“ทีวีดิจิทัล” เสียเปรียบอย่างหนัก แก้กติกาเอื้อประโยชน์ดาวเทียม-เคเบิลทีวี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ทีวีดิจิทัล” เสียเปรียบอย่างหนัก แก้กติกาเอื้อประโยชน์ดาวเทียม-เคเบิลทีวี

Date Time: 18 ก.ค. 2563 07:01 น.

Summary

  • ช่องทีวีดิจิทัลอาจโดดไปอยู่ช่องอื่น ที่ไม่ใช่ช่องเดิม บนแพลตฟอร์มของ ทรูวิชั่นส์ เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมทั้งหลาย โดยไม่ได้รับการเรียงช่อง หรือสามารถรักษาการเรียงช่องแบบเดิมไว้ได้

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เตือนบรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ถ้าไม่รักษาสิทธิตัวเองในการร่วมประชุมเพื่อหารือประเด็นการแก้ไขกฎระเบียบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ช่องทีวีดิจิทัลอาจโดดไปอยู่ช่องอื่น ที่ไม่ใช่ช่องเดิม บนแพลตฟอร์มของ ทรูวิชั่นส์ เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมทั้งหลาย โดยไม่ได้รับการเรียงช่อง หรือสามารถรักษาการเรียงช่องแบบเดิมไว้ได้

ทั้งนี้ หลังจากที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งว่า ประกาศของ กสทช.กรณีให้แพลตฟอร์มทรูวิชั่นส์ เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมต้องนำช่องต่างๆของทีวีดิจิทัลที่ กสทช.เปิดประมูลกันไปช่องละประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ไปไว้ในแพลตฟอร์มของตน และต้องเรียงช่องตามที่ กสทช.ออกประกาศไว้ เป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องนั้น มีผลทำให้ กสทช.ต้องยกเลิกประกาศฉบับเก่า และแก้ไขประกาศใหม่

โดยระบุว่า 1.เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมจะต้องนำทีวีดิจิทัลขึ้นไปบนแพลตฟอร์มเพื่อแพร่ภาพออกอากาศตามข้อกำหนดเรื่อง Must cary ด้วย ส่วนข้อ 2.ที่เดิมกำหนดให้เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมต้องเรียงช่องตามข้อกำหนดของ กสทช.ที่เปิดให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเข้าจับสลากเลือกช่องจนเป็นที่ยุติแล้วนั้นจะต้องแก้ไขใหม่ ภายใต้สาระสำคัญดังนี้คือ 1.ให้เรียงช่อง (ย้ายช่อง) ของทีวีเพื่อการสาธารณะใหม่ จากเดิมที่เคยให้ ช่อง 5 ขึ้นมาเป็นช่อง 1 ช่อง NBT ของกรมประชาสัมพันธ์ เป็นช่อง 2 และไทยพีบีเอส เป็นช่อง 3 ส่วนช่อง 4-5 เป็นช่องของรัฐสภาเป็นต้นนั้น เปลี่ยนเป็นให้ทีวีเพื่อการสาธารณะถอยลงไป 10 อันดับคือช่อง 1 ของช่อง 5 เปลี่ยนเป็นช่อง 11, ช่อง NBT เปลี่ยนเป็นช่อง 12 ส่วนช่องไทยพีบีเอส เปลี่ยนเป็นช่อง 13 ตามลำดับ

2.ช่องที่ว่างลงตั้งแต่ช่องที่ 1-10 ให้แพลตฟอร์มของเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมสามารถนำไปใช้หาประโยชน์ได้ 3.สำหรับทีวีดิจิทัล ให้คงเลขช่องไว้ดังเดิม ในกรณีนี้ หากผู้ประกอบการในช่องทีวีดิจิทัลเห็นว่าไม่เป็นธรรม เนื่องเพราะหากอยากเลื่อนอันดับช่องขึ้นมาอยู่ในช่องที่ 1-10 จะต้องเสียเงินค่าช่องใหม่ให้แก่เคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียม ซึ่งจ่ายค่าใบอนุญาตต่ำกว่าทีวีดิจิทัลมากเพียงแต่ใบละ 5-10 ล้านบาทเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้ความเห็นว่า การแก้ไขระเบียบในข้อที่ 2 จะทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์แก่เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม และทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดความลักลั่น มีหลายมาตรฐาน ทั้งที่ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลต้องจ่ายค่าใบอนุญาตให้แก่รัฐแพงลิ่วตามข้อมูลข้างต้น กลับจะต้องเสียเปรียบให้แก่เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมซึ่งนอกจากจะจ่ายค่าใบอนุญาตให้รัฐต่ำกว่าแล้ว ยังเพิ่งจะเข้าสู่ระบบกฎหมายที่ถูกต้องด้วย

กรณีนี้ หากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไม่ใช้สิทธิของตนเพื่อคัดค้านการดำเนินการดังกล่าว ในที่สุดทีวีดิจิทัลที่เหลืออยู่ 15 ช่องจะต้องได้รับความเสียหาย อาจถูกผู้ประกอบการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมยกเลิกการเรียงช่องเดิมที่ประชาชนผู้ชมคุ้นเคยแล้วไปอยู่กันในแบบกระจัดกระจาย หรือถูกโยนไปอยู่ในช่อง 120 หรือช่อง 200 ที่มีผลให้การดำเนินธุรกิจ และการแพร่ภาพออกอากาศของแต่ละช่องไม่มีโอกาสไปถึงประชาชนผู้ชมทั่วประเทศได้

“การแก้ไขประกาศเดิมของ กสทช.ที่จะไม่กระทบกระเทือนทีวีดิจิทัลเลยก็คือ แก้ข้อกำหนดท้ายประกาศที่จะให้มีการจัดการช่องเป็นหมวดหมู่ โดยตัดข้อความนั้นทิ้ง ส่วนข้อความที่กำหนดให้ต้องเรียงช่องของทีวีดิจิทัลให้คงไว้” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกล่าว

สำหรับทีวีดิจิทัลที่เปิดประมูลใบอนุญาตเดิม เปิดประมูลรวม 24 ช่อง หลังจากนั้น ผู้ประกอบการช่อง Loca (ช่อง 15) และไทยทีวี (ช่อง 17) ของบริษัททีวีพูลขอยุติการออกอากาศเพราะสู้ภาวะขาดทุนต่อไปไม่ได้ เช่นเดียวกับอีก 7 ช่องที่ กสทช.เปิดโอกาสภายหลังให้คืนใบอนุญาตได้ด้วยเหตุผลเดียวกันเช่น ช่อง 3 FAMILY, MCOT FAMILY, SPRING NEWS, BRIGHT TV, VOICE TV, SPRING 26 และช่อง 3 SD

ส่วนทีวีดิจิทัลที่ยังอยู่อีก 15 ช่อง ได้แก่ TNN 24 (ช่อง 16), NEW TV 18 (18), NATION TV (ช่อง 22) WORK POINT TV (ช่อง 23), TRUE 4U (ช่อง 24), GMM 25 (ช่อง 25), RS 8 (ช่อง 8), MONO 29 (ช่อง 29), MCOT HD (ช่อง 30), ONE (ช่อง 31), ไทยรัฐทีวี (ช่อง 32), 3HD (ช่อง 33), อมรินทร์ทีวี (ช่อง 34), ช่อง 7HD (ช่อง 35) และ PPTV 36 (ช่อง 36) สำหรับการประชุมระหว่างผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกับ กสทช.ครั้งหน้าจะมีขึ้นในวันที่ 4 ส.ค.นี้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ