นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงนักวิเคราะห์ถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย หลังปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ -8.1% รวมทั้งแนวทางในมาตรการรองรับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยระบุว่า หากพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจไทยที่มีอยู่ในขณะนี้ ธปท.ยังคงมองว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.ที่ระดับ -10 ไม่เกิน -20%) และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มขยับดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 (ก.ค.-ก.ย.) และยังคงต้องติดตามความผันผวนของระบบการเงิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ทั่วโลก และความผันผวนต่อค่าเงินบาทด้วย เพราะอาจส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ ราคาตราสารหนี้ และราคาหุ้นเกิดปัญหาได้
ทั้งนี้ จะต้องมีการประสานนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังเพื่อเยียวยาผลกระทบในระยะสั้น และลดผลกระทบระยะยาวต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยในขณะนี้บทบาทของนโยบายการคลังถือเป็นพระเอก ส่วน ธปท.ได้ออกมาตรการเป็น 3 ขั้นตอนคือ 1.ป้องกันไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกในระบบการเงิน และสถาบันการเงิน 2.เยียวยา และบรรเทาผลกระทบในส่วนของสภาพคล่อง และภาระหนี้สิน และ 3.เน้นการปรับโครงสร้างหนี้ของภาคธุรกิจที่มีปัญหาให้เหมาะสมกับสภาพการเงิน และเอื้อต่อการฟื้นฟูธุรกิจให้สามารถเดินหน้าต่อได้
จากการออกมาตรการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ 500,000 ล้านบาท ของ ธปท.ที่มียอดล่าสุด (13 ก.ค.) อยู่ที่ 103,000 ล้านบาท อาจต่ำกว่าคาด แต่วัตถุประสงค์ของสินเชื่อโครงการนี้มี 2 ส่วนคือเยียวยาสภาพคล่องในช่วงแรก และเตรียมพร้อมเพื่อปรับโครงสร้างหนี้-ปรับโครงสร้างเอสเอ็มอีให้ทำธุรกิจตามวิถีชีวิตใหม่ต่อไป เพราะโครงการนี้ระยะ 6 เดือนถึงสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ ต่ออายุได้ 2ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน รองรับการให้สินเชื่อเอสเอ็มอีที่จะฟื้นตัวในปีหน้าด้วย
สำหรับปัญหาแรงงาน หรือคนตกงาน ซึ่งอาจจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 3 เป็นสิ่งที่ ธปท.ห่วงมากที่สุด โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการที่ประสบปัญหาหนัก ขณะที่กำลังการผลิตที่เหลือมากในภาคอุตสาหกรรม และแนวโน้มการนำเทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์เข้ามาใช้มากขึ้น จำเป็นต้องมีนโยบายเพิ่มทักษะแรงงานให้ก้าวข้ามไปทำงานในวิถีของเศรษฐกิจใหม่เป็นสำคัญ โดย ธปท.พร้อมสนับสนุนด้วยนโยบายการเงิน และสินเชื่อ
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวเพิ่มเติมถึงการระบาดรอบที่ 2 ของโควิด-19 ว่า ธปท.ได้หารือกับทางกรมควบคุมโรค และได้รับข้อมูลว่าคงจะเป็นไปได้ยากที่จะคุมให้เป็นศูนย์ไปได้ตลอด แต่จะต้องเป็นการระบาดที่ควบคุมได้หากมีผู้ติดเชื้อใหม่ราว 20-30 คนต่อวัน ก็อยู่ในวิสัยของการรักษาพยาบาลของประเทศ ส่วนนี้อยู่ในประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของ ธปท.แล้ว แต่หากมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น จะต้องติดตามสถานการณ์อีกครั้งอย่างใกล้ชิด
“หากไม่รุนแรง ธปท.ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 2 แต่ ธปท.ประมาณการในกรณีเลวร้ายว่า จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยอาจขยับไปอยู่ที่ไตรมาส 3 โดยปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นมาจากต่างประเทศเป็นหลัก หากเศรษฐกิจโลกไม่สามารถฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 2จากการระบาดที่ยังรุนแรงในบางประเทศหรือมีการระบาดรอบสอง จะกระทบต่อการท่องเที่ยว ส่งออก เศรษฐกิจไทยก็อาจจะลดต่ำลงต่อได้เช่นกัน”
ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการธปท. สายเสถียรภาพระบบการเงิน กล่าวว่า ในการดูแลระบบการเงิน และการดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายการเงินนั้น ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เตรียมหาข้อมูลการดำเนินนโยบายการเงินในต่างประเทศไว้ และสั่งให้มีการศึกษา และเตรียมความพร้อมในเครื่องมือต่างๆ เช่น การควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหรืออัตราดอกเบี้ย (yield curve control) หรือการดูแลสภาพคล่อง หรือคิวอี ก็เป็นสิ่งที่ ธปท.ทำการศึกษา อย่างไรก็ตาม ธปท.จะต้องดูความเหมาะสมของเศรษฐกิจไทย และมาตรการที่ออกมา เพราะทุกมาตรการไม่ได้ฟรี มีต้นทุน ธปท.คงไม่ทำมาตรการเพราะต่างประเทศทำเท่านั้น
ต่อข้อถามที่ว่า นโยบายดอกเบี้ยควรจะลดลงอีกหรือไม่ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นศูนย์ได้หรือไม่นั้น นายเมธี กล่าวว่า ในความคิดผม อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นศูนย์คงเป็นไปได้ยาก และช่วงที่ผ่านมาการลดดอกเบี้ยของ ธปท.ได้ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดให้ลดลงได้ดีพอควร โดยเฉพาะผลจากการลดเงินนำส่งของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) แต่การลดดอกเบี้ยนโยบายจะต้องดูภาพรวมของเศรษฐกิจด้วย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้สั่งให้ศึกษาผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากๆ ต่อสถาบันการเงินต่อประชาชน และต่อภาพรวมและศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศต้องการการออมเพื่อรองรับการเกษียณอายุ และการออมเพื่อการศึกษา.