัญญาณปรับดีขึ้น โดยภาคการผลิตปรับเพิ่มขึ้น จากกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ และกลุ่มผลิตยานยนต์เป็น โดยส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ในงาน มอเตอร์โชว์ เช่นเดียวกับดัชนีฯของภาคที่มิใช่การผลิตปรับดีขึ้น นำโดยกลุ่มขนส่งและภาคก่อสร้าง ที่มีความเชื่อมั่นดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่ ยังกังวลต่อภาวะธุรกิจที่เปราะบาง

แนวโน้มค่าดัชนีฯในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 47.0 มาอยู่ที่ 48.6 โดยปรับดีขึ้นในเกือบทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ผลิตยานยนต์ ที่ดัชนีอยู่สูงกว่า 50 ได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่วนหนึ่งเป็นผลดีจากการจัดงาน มอเตอร์โชว์ เช่นเดียวกับกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร กลุ่มขนส่ง จากผลการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ แต่ดัชนีฯของกลุ่มโรงแรมและร้านอาหารยังต่ำกว่า 50 สะท้อนว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ คาดว่าภาวะธุรกิจจะไม่ดีนักจากปัจจุบัน ขณะที่ด้านการเงิน ดัชนีสภาพคล่องทั้งปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้า ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่ยังอยู่ต่ำกว่า 50 สะท้อนว่าธุรกิจส่วนใหญ่ ยังมีสภาพคล่องลดลง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ