ระดมพลสายการบินก่อนเปิดฟ้า ยกเลิกข้อบังคับขายตั๋วเว้นที่นั่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ระดมพลสายการบินก่อนเปิดฟ้า ยกเลิกข้อบังคับขายตั๋วเว้นที่นั่ง

Date Time: 17 มิ.ย. 2563 07:45 น.

Summary

  • ระดมพลสายการบินรับทราบมาตรฐานการบินระหว่างประเทศยุคโควิด ก่อนเปิดน่านฟ้าสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ยกเลิกขายตั๋วเว้นที่นั่ง, ห้ามเสิร์ฟอาหารไฟลท์บินต่ำกว่า 2 ชั่วโมง, ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ระดมพลสายการบินรับทราบมาตรฐานการบินระหว่างประเทศยุคโควิด ก่อนเปิดน่านฟ้าสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ยกเลิกขายตั๋วเว้นที่นั่ง, ห้ามเสิร์ฟอาหารไฟลท์บินต่ำกว่า 2 ชั่วโมง, ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา และอาหารเครื่องดื่มต้องปิดผนึกแน่นหนา ขณะที่สายการบินยังแขยงกลัวไม่คุ้มทุน คาดระหว่างประเทศเริ่มให้บริการ ก.ย.

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการสายการบินของไทยและต่างประเทศที่ให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศและผู้ที่เกี่ยวข้องว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อชี้แจงข้อกำหนดและเงื่อนไขการเดินอากาศใหม่ ที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้กำหนดภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อให้สายการบินและผู้ประกอบการสนามบิน ได้รับทราบถึงมาตรการและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน หากรัฐบาลผ่อนปรนให้เดินทางระหว่างประเทศและ กพท.ประกาศเปิดน่านฟ้าให้ทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศได้ เพื่อให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีสายการบินใดแสดงความจำนงที่จะให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ แม้ว่าประกาศ กพท.เดิมกำหนดปิดน่านฟ้าสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2563 ที่จะถึง เนื่องจากสายการบินยังกังวลประเด็นของผู้ที่เดินทางที่จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสาธารณสุข และรัฐบาลยังห้ามการเดินทางเข้าประเทศ ทำให้คาดการณ์ว่าปีนี้ จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศในประเทศไทย จะหายไปถึง 70% เหลือเดินทาง 30% เท่านั้น และเกือบทั้งหมดเป็นเส้นทางภายในประเทศ และคาดว่าการบินในเส้นทางระหว่างประเทศ จะเริ่มกลับมาได้ในช่วงเดือนกันยายนนี้ แต่ยังไม่ปกติ 100% จะเป็นลักษณะการทยอยเปิดบริการ

นายจุฬา กล่าวอีกว่า สายการบินต้องการทราบแนวทางและมาตรการในทางปฏิบัติที่ชัดเจนจากภาครัฐ รวมถึงขั้นตอนที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติหากต้องการเดินทางไปต่างประเทศ มาตรการของประเทศปลายทาง เพื่อประเมินสถานการณ์ รวมทั้งความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะกลับมาเปิดบินอีกครั้งเมื่อไร ซึ่งขณะนี้สายการบินทั้งหมดยังไม่สามารถประเมินปริมาณความต้องการของผู้โดยสารได้ จึงต้องรอดูสถานการณ์จนถึงสิ้นเดือนนี้ เพื่อไม่ให้การกลับมาบินอีกครั้ง ทำให้ต้องประสบภาวะขาดทุนหรือไม่คุ้มทุน นอกจากนั้นจากข้อมูลของ IATA ที่ทำการสำรวจข้อมูลจาก 122 สายการบินทั่วโลก พบว่าการทำการบินแต่ละครั้ง จะต้องมีผู้โดยสารบนเครื่องบิน (Load Factor) ไม่น้อยกว่า 77% จึงจะคุ้มทุน หากจำนวนผู้โดยสารต่ำกว่านั้น อาจเสี่ยงกับการขาดทุนได้

สำหรับข้อกำหนดและเงื่อนไขการเดินอากาศใหม่ที่ได้ชี้แจงสายการบินและผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย ข้อกำหนดยกเลิกการเว้นที่นั่งภายในเครื่องบิน เนื่องจากสถานการณ์คลี่คลายลง โดยก่อนหน้านี้กำหนดให้เว้นระยะที่นั่งทำให้สายการบินขายตั๋วได้เพียง 50% ทำให้ต้องขายราคาแพงเพื่อให้คุ้มทุนในการทำการบิน, การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์กรองอากาศและระบบหมุนเวียนอากาศภายในเครื่องบินให้เหมาะสม, ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง, ห้ามเสิร์ฟอาหาร และเครื่องดื่มในเส้นทางที่ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง, การจัดเตรียมอาหารและน้ำดื่มจะต้องมีการปิดผนึกแพ็กเกจ

นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดในการกันพื้นที่นั่งแยกไว้รองรับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยออกจากผู้โดยสารปกติ โดยสายการบินจะต้องประเมินความเสี่ยงของเส้นทางที่จะไป หากเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง ถือว่าความเสี่ยงต่ำ จะกันพื้นที่ไว้หรือไม่ก็ได้ ส่วนการเปิดน่านฟ้าให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ต้องอยู่ภายใต้การตัดสินใจของรัฐบาล เบื้องต้นมองว่านักธุรกิจมีความเสี่ยงน้อยกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากแต่ละบริษัทจะมีมาตรการคัดกรองและดูแลสุขภาพของผู้ที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศอยู่แล้วและสามารถตรวจสอบได้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ