เปิดฐานะทีวียุคโควิด โมโน-ช่อง3เจ็บหนัก อาร์เอสกำไรเพิ่มขึ้น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดฐานะทีวียุคโควิด โมโน-ช่อง3เจ็บหนัก อาร์เอสกำไรเพิ่มขึ้น

Date Time: 20 พ.ค. 2563 09:05 น.

Summary

  • เปิดผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 63 หุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัลในตลาดหลักทรัพย์ฯ เจอพิษโควิดกันถ้วนหน้า พบโมโนกับช่อง 3 ยังขาดทุนหนัก อมรินทร์ขาดทุนเพราะธุรกิจหนังสือ แต่ฝั่งทีวีทำกำไรสบายๆ

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

เปิดผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 63 หุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัลในตลาดหลักทรัพย์ฯ เจอพิษโควิดกันถ้วนหน้า พบโมโนกับช่อง 3 ยังขาดทุนหนัก อมรินทร์ขาดทุนเพราะธุรกิจหนังสือ แต่ฝั่งทีวีทำกำไรสบายๆ ด้านเวิร์คพอยท์-แกรมมี่ยังมีกำไรแต่ลดลง ส่วนอาร์เอสโชว์กำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์และเป็นรายเดียวที่กำไรเพิ่มขึ้น

โดย บมจ.โมโน เทคโนโลยี (MONO) มีผลขาดทุนสุทธิ 390.26 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 247.36% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 112.35 ล้านบาท โดย MONO ชี้แจงว่าผลขาดทุนมาจากรายได้ที่ลดลงโดยเฉพาะค่าโฆษณาจากผลกระทบโควิด-19 โดยบริษัทมีรายได้รวม 372.9 ล้านบาท ลดลง 34.6% เป็นรายได้จากให้บริการสื่อโฆษณา 293.9 ล้านบาท ลดลง 38.9% รายได้จากการสมัครรับข้อมูลข่าวสารและบันเทิง 24.6 ล้านบาท ลดลง 7.7% ขณะที่มีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อหยุดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร ซึ่งเป็นรายการพิเศษเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 121.3 ล้านบาท

ขณะที่ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) เจ้าของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มีผลขาดทุนสุทธิ 275.16 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 115% จากงวดปี 62 ที่ขาดทุน 128.03 ล้านบาท เนื่องจากรายได้การขายเวลาโฆษณาลดลงอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท ลดลง 18.5% ผลจากงบโฆษณาที่ลดลงจากผลกระทบโควิด-19 ระบาด ขณะที่รายได้จากการจัดคอนเสิร์ตลดลง 92%

ส่วน บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง (AMARIN) ขาดทุน 18.25 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทชี้แจงว่า โควิด-19 ทำให้ธุรกิจจัดจำหน่ายหนังสือต้องปิดร้าน แต่ผลประกอบการของบริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด ที่ทำช่องทีวีดิจิทัล มีกำไรจากการดำเนินงานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 62 หลังพัฒนาเนื้อหารายการให้มีความเข้มข้นขึ้น และเดือน ม.ค.ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิง ช่วยหนุนระดับความนิยมเฉลี่ย (Rating) เพิ่มขึ้น จาก 0.419 ในเดือน ธ.ค. 62 เป็น 0.486 ในช่วงไตรมาส 1 ส่งผลให้ภาพรวมของบริษัทดีขึ้น คือขาดทุนลดลงจากงวดเดียวกันปีก่อน 37.39%

ด้าน บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) มีกำไรสุทธิ 46.29 ล้านบาท ลดลง 38% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 74.52 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้จากรายการโทรทัศน์ 480.66 ล้านบาท ลดลง 10% มาจากการลดลงของรายได้จากช่อง WORKPOINT เป็นหลัก โดยเฉพาะเดือน มี.ค.ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลเม็ดเงินโฆษณาชะลอตัวลง ทั้งที่ปกติจะเป็นช่วงใช้งบโฆษณา (ไฮซีซั่น) ของการใช้สื่อโฆษณา

สำหรับ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) มีกำไรสุทธิ 40.96 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไร 58.62 ล้านบาท โดยบริษัทชี้แจงว่า ทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่องที่แกรมมี่ถือหุ้นอยู่ ทั้งช่องวัน (One) และช่องจีเอ็มเอ็ม 25 มีความสามารถในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมและพัฒนาช่องอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลการดำเนินงานของกิจการร่วมค้ามีผลกำไรในไตรมาสนี้ แม้รายได้จากการขายสินค้า/บริการ และค่าลิขสิทธิ์จะลดลง 27.9% จากสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่ บมจ.อาร์เอส (RS) ที่แม้จะย้ายหมวดไปอยู่ในกลุ่มบริการพาณิชย์ แต่ยังคงทำธุรกิจทีวีดิจิทัล เพื่อเป็นช่องทางหลักในการขายสินค้าอุปโภคบริโภค พบว่า ไตรมาส 1 โชว์กำไรอู้ฟู่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์โดยมีกำไรสุทธิ 186.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 110.16 ล้านบาท โดยเป็นผลจากรายได้ที่โตขึ้นและมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพในทุกธุรกิจ เฉพาะรายได้ธุรกิจสื่ออยู่ที่ 375.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.1% จากงวดเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 50.5% จากไตรมาส 4 ปี 62

อาร์เอสระบุด้วยว่า ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด ทำให้ประชาชนต้องใช้ชีวิตในบ้านเพิ่มขึ้น สนับสนุนให้จำนวนผู้ชมโทรทัศน์ เดือน มี.ค.ขึ้นมาอยู่ที่ 9.2% ของจำนวนประชากร 64.6 ล้านคน จากสิ้นเดือน ธ.ค.62 อยู่ที่ 8.9%

ด้าน บมจ. อสมท (MCOT) ได้ขอผ่อนผันการส่งงบการเงินถึง 15 มิ.ย.63 เนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควร จากสถานการณ์โควิด-19.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ