นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่า กระทรวงการคลังหนุนแนวคิดเจ้ากระทรวงคมนาคมที่ให้งดจ่ายโบนัสพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่งในปี 63 และให้นำส่งคลังเป็นรายได้รัฐบาล รวมทั้งให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย, บมจ.ปตท. และ บมจ.ธนาคารกรุงไทย จ่ายเงินปันผลเพิ่มเติมให้กระทรวงการคลัง เพื่อนำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คลี่คลาย และจะมีการหารือเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) นั้น
ขอชี้แจงว่า กระทรวงการคลังไม่มีนโยบายดังกล่าว และจะไม่มีการนำเสนอให้ คนร.แต่อย่างใด สำหรับการจ่ายโบนัสพนักงานรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นเรื่องภายในองค์กรที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจจะพิจารณาตามผลประกอบการและเชื่อมโยงกับคะแนนประเมินผลการดำเนินงานประจำปีของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งจะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจในปี 63 จะยังคงยึดเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในเอกสารงบประมาณรายรับ ประจำปีงบประมาณ 63 เช่นเดิม
ขณะที่ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (1 ต.ค.62-31 พ.ค.63) สคร. จัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินสะสมจากรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของกิจการจำนวน 149,283 ล้านบาท สูงกว่าเป้าสะสมจำนวน 4,748 ล้านบาท หรือคิดเป็น 79% ของเป้าหมายทั้งปีงบ 63 จำนวน 188,800 ล้านบาท
ส่วนในเดือน พ.ค.63 สคร.จัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจได้จำนวน 4,361 ล้านบาท โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่
1.บมจ. ปตท. 29,198 ล้านบาท
2.กฟผ. 28,619 ล้านบาท
3.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 27,674 ล้านบาท
4.ธนาคารออมสิน 18,000 ล้านบาท
5.บมจ.ท่าอากาศยานไทย 10,500 ล้านบาท
6.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 5,922 ล้านบาท
7.กฟภ. 5,733 ล้านบาท
8.การท่าเรือแห่งประเทศไทย 4,020 ล้านบาท
9.บมจ.กสท โทรคมนาคม 3,891 ล้านบาท
10.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 3,839 ล้านบาท
และ 11.อื่นๆ 11,887 ล้านบาท.