สหภาพการบินไทย ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยในการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง ชี้ เป็นการทำลายความเชื่อมั่นในสายตาเจ้าหนี้และนักลงทุน ลั่น จะคัดค้านจนถึงที่สุด
วันที่ 18 พ.ค. 2563 สหภาพการบินไทย ได้ออกแถลงการณ์สหภาพแรงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เรื่อง จุดยืนของสหภาพแรงงานๆ ในเรื่องแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่ กระทรวงคมนาคม เสนอให้ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา จากการที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อเสนอแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทยมาโดยตลอด
ทั้งนี้ ได้รับทราบข้อมูลล่าสุดของแผนฟื้นฟูๆ ที่กระทรวงคมนาคม ได้เสนอ คนร. พิจารณามีสองประเด็นหลักคือ
1. เสนอให้บริษัทการบินไทย ใช้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งบรรจุอยู่ในกฎหมายล้มละลาย โดยผ่านกระบวนการศาลล้มละลายกลาง เป็นทางเลือกในการฟื้นฟูบริษัทๆ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว และเชื่อมั่นว่า ข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมในประเด็นนี้ จะส่งผลดีกับบริษัทการบินไทยที่จะฟื้นฟูได้จริงและสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและผลกำไรดีกว่าเดิม
2. ประเด็นที่กระทรวงคมนาคม เสนอให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือครองหุ้นโดยกระทรวงการคลังลง 2% นั้น สหภาพฯ ขอแสดงจุดยืนคัดค้านตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม ในประเด็นนี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
2.1 บริษัทการบินไทยกำลังเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการโดยกระบวนการทางศาล ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทฯ ในเวลานี้ อาจส่งผลให้เจ้าหนี้ยื่นคัดค้านการร้องขอต่อศาลในการขอฟื้นฟูกิจการ โดยอาศัยบทบัญญัติในกฎหมายล้มละลายได้ เนื่องจากการที่บริษัทสามารถออกหุ้นกู้ และหรือขอกู้งินจากสถาบันการเงิน ทั้งในและต่างประเทศ เจ้าหนี้และนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในบริษัทฯ ได้ก็โดยอาศัยสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของบริษัทฯ ดังนั้น การลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังในช่วงที่บริษัทกำลังจะเข้าแผนฟื้นฟู จึงเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของบริษัทในสายตาของเจ้าหนี้และนักลงทุน
2.2 การลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังลงเหลือต่ำกว่า 50% จะส่งผลทำให้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยถูกยุบไปตามกฎหมาย (พ.ร.บ.แรงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543) ซึ่งจะส่งผลทำให้พนักงานของบริษัทไม่ได้รับความคุ้มกรองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานในช่วงการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งในแผนฟื้นฟูจะต้องมีการปรับลดพนักงาน ลด หรือยุบ บางตำแหน่งงาน รวมถึงลดสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอื่นๆ บางประการของพนักงาน ดังนั้น การลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังในช่วงนี้ จึงอาจทำให้ถูกมองได้ว่า รัฐไม่มีความจริงใจในการสนับสนุนการคุ้มครองแรงงานตามวิถีทางของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเลือกปฏิบัติในแนวทางที่ไม่คำนึงถึงสิทธิของลูกจ้าง
“สหภาพฯ จึงไม่เห็นด้วยในการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังและจะคัดค้านจนถึงที่สุด”