6 ปีทีวีดิจิทัล “นที ศุกลรัตน์” ยืนยันนโยบายเดินมาถูกทาง รัฐได้เงินลดการผูกขาดผู้ประกอบการทีวี มีทีวีเพื่อการศึกษา และที่สำคัญ ทีวีดาวเทียมและเคเบิล ที่ใช้ปลุกระดมทางการเมืองสูญพันธุ์ ทำให้เกิดความสงบในบ้านเมือง
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การดำเนินนโยบายทีวีดิจิทัล ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา (พ.ค.2557- พ.ค.2563) ถือว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้อง นอกจากรัฐ จะได้เงินจากการประมูลทีวีดิจิทัล 50,000 ล้านบาท ยังทำให้ประเทศไทย มีช่องทีวีเพิ่มขึ้น ประชาชนมีทางเลือกในการรับชมเนื้อหารายการที่ดี และมีความหลากหลาย อีกทั้งในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยังมีทีวีเพื่อการศึกษา อีก 17 ช่อง ตั้งแต่ช่อง 37-53 และที่สำคัญคือ ไม่มีทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกระดมทางการเมืองอีกต่อไป ทำให้เกิดความสุขสงบในประเทศชาติ
ส่วนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบทีวีดิจิทัลนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องสรรหาเนื้อหารายการดีๆมาให้ผู้ชม เพื่อเรียกความนิยม (เรตติ้ง) ขณะที่ปัญหาเรื่องต้นทุนนั้น กสทช.ได้ช่วยเหลือในหลายๆมิติแล้ว ทั้งไม่ต้องจ่ายค่าประมูลในส่วนที่เหลือ ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายทีวี (MUX) รวมถึงการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาต การขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมรายปี และกสทช.กำลังพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
“การประมูลคลื่นทีวี กสทช.ต้องทำตามกฎหมาย ส่วนการทำธุรกิจ บางคนทำได้ บางคนทำไม่ได้ กสทช.ก็พยายามช่วยเต็มที่ สิ่งใดช่วยได้ก็ช่วย เกินอำนาจก็ช่วยไม่ได้ ผมเชื่อว่าทุกคนเข้าใจ เพราะการทำธุรกิจมีความเสี่ยง และสิ่งสำคัญที่เห็นผลชัดเจน คือ ลดการผูกขาดธุรกิจทีวี จากเดิมมี 3-4 ราย เพิ่มเป็น 10 กว่าราย เพราะมีผู้ประกอบการรายใหม่ เข้าสู่วงการธุรกิจทีวีดิจิทัล ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัว หากยังคงรูปแบบเดิมๆ ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้”
สำหรับการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลในประเทศ ไทย ถือว่าเร็วที่สุดในอาเซียน ขณะที่หลายๆ ประเทศ กำลังเร่งดำเนินการ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวถือเป็นการใช้เทคโนโลยี มาปฏิรูปและบริหารจัดการอุตสาหกรรมทีวีของไทย ให้มีคุณภาพดีขึ้นใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ กสทช. สามารถนำคลื่นความถี่มาประมูล 5 จีได้ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการ 5 จี บนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ได้ราวต้นปี 2564
พ.อ.นที กล่าวต่อว่า กสทช.อยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนข้อดีและข้อเสียประกาศ กสทช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์รายการ โทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป หรือกฎมัสต์แฮฟ (Must Have) ในกรณีซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดรายการกีฬา 7 ประเภท ประกอบด้วย ซีเกมส์ อาเซียนพาราเกมส์ เอเชียนเกมส์ เอเชียนพาราเกมส์ โอลิมปิก พาราลิมปิก และ ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย โดยมีแนวคิดจะนำเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาสนับสนุน เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับชมรายการ 7 ประเภท อย่างทั่วถึง
ส่วนกรณีดูทีวี ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือนั้น หากไม่ใช่รายการทีมีลิขสิทธิ์ ก็สามารถรับชมได้ แต่หากเป็นรายการลิขสิทธิ์ ทางผู้ซื้อลิขสิทธิ์ไม่ยินยอม ก็ต้องจอดำ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาของผู้ประกอบการกันเอง ซึ่ง กสทช.ยืนยันไปแล้วว่า การนำรายการมาออกอากาศทางฟรีทีวี ไม่ว่าจะผ่านโครงข่ายใด คนไทยในประเทศไทย ต้องได้ดูเนื่องจากออกอากาศบนฟรีทีวี.