ทอท.รับสภาพปี 64 เสี่ยงขาดทุน! ผู้โดยสารลด-รายได้หด-ขาดสภาพคล่องหนัก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทอท.รับสภาพปี 64 เสี่ยงขาดทุน! ผู้โดยสารลด-รายได้หด-ขาดสภาพคล่องหนัก

Date Time: 31 ก.ค. 2563 06:30 น.

Summary

  • ทอท.อ่วมผู้โดยสารหด 70% แม้ปี 63 รอดไม่ขาดทุน แต่ปีหน้าเสี่ยงขาดทุนแน่ หลังเจอปัญหาเงินช็อตขาดสภาพคล่องหนัก เตรียมดัน 4 กลุ่มธุรกิจต่อยอดสร้างรายได้

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ทอท.อ่วมผู้โดยสารหด 70% แม้ปี 63 รอดไม่ขาดทุน แต่ปีหน้าเสี่ยงขาดทุนแน่ หลังเจอปัญหาเงินช็อตขาดสภาพคล่องหนัก เตรียมดัน 4 กลุ่มธุรกิจต่อยอดสร้างรายได้ใหม่ฝ่าวิกฤติโควิด พร้อมยืดเวลาให้กลุ่มคิง เพาเวอร์ เข้าตกแต่งพื้นที่ดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน ออกไปอีก 1 ปี และเลื่อนนับสัญญาสัมปทาน เป็น 1 เม.ย.65–31 มี.ค.75 และปรับการจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ หลังโดนพิษโควิดถ้วนหน้า

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) (AOT) เปิดเผยว่า วิกฤติโควิด-19ส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการบิน ทั้งผู้ประกอบการเที่ยวบินต้นทุนต่ำที่มีพนักงานล้นเกินความต้องการ ขณะที่สายการบินแห่งชาติอยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ ขณะที่ ทอท.เองก็เจอภาวะผู้โดยสารลดลงมากจนถึงจุดต่ำสุดและคาดว่าจะใช้เวลาฟื้นกลับมาเป็นปกติเดือน ต.ค.ปี 65 โดยช่วงที่ยังไม่เปิดประเทศผู้โดยสารรวมของ ทอท.จะเหลือเพียง 25% จากยอดผู้โดยสารปกติ เนื่องจากเที่ยวบินระหว่างประเทศหายไปทั้งหมดและเที่ยวบินภายในประเทศชาวต่างชาติที่เป็นสัดส่วน 50% ไม่มีการเดินทาง

โดยตัวเลขผู้โดยสารล่าสุดวันที่ 29 ก.ค.63 มีเพียง 82,000 คน/วัน จากช่วงปกติมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 400,000 คนแบ่งเป็นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเหลือ 15,000คน จากเดิม 187,000 คน/วัน ลดลง 91.6% ท่าอากาศยานดอนเมือง เหลือ 40,000 คน/วัน จากเดิม 114,000 คน/วัน ลดลง 65% ขณะที่ท่าอากาศยานภูเก็ตลดลง 84% ท่าอากาศยานหาดใหญ่ลดลง 35% และท่าอากาศยานเชียงรายลดลง 40%

ดังนั้น ทอท.คาดการณ์ผู้โดยสารทั้งปี 63 จะหดตัว 72% เหลือ 38.81 ล้านคน จากปีก่อนซึ่งมียอดผู้โดยสาร 141 ล้านคน ขณะที่ปี 64 คาดผู้โดยสารจะฟื้นตัว 14% ยอดรวมทั้งปี 55 ล้านคน ส่วนปี 65 ตัวเลขผู้โดยสารจะเติบโตต่อเนื่องที่ 132% ยอดรวมทั้งปี 128 ล้านคน จากนั้นปี 66 ตัวเลขผู้โดยสารจะกลับมาเติบโตกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดอีกครั้งที่ 150 ล้านคน ส่งผลให้ ทอท.ต้องเดินหน้าลงทุนพัฒนาสนามบินต่อเนื่องและยืนยันว่าจะไม่หยุดลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมรับยุครุ่งเรืองของตลาดการท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง

“ตลาดการบินจะยังคงมืดมิดและคาดการณ์ไม่ได้จนกว่าจะมีวัคซีนรักษาโควิด-19 ถือเป็นอุปสรรคของ ทอท.ซึ่งต้องแบกต้นทุนไปพร้อมกับลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 63-64 มีความเสี่ยงที่จะเจอปัญหาขาดสภาพคล่องจนต้องเตรียมแผนสำรองเพื่อรับมือ แต่ทุกอย่างต้องอยู่บนเงื่อนไขว่าจะไม่มีโควิดระลอก 2”

นายนิตินัย กล่าวว่า ยืนยันว่าปี 63 ทอท.ยังไม่ขาดทุน เนื่องจากตุนเงินทุนสะสมไว้แล้วจากช่วงพีกของการท่องเที่ยวไตรมาสสุดท้ายปี 62 ดังนั้นปัญหาสภาพคล่องและสภาวะขาดทุนของ ทอท.อาจเกิดขึ้นในปี 64 ซึ่งถือเป็นอีกปีที่ตัวเลขผู้โดยสารตกต่ำมาก แม้ปัจจุบันจะมีเงินสดในมือ 50,000 ล้านบาท แต่ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะไม่เพียงพอในปี 64 จากงบเบิกจ่ายและลงทุนต่อเนื่อง หลังจากนี้ต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องกู้คงดำเนินการกู้ภายในประเทศ ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ 1.กู้สถาบันการเงิน2.ออกหุ้นกู้ (บอนด์) เพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน แต่สมมติฐานทั้งหมดอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าไม่มีการแพร่ระบาดโควิดระลอก 2

นายนิตินัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กิจการที่เกี่ยวเนื่องภายในสนามบิน ซึ่ง ทอท.มองเห็นปัญหาอยู่ 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.ครัวการบิน 2.คลังสินค้า 3.บริการภาคพื้น 4.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน มีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการรายเดิมอาจปิดกิจการ จนอาจส่งผลกระทบงานบริการผู้โดยสารภายในสนามบิน โดยเฉพาะกลุ่ม คลังสินค้าและบริการภาคพื้น ซึ่งมีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย หากรายใหญ่ล้มเลิกไป รายที่เหลือไม่มีศักยภาพเพียงพอบริการผู้โดยสารแน่นอน ขณะที่กลุ่มครัวการบินยังคงไม่มีความแน่นอนว่าการบินไทยจะเดินไปทางไหนต่อ ดังนั้น ทอท.จึงเตรียมสรุปข้อมูลเพื่อเสนอคณะกรรมการ ทอท.เพื่อเตรียมมาตรการรองรับ เช่น เตรียมความพร้อมบริษัทลูกของ ทอท.เพื่อเข้าไปดำเนินงานแทนผู้ประกอบการเดิม

สำหรับแผนการเพิ่มรายได้ช่วงวิกฤติการบินปี 63-64 นั้น ทอท.ได้ต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ใหม่ไว้ 4 ด้าน โดยทุกกลุ่มธุรกิจจะเริ่มทำเงินปี 64 ประกอบด้วย

1.ศูนย์รับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (Certify Hub) จดทะเบียนบริษัทแล้วเสร็จ ส.ค.นี้ก่อนเปิดบริการเต็มรูปแบบเดือน ธ.ค.นี้

2.เมืองการบินสุวรรณภูมิ ขณะนี้แปลงสีผังเมืองเสร็จแล้ว เปิดให้เอกชนเริ่มลงทุนเดือน ก.ย.-ต.ค. ควบคู่ไปกับการขยายสัญญาสัมปทานที่ดินแปลงบี 723 ไร่ ให้หมดอายุในปี 95 จากเดิมปี 75 เพื่อจูงใจนักลงทุน

3.บริษัทลูก ทอท. ขณะนี้เริ่มให้บริการด้านภาคพื้นแล้วที่สนามบินดอนเมืองและจะขยายไปสนามบินภูเก็ตเร็วๆนี้

4.แอปพลิเคชัน AOT Airports พบว่าได้รับความนิยมมากมีผู้ดาวน์โหลดถึง 500,000 ครั้ง สูงกว่าสนามบินชั้นนำในต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทอท. แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า คณะกรรมการอนุมัติการขยายเวลาการปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ และเลื่อนเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดการอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ของกลุ่มคิง เพาเวอร์ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินหาดใหญ่ ออกไปอีก 1 ปี เป็นนับตั้งแต่ 28 ก.ย.63-
31 มี.ค.65 และเลื่อนเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดการประกอบกิจการ (สัมปทาน) จากที่กำหนดไว้เดิม เป็นตั้งแต่ 1 เม.ย.65-31 มี.ค.75 เนื่องจากได้รับผลกระทบโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดไว้ รวมถึงมีผลต่อการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตามที่เสนอ จึงให้มีการปรับการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing Per Head)และจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ ยังอนุมัติขยายเวลาการเลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนและเลื่อนการชำระค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร ค่าบริการสนามบิน ให้กับผู้ประกอบการและสายการบินออกไปอีก.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ