The Issue : เปิดรายได้ชาวแกร็บ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

The Issue : เปิดรายได้ชาวแกร็บ

Date Time: 26 พ.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2563 พลขับของแกร็บ (Grab) แอปพลิเคชันบริการขนส่งในประเทศไทยทะลุมากกว่า 100,000 คนไปแล้ว หลังช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ความต้องการสั่งอาหารดีลิเวอรีเพิ่มสูงขึ้นมาก

Latest

5 เทรนด์ธุรกิจเด่น ปี 2025 “สตรีมมิ่ง-บริหารหนี้” โตสูง โอกาสนักลงทุนไทย อยู่ตรงไหน?

ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2563 พลขับของแกร็บ (Grab) แอปพลิเคชันบริการขนส่งในประเทศไทยทะลุมากกว่า 100,000 คนไปแล้ว หลังช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ความต้องการสั่งอาหารดีลิเวอรีเพิ่มสูงขึ้นมาก เช่นเดียวกับความต้องการสมัครเป็นพาร์ตเนอร์คนขับแกร็บเพื่อหารายได้เพิ่มเติม

นั่นเป็นเหตุให้ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ก.พ.-มี.ค.2563) แกร็บรับพาร์ตเนอร์คนขับเพิ่มอีก 29,000 คน และต่อมาในเดือน เม.ย. รับเพิ่มอีก 35,000 อัตรา เมื่อรวมกับพาร์ตเนอร์เดิมที่มีอยู่ ทำให้ตัวเลขพลขับชาวแกร็บในปัจจุบันมีมากกว่า 100,000 คนทั่วประเทศไทย

แกร็บเป็นสตาร์ตอัพที่ก่อตั้งขึ้นโดย 2 หนุ่มสาวชาวมาเลเซียที่เดินทางไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา วันหนึ่งระหว่างกลับมาเยี่ยมบ้าน พวกเขาประสบปัญหาเดิมๆในการเรียกรถแท็กซี่ในมาเลเซีย นั่นคือคอยนานและหารถยาก จนคิดอยากแก้ปัญหา

เมื่อสามารถนำไอเดียและเทคโนโลยีมาผสานกันได้แบบ “เกาถูกที่คัน” สตาร์ตอัพเล็กๆที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 ในมาเลเซีย จึงเดินทางบุกตะลุยสู่ความสำเร็จจนถึงวันนี้ ด้วยมูลค่าบริษัททะลุ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 500,000 ล้านบาท (ตัวเลขประมาณการจากนิตยสาร Forbes)

จากจุดเริ่มต้น วันนี้...แกร็บขยายสู่บริการหลากหลายใน 8 ประเทศเอเชีย รวมประเทศไทย ที่ซึ่งถนนหนทางเต็มไปด้วยนักขับชาวแกร็บในชุดเขียวสดใส แว้นไปมาขวักไขว่

เหตุผลของคนขับส่วนใหญ่มาจากต้องการหารายได้พิเศษ เพราะเป็นงานอิสระที่ทำได้นอกเวลางานประจำ แถมมีโอกาสเจอคนมากมาย อย่าง “กนกพร รัตนอัมพร” วัย 33 ปี อดีตพนักงานการเงิน ลาออกจากงานประจำมาขับแกร็บ ส่งอาหารเป็นอาชีพหลักได้ราว 4 เดือน ปัจจุบันเธอตั้งเป้ารายได้ ไว้ที่วันละ 700 บาท เพื่อไม่ให้ต่ำกว่าเงินเดือนที่เคยได้รับเดือนละ 20,000 บาทเศษ

เมื่อถามว่า เคยถูกลูกค้าเบี้ยวค่าอาหารไหม เธอบอกว่าโชคดีเคยเจอแค่ครั้งเดียว แต่หากเจอแบบนี้สามารถโทร.หาคอลเซ็นเตอร์ของแกร็บเพื่อแจ้งปัญหาและได้รับการชดใช้ค่าอาหารได้

เธอเล่าอีกว่าตั้งแต่แกร็บรับคนขับเพิ่มในช่วงโควิด-19 ทำให้งานถูกเฉลี่ยออกไปกระทบต่อรายได้บ้าง แต่เข้าใจได้เพราะทุกคนกำลังลำบาก และแม้ทำอาชีพอิสระขับแกร็บ แต่เธอสามารถผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้เป็นพาหนะทำมาหากินได้หมดแล้วและกำลังสร้างหนี้ใหม่ด้วยการซื้อบ้าน “กนกพร” ปิดท้ายว่า จะขับแกร็บเป็นอาชีพหลักต่อไป ไม่กลับไปเป็นพนักงานประจำอีก เพราะไม่อยากถูกจำกัดด้วยชั่วโมงทำงานอีกต่อไป

ด้าน “ณฐนนท์ รัตนปรีชาชัย” วัย 19 ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ที่เริ่มส่งอาหารด้วยการเดิน (GrabFood Walk) มาตั้งแต่เดือน ก.พ.หลังถูกเลิกจ้างจากการเป็นพนักงานเสิร์ฟพาร์ตไทม์ของร้านอาหารแห่งหนึ่งเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19

ตอนเป็นเด็กเสิร์ฟเขามีรายได้ราว 400 บาทต่อวันไม่รวมทิป พอถูกเลิกจ้างขาดรายได้ และแกร็บเปิดบริการเดินส่งอาหาร GrabFood Walk พอดี จึงตัดสินใจสมัครเพราะไม่มีมอเตอร์ไซค์ โดยยอมควัก 1,000 บาท เป็นค่าเสื้อและกระเป๋าส่งอาหาร เพื่อให้ดูเรียบร้อยน่าเชื่อถือ

ปัจจุบัน “ณฐนนท์” เดินส่งอาหารอยู่ย่านสยามสแควร์ สามย่าน โรงพยาบาลตำรวจในรัศมี 1-3 กิโลเมตร รายได้เฉลี่ยที่วันละ 300 บาท แต่ถ้าวันไหนฝนตกรายได้จะพุ่งไปที่วันละ 600-700 บาท เพราะคนไม่อยากเดินออกมาซื้ออาหารเอง โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพนักงานออฟฟิศแถวนั้น

ทุกวันนี้ “ณฐนนท์” ภูมิใจที่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระที่บ้าน ไม่ต้องแบมือขอค่าขนม ถ้าอยากได้อะไรพิเศษก็ใช้เงินตัวเองซื้อ ส่วนค่าเล่าเรียนนั้นทางบ้านยังรับผิดชอบอยู่ เขาคิดว่าจะเดินส่งอาหารไปเรื่อยๆ เพราะทำเวลาไหนก็ได้ พอเปิดเทอมก็ใช้เวลาช่วงเลิกเรียน ทำงานแถวสยาม ถ้าไม่มีงานก็เดินเล่นเป็นกิจกรรมโปรด

ปิดท้ายที่ “วชิรวุฒิ วีระวัฒน์” วัย 33 ปี เจ้าของร้านเสื้อผ้า Back 2 Basic BKK ที่ตลาดนัดจตุจักร เล่าว่า ขายเสื้อเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 50,000-60,000 บาท (หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว) แต่มีเวลาว่างเยอะ จึงสมัครเป็นพาร์ตเนอร์ของแกร็บช่วงเดือน ก.พ. โดยพาหนะที่ใช้เป็นสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า

พอโควิด-19 เริ่มระบาดหนัก ตลาดจตุจักรถูกปิด แกร็บจึงกลายเป็นแหล่งรายได้เดียว โดยเฉลี่ยได้เงินวันละ 200-300 บาท ในระยะเวลา 3-4 ชั่วโมง ให้บริการอยู่แถวสีลม สยาม เซ็นทรัลเวิลด์

เขาบอกว่า ตอนนี้ตลาดจตุจักรเปิดแล้ว แต่ลูกค้ายังไม่กลับมาเท่าเดิมโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน การหารายได้เสริมด้วยการส่งอาหารกับแกร็บ ถือว่าช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย อย่างน้อยก็ได้ค่ากินในแต่ละวัน แถมได้เดินเล่นอยู่ในศูนย์การค้าไม่น่าเบื่อและยังได้พบปะผู้คนมากมาย.

ศุภิกา ยิ้มละมัย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ