สภาพัฒน์ย้ำ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน สู้โควิด-19 ไม่มีโครงการคุณขอมา

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สภาพัฒน์ย้ำ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน สู้โควิด-19 ไม่มีโครงการคุณขอมา

Date Time: 1 ส.ค. 2563 13:48 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • สภาพัฒน์ฯ ยันเงินกู้โควิด ไม่มีโครงการสอดไส้ และไม่มีโครงการคุณขอมา "พิธา" ห่วงใช้งบไม่ตรง ยิ่งเกาไม่ถูกที่คัน แนะ 5 มาตรการใช้งบ 6 แสนล้านที่เหลืออุดช่องว่างสังคม-เศรษฐกิจ

Latest


สภาพัฒน์ฯ ยันเงินกู้โควิด ไม่มีโครงการสอดไส้ และไม่มีโครงการคุณขอมา "พิธา" ห่วงใช้งบไม่ตรง ยิ่งเกาไม่ถูกที่คัน แนะ 5 มาตรการใช้งบ 6 แสนล้านที่เหลืออุดช่องว่างสังคม-เศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 1 ส.ค.63 นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการพิจารณาโครงการใน พ.ร.ก.กู้เงิน ผ่านเวทีสัมมนาสาธารณะชำแหละเงินกู้ฟื้นฟูโควิด : ช่วยเศรษฐกิจ หรือ เป็นพิษกับประชาชน ซึ่งจัดโดยผู้เข้าอบรม บสก.9 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนประเทศไทย ว่า วิกฤติโควิด-19 แตกต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งและแฮมเบอร์เกอร์ เพราะ 2 ครั้งก่อนเกิดเฉพาะจุด ยังมีเศรษฐกิจระดับโลกอื่นพยุงขึ้นมาได้

โดยโควิด-19 ทุกประเทศทั่วโลกโดนทั้งหมด และไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร แม้จะมีวัคซีนก็ต้องใช้เวลา 1-2 ปี กว่าจะกระจายให้ครบทั่วทุกประเทศ เราพึ่งพาเศรษฐกิจข้างนอกไม่ได้ ทั้งการส่งออกและท่องเที่ยว เพราะความต้องการข้างนอก และกำลังซื้อลดลง จึงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้เยียวยาเร่งด่วน

ทั้งนี้เงินก้อนฟื้นฟูเศรษฐกิจจะใช้ใน 4 ส่วน คือ 1. เพิ่มศักยภาพประเทศ เช่น การใช้นวัตกรรมเข้าไปช่วยเกษตรกร 2. เศรษฐกิจฐานราก เน้นเรื่องการจ้างงาน สร้างความเข้มแข็งชุมชน 3. กระตุ้นการบริโภค เช่น เราเที่ยวด้วยกัน และ 4. การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ที่ต้องเกิดประโยชน์ในแง่เกิดการหมุนเวียน ตอบโจทย์พื้นที่

ขณะนี้ ครม.อนุมัติแล้ว 3.7 หมื่นล้านบาท ล่าสุด คณะกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นชอบอีก 160 โครงการเล็กๆ ราว 800 ล้านบาท กระจาย 58 จังหวัด โดยจะเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า ส่วนที่ให้ไม่ครบทุกจังหวัด เพราะบางโครงการอาจไม่ได้เกิดประโยชน์กับประชาชนจริง เช่น เป็นการจัดงานอีเวนต์ 1-2 วัน แล้วเลิกไป ทำอบรมอย่างเดียว แต่โครงการที่ให้ เพราะเกิดประโยชน์ระยะยาว อย่างภาคใต้ที่ทำโครงการปรับลดพื้นที่ปลูกยางพารา มาปลูกพืชผสมผสาน โครงการกลุ่มเกษตรกรที่ขอให้รัฐสนับสนุนการผลิต แปรรูป แต่ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ เพื่ออัปเกรดผลิตภัณฑ์

"โครงการที่เสนอเข้ามาไม่มีลักษณะของคุณขอมา หรือมีแรงกดดันต่างๆ แทรกแซง เนื่องจากกระบวนการกลั่นกรอง มีทั้งคณะกรรมการระดับใหญ่ และคณะอนุกรรมการอีก 2 ชุด กลั่นกรองรายละเอียด ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกและหลากหลายเข้ามามีส่วนร่วมในการกลั่นกรอง" 

ก้าวไกลเสนอ 5 ข้อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญติดตามตรวจสอบงบประมาณและมาตรการการแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิด กล่าวว่า เงินกู้จะฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือไม่ ขึ้นกับว่า เงินที่เป็นหนี้สินสามารถนำไปทำเป็นทรัพย์สินได้หรือไม่ หรือเอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และเกิดการคอร์รัปชัน ซ้ำซ้อนกับงบประมาณปี 2563 หรือปี 2564 กลายเป็นการซ้ำเติมประชาชน ในสถานการณ์โควิดเป็นมหาวิกฤติทำให้ช่องว่างทางสังคมกว้างขึ้น เกิดรูรั่วทางเศรษฐกิจลึกขึ้น

ดังนั้น การใช้เงินกู้จึงต้องถมช่องว่างทางสังคม โดยเฉพาะปัญหาแรงงานนอกระบบและในระบบจำนวนกว่า 28-30 ล้านคนที่อาจจะตกงาน และกระทบถึงลูกหลานที่อาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คาดว่ามีประมาณ 1.64 ล้านคน ซึ่งหากเด็กกลุ่มนี้หลุดจากระบบการศึกษาแล้วก็ยากที่จะกลับเข้าไปอีก

นายพิธา กล่าวว่า ส่วนเรื่องอุดรูรั่วทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวและส่งออกประมาณ 70% ทำให้เกิดปัญหา เพราะนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ได้ ส่งออกไม่ได้ ขณะที่ในประเทศมีการล็อกดาวน์ หลายกิจการเปิดไม่ได้ แต่ยังมีค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โดยช่วง 6 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย. ภูมิภาคที่เกิดความเสียหายมากที่สุดคือ กทม. ภาคใต้ และภาคตะวันออก

โดยเรื่องการท่องเที่ยว จังหวัดที่กระทบมากที่สุด คือ กทม. ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ และสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้ของบเข้ามาแล้ว แต่บางจังหวัดที่ของบเข้ามาไม่สอดคล้องกับความเสียหาย เช่น กาฬสินธุ์ ยโสธร พะเยา ปัตตานี สิงห์บุรี ซึ่งตนกังวลเพราะจะใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ถูกวัตถุประสงค์ กลายเป็นเกาไม่ถูกที่คัน

นายพิธา กล่าวว่า รัฐบาลมีมาตรการล็อกดาวน์ 5 เฟส บางกิจการปลอดล็อกเร็ว บางกิจการก็ช้า จึงควรฟื้นฟูให้สอดคล้องกับที่ได้รับผลกระทบ ใครเสียสละมากก็เยียวยามาก ใครเสียสละน้อยก็เยียวยาน้อย ทั้งนี้ ประเทศไทยยังเหลืองบ 6 แสนล้านบาทที่จะนำมาใช้พลิกฟื้นสถานการณ์ โดยแบ่งเป็น 5 มาตรการ ประกอบด้วย

1. เยียวยาประชาชนที่อาจจะเกิดจากโควิดรอบ 2 โดยใช้วิธีการกรองคนออกก็จะเหลือคนที่ได้รับการเยียวยา 28 ล้านคน โดยให้ประมาณ 3 พันบาทต่อคน ในระยะเวลา 3 เดือนสำหรับคนที่ยังหางานไม่ได้จำนวน 2.5 แสนล้านบาท

2. การช่วยเอสเอ็มอี เพื่ออุดหนุนให้มีการจ้างงานไม่เกิน 50% ของค่าจ้าง สนับสนุนบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้คำประกันนี้ จำนวน 2 แสนล้านบาท รวมถึงมีมหกรรมการจ้างงานในทุกพื้นที่

3. การท่องเที่ยว ให้มีการอุดหนุนตามจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยว แง้มประตูเตรียมความพร้อมในด้านสาธารณสุข จำนวน 1 แสนล้านบาท

4. การศึกษา ช่วยให้เด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาให้ได้เรียนต่อผ่านกองทุน กสศ. คนละ 3 หมื่นบาท วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท

5. ปลดล็อกเงื่อนไขการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ไม่ได้เป็นลูกค้าธนาคารให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ วงเงิน 4 แสนล้านบาท

หนี้ประชาชนที่เป็นปัญหารอวันระเบิด

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการ ผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า เท่าที่ดูการกลั่นกรองโครงการก็ชื่นใจ เพราะโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองก็น่าตรงวัตถุประสงค์ มีส่วนช่วยได้ เน้นเรื่องการพัฒนาคน ศักยภาพ และอาชีพเป็นหลัก แต่เรื่องการตรวจสอบต้องสร้างแรงจูงให้คนมาร่วมตรวจสอบ ซึ่งจะแบ่งโครงการเป็น 2 ระดับ คือ

1. ระดับท้องถิ่น ควรให้คนในพื้นที่ตัดสินใจ ว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วยกับโครงการ ซึ่งต้องสร้างการมีส่วนร่วม มีบทบาท มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการตั้งแต่ต้น จะดึงให้คนในพื้นที่สนใจในการตรวจสอบ

2. ระดับประเทศ ซึ่งหากจะฟื้นฟูต้องไม่ใช่ฟื้นฟูกลับไปสู่จุดเดิม เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป อย่างนักท่องเที่ยวก็อาจไม่ได้มาเที่ยวแบบเดิม ต้องฟื้นฟูไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตใหม่ (นิวนอร์มอล) เช่น ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือเชิงระบบนิเวศ หรือการเพิ่มทักษะต้องก้าวข้ามไปสู่ดิจิทัล หลายโครงการบูรณาการร่วมกันได้ เช่น การจ้างบัณฑิตตกงานที่มีหลายสาขา ไปโค้ชคนในชุมชน อย่างการตลาดดิจิทัล ซึ่งเกษตรกรบางส่วนอยากปรับตัวเอง อยากขายตรงสู่ผู้บริโภค

"ที่น่ากังวล คือ หนี้ประชาชนที่เป็นปัญหารอวันระเบิด หากหมดมาตรการช่วยเหลือ ปัญหาหนี้ภาคประชาชนจะปะทุขึ้นมา ต้องเริ่มพิจารณากลไกนอกเหนือจากที่มีอยู่ อย่างเรื่องซอฟต์โลนก็เห็นด้วยที่ควรให้เอสเอ็มอีที่ไม่เข้าถึงระบบธนาคารเข้าถึง"

ต้องช่วยกันตรวจสอบคอร์รัปชัน

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเจอปัญหาทั้งธุรกิจเจ๊ง คนตกงาน ถูกลดเงินเดือน ไม่มีงานทำ ไม่มีกิน พอมีเงินกู้มาช่วยเยียวยาฟื้นฟู ก็เหมือนกับพระเจ้ายื่นมือมาช่วยเหลือ แต่ถ้าปล่อยให้มีการล้วงยัดเข้ากระเป๋าใครบางคน ก็เหมือนพระเจ้ายื่นมือกลับ จะเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดมาซ้ำเติมประเทศและประชาชน

ทั้งนี้ อย่าเชื่อว่าจะไม่มีใครโกง เพราะทุกครั้งที่มีเงินอัดฉีด มีการโกงทุกครั้ง ทั้งตอนเอื้ออาทร ไทยเข้มแข็ง มีทั้งที่เป็นข่าว ไม่เป็นข่าว เป็นคดีไม่เป็นคดี หากเทียบกับโครงการไทยเข้มแข็งแล้ว การอัดฉีดเงินครั้งนี้วงเงินสูงกว่าด้วย ก็ถือว่ากังวลพอสมควร

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากข้อมูลสถิติของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวบรวมข้อมูล 2 เดือน คือ เม.ย. - พ.ค.ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนชี้เบาะแสเข้ามา 1,300 เรื่อง จำนวนนี้มีความเสี่ยงที่จะทุจริต 974 เรื่อง หรือ 75% ที่เหลืออาจเป็นการเข้าใจผิด หรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอาจผิดพลาดเรื่องกฎระเบียบหรือการกลั่นแกล้ง ซึ่งความเสี่ยงที่จะทุจริต 974 เรื่อง มีความเป็นไปได้ในการทุจริตระดับสูงมาก 129 เรื่อง ระดับสูง 337 เรื่อง ปานกลาง 465 เรื่อง ไม่ชัดเจน 43 เรื่อง และเชื่อว่ายังมีอีกมากแต่ไม่ได้ถูกเปิดเผย

"ช่วงนี้ใกล้เลือกตั้งท้องถิ่น จะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดการดึงงบประมาณ ดึงโครงการฟื้นฟูเหล่านี้ ไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งน่ากลัวที่สุด ดังนั้น ต้องทำให้เรื่องนี้ไม่อยู่ในมือของหน่วยงานราชการ ต้องอยู่ในมือประชาชนและสื่อมวลชนต้องร่วมกันตรวจสอบงบทั้ง 1.99 ล้านล้านบาทอย่างเข้มข้น เมื่อทุกคนส่งเสียงเขาก็จะโกงได้ยากขึ้น แต่ที่เห็นหลุมทุกวันนี้ คือ สิ่งที่เสนอไว้ไม่เกิดขึ้น เช่น ให้ตัวแทนประชาชน สื่อมวลชน ภาควิชาการ เข้าไปในคณะกรรมการกลั่นกรอง หรือคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณก็ยังไม่เกิดขึ้น"

ดร.มานะ กล่าวว่า สภาพัฒน์ฯ มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฟื้นฟูในเว็บไซต์ Thai Me ซึ่งถือเป็นข้อมูลสาธารณะ เราก็ตอบสนองโดยทำเว็บไซต์ตัวหนึ่ง ชื่อ "โควิดเอไอ" จะดึงข้อมูลจาก Thai Me และดึงข้อมูลจากส่วนอื่น เช่น จีพีเอส มาทำเป็นแผนที่ ให้ประชาชนเห็นและตรวจสอบโครงการและงบประมาณได้ง่าย เช่น อยากรู้ว่าตำบลนี้ได้เงินเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเท่าไร มีกี่โครงการ พัฒนาแหล่งน้ำเท่าไรเมื่อเทียบกับจังหวัดนี้ได้เท่าไร ตัวเงินเท่าไร สามารถสืบค้นข้อมูลได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ

หากกรมบัญชีกลางไม่ปิดกั้น และดึงข้อมูลมาได้ ก็จะช่วยตรวจสอบโครงการที่อนุมัติแล้วว่า มีการจัดซื้อหรือยัง จ่ายเงินหรือยัง ใครประมูลได้ จะทราบว่าใครเป็นผู้ประมูล มีการฮั้วประมูลหรือไม่ ก็จะช่วยเป็นนักสืบไซเบอร์ให้พวกเรา นอกจากนี้ จะมีการตั้งกลุ่มขึ้นมาช่วยคัดกรองโครงการที่ ครม.อนุมัติ ว่าโครงการนี้มีความเสี่ยงในการทุจริตระดับใด

ต้องใช้เงินให้ตรงเป้า

นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า แม้ไทยจะบริหารชีวิตคนให้รอดจากโรคโควิดได้ดี แต่การปิดประเทศทำให้มีปัญหาตามมา ซึ่งการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ถือว่าพอเหมาะกับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยมีการเยียวยาด้วยงบจำนวนมาก เช่น ไทยเข้มแข็ง เงินกู้ช่วงน้ำท่วม ก็พบช่องว่างในการเอื้อทุจริต ดังนั้น การใช้เงินในครั้งนี้ต้องระวัง เพราะมีเงินจำกัดหรือมีกระสุนไม่มาก เราต้องกู้เงินมา ทำให้เป็นหนี้คนละ 1.2 หมื่นบาท จึงต้องใช้ให้ตรงเป้า ทั่วถึง คุ้มค่า และได้ประโยชน์

ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิที่อยากเสนอให้มาร่วมตรวจสอบ ควรมาจากภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ภาควิชาการ และภาคธุรกิจ โดยจะตรวจสอบในเงินทุกก้อน แม้กระทั่งงบ 4.5 หมื่นล้านบาทด้านสาธารณสุข เพราะในอดีตที่ผ่านมาก็เคยพบการซื้อเวชภัณฑ์ผิดวัตถุประสงค์

"หากใช้เงินเข้าเป้า จะช่วยฟื้นฟูเยียวยาความเหี่ยวเฉาให้อยู่รอด แต่หากเทน้ำผิดที่ ให้ปุ๋ยผิดอย่าง ต้นไม้ก็ตาย ซึ่งขณะนี้มีการตั้งคณะอนุกรรมการพิเศษขึ้นมา 30 คน จะติดตามการใช้เงินกู้จากนี้ไปจนจบปี 2564 โดยจะติดตามการทำงานของคณะกรรมการกลั่นกรองเสนออนุมัติ ครม.อะไรบ้าง ติดตาม ครม.อนุมัติอะไร ซึ่ง ส.ว.เรามีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล จะกัดไม่ปล่อยจนกระทั่งจบงบ"


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ