นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่สำรวจจากความเห็นประชาชน 2,241 คนทั่วประเทศว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ในระยะ (เฟส) ที่ 3-4 ประกอบกับ รัฐบาลออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งมาตรการด้านการเงินและการคลัง เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.63 อยู่ที่ระดับ 49.2 เพิ่มขึ้นจาก 48.2 ในเดือน พ.ค.63 แต่ยังอยู่ในช่วงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ทำการสำรวจมาในรอบ 21 ปี 9 เดือนตั้งแต่เดือน ต.ค.41 เป็นต้นมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่ 33.2 เพิ่มขึ้นจาก 32.2 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 56.8 เพิ่มขึ้นจาก 55.7 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 41.4 เพิ่มจาก 40.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางาน อยู่ที่ 47.6 เพิ่มขึ้นจาก 46.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 58.6 เพิ่มจาก 57.7
อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการว่างงานในอนาคต ที่จะส่งผลต่อ กำลังซื้อภายในประเทศ การท่องเที่ยว การส่งออก และธุรกิจโดยทั่วไป คาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างน้อย 3-6 เดือนจนกว่าโควิด-19 จะคลายตัว รวมถึงกังวลสถานการณ์การเมืองที่จะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ และปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จะติดลบหนักสุดที่ 10-15% และคาดว่าประชาชนจะพร้อมกลับมาใช้จ่ายปกติจากนี้ไปอีก 1 ปี ทั้งนี้ ศูนย์คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ น่าจะติดลบมากถึง 8-10% และจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 64 หากการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย
ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ จากการสำรวจพบว่า ประชาชนให้ความสนใจใช้สิทธิ์มาตรการเราไปเที่ยวกันน้อยมาก โดยน่าจะมาจากความกังวลโควิด-19 เศรษฐกิจ และการจ้างงาน รวมถึงความยุ่งยากในการลงทะเบียน อย่างไรก็ตาม ต้องการให้รัฐบาลนำงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาทเข้ามาสู่ระบบโดยเร็วที่สุด ผลักดันให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) เข้าถึงมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ด้วยการใช้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาช่วยเสริม.