ศาลนัดฟังคำสั่งขอฟื้นฟูวันนี้ ตั้ง 9 ซุปเปอร์บอร์ดตัวแทนรัฐติดตามบินไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ศาลนัดฟังคำสั่งขอฟื้นฟูวันนี้ ตั้ง 9 ซุปเปอร์บอร์ดตัวแทนรัฐติดตามบินไทย

Date Time: 27 พ.ค. 2563 08:01 น.

Summary

  • ศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำสั่งว่าจะรับคำร้องขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทยหรือไม่ ขณะที่การบินไทยเปิดรายชื่อ 6 อรหันต์ ผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

วันนี้ (27 พ.ค.) ศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำสั่งว่าจะรับคำร้องขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทยหรือไม่ ขณะที่การบินไทยเปิดรายชื่อ 6 อรหันต์ ผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ด้าน “บิ๊กตู่” ตั้ง 9 ซุปเปอร์บอร์ด ดัน “วิษณุ” นั่งหัวโต๊ะ เป็นตัวแทนรัฐบาลเป็นตัวกลางติดตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ หลังบินไทยพ้นสถานะรัฐวิสาหกิจ ด้านคลังรอใช้สิทธิ์เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลล้มละลายกลาง เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 พ.ค. ทีมทนายความผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เดินทางมายื่นคำร้องเพื่อขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทย ภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยแนบเอกสารท้ายฟ้องจำนวนหนึ่ง

ต่อมาเมื่อเวลา 16.30 น. มีรายงานว่าภายหลังจากที่ศาลล้มละลายได้รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้วได้มีคำสั่งว่าคดีนี้มีรายละเอียดที่จะต้องพิจารณาและมีผู้มีส่วนได้เสียเป็นจำนวนมาก จึงให้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 27 พ.ค.ว่าจะรับคำร้องการขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของบริษัทการบินไทยไว้หรือไม่ ทั้งนี้ ตามกระบวนการหากศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณา ขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการนัดไต่สวนลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย ภายใน 1-2 เดือน นับแต่วันรับคำร้องขอ ขึ้นอยู่กับจำนวนเจ้าหนี้และภูมิลำเนาของเจ้าหนี้ ก่อนที่จะมีคำสั่งให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการหรือไม่

เปิดชื่อ 6 อรหันต์ผู้ทำแผนฟื้นฟู

ทั้งนี้ ได้มีการแนบรายชื่อตัวแทนของการบินไทย ที่จะเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลางด้วย ซึ่งล้วนเป็นบอร์ดการบินไทย ประกอบด้วย 1.พลอากาศเอกชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธาน 2.นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) 3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 4.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ 5.นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร 6.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

ขณะที่มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 145/2563 ลงนามวันที่ 25 พ.ค.63 และรายงานให้ที่ประชุม ครม.วันที่ 26 พ.ค.63 รับทราบ เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย ระบุว่า ตามที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 19 พ.ค.63 เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทย โดยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลล้มละลาย และให้กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และบริษัทการบินไทยรับไปดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) นั้น

แม้ผลจากการนี้จะทำให้การบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด และกระบวนการฟื้นฟูกิจการจะเป็นไปตามขั้นตอนและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายโดยเฉพาะก็ตาม แต่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ยังคงถือหุ้นในบริษัทจำนวนมาก อีกทั้งการประกอบกิจการของบริษัท เกี่ยวพันกับกฎหมายและกฎระเบียบของทางราชการ ที่ต้องอาศัยการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ และการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ และรัฐยังจำเป็นต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ ครม.จึงควรมีโอกาสรับทราบความคืบหน้า ในการดำเนินการเป็นระยะ โดยมีระบบกลั่นกรอง และช่วยตรวจสอบในส่วนของภาครัฐ

รัฐตั้ง 9 ซุปเปอร์บอร์ดติดตามดูแล

นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ ครม. จึงมีคำสั่งให้มีคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินไทย ประกอบด้วย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และกรรมการ คือนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีต รมว.คลัง นายประสงศ์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และนายประ-ภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นกรรมการและเลขานุการ

โดย 1.ให้มีหน้าที่และอำนาจ เป็นตัวแทนภาครัฐในการติดตามการแก้ปัญหาการบินไทย ในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาล และการดำเนินการอื่นในทุกขั้นตอน 2.ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการบินไทย เฉพาะที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของภาครัฐ โดยไม่เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาของศาล 3.กลั่นกรอง ตรวจสอบ และอำนวยความสะดวกกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แก่กระบวนการพื้นฟูกิจการ และการดำเนินกิจการของการบินไทยตามที่มีการร้องขอและไม่ขัดต่อกฎหมาย 4.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือ ครม.มอบหมาย 5.รายงานการปฏิบัติงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเป็นระยะๆ

เป็นตัวกลางประสานรัฐบาลกับบินไทย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ ไม่ใช่ซุปเปอร์บอร์ด แต่เป็นบอร์ดที่เชื่อมโยงในฐานะคนกลางระหว่างรัฐบาลกับการบินไทย ซึ่งเดิมไม่ต้องมีตัวกลาง เพราะตอนเป็นรัฐวิสาหกิจสามารถติดต่อได้เอง แต่เมื่อเป็นเอกชนแล้วจำเป็นต้องมีคนกลาง หากถามว่าทำไมต้องมีคนกลางและทำไมต้องติดต่อ คำตอบคือ สหกรณ์และรัฐวิสาหกิจ 80 กว่าแห่ง ถือหุ้นกู้ของการบินไทย ซึ่งจะมีคนเดือดร้อน อีกทั้งตำรวจยังต้องมีการสอบสวนว่าใครผิดใครถูกในเรื่องการขายตั๋วหรือขายอะไรต่อมิอะไร ขณะเดียวกันมีการยื่นเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟู ข้อสำคัญคือการบินไทยยังสามารถบริหารองค์กรอยู่ได้ โดยยังต้องใช้สนามบินและติดต่อกองทัพอากาศ ซึ่งหากไม่ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ ก็จะไม่มีช่องทางตรงนี้และอาจทำให้การฟื้นฟูสะดุดได้ ยืนยันว่าไม่ใช่ซุปเปอร์บอร์ดแต่เป็นเพียงมินิบอร์ด บอร์ดกระจอก

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลังกล่าวในทำนองเดียวกันว่า เป็นเพียงคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาของการบินไทยที่รัฐตั้งขึ้นมา เพื่อนำกลับมารายงาน ครม. ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูของการบินไทย เพราะหากมีอะไรที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วย คณะกรรมการชุดนี้ก็จะเป็นผู้มารายงานให้ ครม.รับทราบ คณะกรรมการชุดนี้ เป็นการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงการคลังและคมนาคม แต่คณะกรรมการชุดนี้จะไม่เข้าไปแทรกแซงเกี่ยวกับการทำแผนฟื้นฟูของการบินไทย “ส่วนแผนฟื้นฟูการบินไทยนั้น เป็นเรื่องที่การบินไทยต้องดำเนินการ ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ จะรอใช้สิทธิเจ้าหนี้ในการโหวตการทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟู ซึ่งตามกฎหมายคนที่ทำแผนกับผู้บริหารแผน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวกัน”

ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมามีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จากกระทรวงคมนาคมเข้าร่วมเป็น 2 ใน 9 กรรมการนั้นเป็นรายชื่อที่นายกรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้ง ทางกระทรวงคมนาคมไม่ได้เสนอ เพราะอำนาจที่จะเสนอคมนาคมไม่มีแล้ว หลังการบินไทยหลุดออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า หากการบินไทยดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการสำเร็จ ในอนาคตอาจกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้งก็ได้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ