CPTPP เกมที่คนไทยไม่มีวันชนะ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

CPTPP เกมที่คนไทยไม่มีวันชนะ

Date Time: 16 มิ.ย. 2563 09:00 น.

Summary

  • สัปดาห์ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)”

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

สัปดาห์ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)”

โดยมีองค์ประกอบ 49 คน จากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคู่กรณี ที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม (NGOs)

รวมถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ (กมธ.) ยังตั้งคณะอนุกรรมาธิการอีก 3 คณะ เพื่อช่วยศึกษาประเด็นสำคัญที่ยังมีความเห็นขัดแย้งในสังคมไทย ได้แก่ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาด้านเมล็ดพันธุ์และการเกษตร ศึกษาด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน และศึกษาผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุข

แม้เป็นเรื่องดีที่ทำให้เห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้ ก่อนที่จะประกาศตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือไม่ แต่ก็ทำให้กลุ่มที่คัดค้าน ผิดหวังไปตามๆกัน!!

เนื่องจาก กมธ.มีเวลาศึกษา 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่า พิจารณาทุกวัน ทั้ง 30 วันเต็ม แต่ กมธ.กำหนดเวลาประชุมอาทิตย์ละ 2 วัน รวม 8 วัน ก่อนสรุปผลศึกษา และรายงานต่อสภาฯ

จึงเป็นที่จับตามองว่า ผลการศึกษาจะออกมาอย่างไร และน่าเชื่อถือเพียงใด??

เพราะเวลา 8 วัน ไม่น่าเพียงพอกับการพิจารณาสาระของความตกลงที่มีมากถึง 30 บท รวมทั้งเอกสารประกอบในรูปแบบต่างๆ ทั้งกฎเกณฑ์พิเศษ ข้อผูกพันของสมาชิก หนังสือข้อตกลงสองฝ่าย และข้อตัดสินใจร่วม

ซึ่งล้วนแต่จำเป็นต้องศึกษาให้ละเอียด ตีความชัดๆ ทุกตัวอักษร ไม่เช่นนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าการจะเข้าเป็นสมาชิก มีข้อดี ข้อเสีย หรือกระทบกับไทยอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นที่จะกระทบกฎหมายไทย

เพราะ CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีสมาชิก 11 ประเทศ ทั้งประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา มีกฎเกณฑ์การเปิดเสรีทางการค้าระดับสูง ประเทศที่แข็งแกร่งเท่านั้นจะได้ประโยชน์ ส่วนประเทศอ่อนแอถูกเอาเปรียบแน่นอน!!

นอกจากนี้ ยังเคลือบแคลงสงสัยถึง “ความเป็นกลาง” ของประธาน กมธ. หลัง “นายวีระกร คำประกอบ” ส.ส.พลังประชารัฐ ประธาน กมธ. ให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้าไทยไม่เข้าร่วม ก็เหมือนตกรถเมล์”

ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า กมธ.จะศึกษาข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ยึดผลประโยชน์ของประเทศโดยรวม โดยไม่ใช้หลัก “เสียงข้างมาก” สรุปผลการศึกษาหรือไม่??

เพราะการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว เหมือน “ตั้งธง” ตั้งแต่ต้นและ “เดา” ได้เลยว่า ผลการศึกษาของ กมธ.จะถูกใจกองเชียร์ที่ต้องการให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่ขัดใจกลุ่มคัดค้านอย่างที่สุด

หากใช้เสียงข้างมากลากไปจริง ผลการศึกษาย่อมเป็น “สีเทา” และไม่น่าเชื่อถือ ไม่ต่างอะไรกับผลศึกษาที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาคุ้นหน้าคุ้นตากันดีในกระทรวงพาณิชย์ ศึกษาผลดี ผลเสียของการเข้าร่วมตั้งแต่ปี 61 และผลออกมาในทางบวกตามธงที่ “คนในรัฐบาล” ตั้งไว้

เนื่องจาก “คนในรัฐบาล” ถูกนักลงทุนต่างชาติ “ล็อบบี้” ผลักดันให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกให้ได้ เพื่อหวังผลประโยชน์ของชาติตน ทำให้ “คนในรัฐบาล” ดิ้นทุกทางให้ไทยเข้าร่วม และออกข่าวตลอดว่าการเข้าร่วมไทยจะได้ประโยชน์ เพราะสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการลงทุนของต่างชาติ โดยแทบไม่ฟังเสียงค้านของประชาชนเลย

อย่างไรก็ตาม หากผลการศึกษาของ กมธ.เป็น “สีเทา” จริง และรัฐบาลใช้ผลการศึกษานี้เป็นตัวตัดสินใจเกาะ “รถเมล์” คันนี้จริง ความ ขัดแย้งจะไม่จบสิ้น พลังคัดค้าน CPTPP ของคนไทยจะขยายวงกว้าง และทวีความรุนแรงขึ้นแน่นอน

“น.ส.กรรณิการ์ กิตติเวชกุล” รองประธาน FTA Watch หัวหอกคัดค้าน CPTPP เรียกร้องให้คนไทยจับตาการทำงานของ กมธ. โดยย้ำว่า “หากประชาชนไม่จับตาอย่างเข้มข้นแล้ว การใช้เสียงข้างมากลากไปอาจเกิดขึ้นได้ และเมื่อนั้นกระบวนการทางสภาฯ จะเป็นแค่เพียงตรายางอย่างสมบูรณ์แบบ” ถึงเวลาที่ กมธ. หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาล ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงของผลดี ผลเสีย อย่างตรงไปตรงมา

อย่าปิดบังอำพราง เพื่อเอาใจคนบางกลุ่ม ที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์แล้วจากไป โดยไม่มองความเสียหายประเทศชาติ และประชาชนเลย.

สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ