นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ จะหารือจุดยืนของ กกร.ต่อบทบาทของรัฐบาลไทย ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี-CPTPP) โดยเบื้องต้น คาดว่าที่ประชุม กกร.จะสนับสนุนให้เข้าร่วมเจรจาเพื่อไม่ให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังจะหารือถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และการที่รัฐบาลได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) จนเข้าสู่ระยะที่ 3 และกำลังเข้าระยะที่ 4 คาดว่าจะเริ่มทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้น ดังนั้นคาดว่า กกร.จะยังคงประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ โดยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ระดับ -5.0% ถึง -3.0% ส่วนการส่งออกที่ -10.0% ถึง -5.0%
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้เคยมีมติภายในองค์กร ส.อ.ท. ที่จะสนับสนุนการเข้าร่วม CPTPP หลังจากที่ประเทศไทยหลุดขบวนการเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำ แต่ภายหลังปรับมาเป็น CPTPP ที่มีญี่ปุ่นเป็นผู้นำ ดังนั้น ส.อ.ท.ได้หารือและเห็นว่าประเทศไทยควรเข้าร่วมเจรจา CPTPP ก่อน แล้วค่อยพิจารณาการเป็นสมาชิก เพื่อไม่ให้ประเทศไทยหลุดขบวนและเสียโอกาสการรับรู้ท่าทีเพราะต้องเข้าใจว่าสมาชิก CPTPP ที่มีอยู่ปัจจุบัน 11 ประเทศเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเข้าร่วมการเจรจา CPTPP แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่.