“พุทธิพงษ์” แจงเลื่อนบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกไป 1 ปี เหตุมีเสียงจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะเอกชน เจอพิษโควิด-19 ยังไม่มีความพร้อม วอน ปชช.อย่ากังวล มุ่งคุ้มครอง ไม่ได้มาล้วงข้อมูล
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.63 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการเลื่อนบังคับใช้บางมาตราใน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (PDPA) ออกไป 1 ปี เป็นวันที่ 27 พ.ค. 2564 จากเดิมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พ.ค.63 นี้ ตามที่กระทรวงดีอีเอส เสนอ โดยสาเหตุที่ต้องเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป เนื่องจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มสมาคมและภาคธุรกิจต่างๆ ได้ยื่นข้อร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีถึงความไม่พร้อมในการดำเนินการตามกฎหมาย ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทุกองค์กรได้รับผลกระทบและยังไม่พร้อม โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชนที่มีปัญหาเรื่องรายได้และการลงทุน
รมว.ดีอีเอส กล่าวต่อว่า การเลื่อนบังคับใช้กฎหมายออกไปนั้น ทำให้ผู้ที่มีข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ที่ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลพนักงาน คู่ค้า หรือผู้ร่วมดำเนินงาน ทั้งในภาครัฐและเอกชน มีเวลาเตรียมความพร้อมในการจัดทำหรือปรับปรุงกระบวนการทำงาน และระบบงานของหน่วยงาน เพื่อรองรับมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่กำหนดไว้ในกฎหมายให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งต้องใช้งบประมาณและบุคลากรจำนวนมากในการดำเนินการ
นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตราที่ยังไม่บังคับใช้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการกำหนดบทลงโทษ หากหน่วยงานนั้นๆ ไม่จัดเก็บข้อมูลตามกฎหมาย และฝ่าฝืนทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ จะมีโทษทั้งอาญาและปกครอง เช่น จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับสูงสุดถึง 5 ล้านบาท เป็นต้น ส่วนมาตราอื่นๆ ภาคเอกชนไม่ได้เป็นกังวล เนื่องจากได้เตรียมพร้อมไว้บางส่วนแล้ว
“ไม่อยากให้ประชาชนกังวลต่อกฎหมายฉบับนี้ เพราะยืนยันว่ากฎหมายนี้คือ หลักเกณฑ์กลางเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้ถูกละเมิด ตามหลักสากล จึงไม่ใช่การไปล้วงข้อมูลของบุคคลใด ตามที่มีการลือและแชร์กันในสื่อออนไลน์แต่อย่างใด และจากนี้ยังมีเวลาเตรียมพร้อมก่อนกฎหมายบางมาตราจะมีผลบังคับใช้ในอีก 1 ปีข้างหน้า” รมว.ดีอีเอส กล่าว.