ออมสิน ขยายเวลาพักชำระเงินต้น และดอกเบี้ยอัตโนมัติจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 ก.ย.63 ช่วยลูกค้าประสบภัยไวรัสโควิด-19 ขณะที่ ครม.อุดช่องโหว่การใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ห้ามนักการเมือง-ทหารยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยว
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้ขยายเวลาโครงการพักชำระเงินต้น และดอกเบี้ยเพื่อช่วยลูกค้าเงินกู้ในสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด โดยอัตโนมัติเป็นเวลา 3 เดือนออกไปเป็น 6 เดือน ให้แก่ลูกหนี้เงินกู้สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเคหะที่มีเงินต้นคงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาทและ สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีเงินต้นคงเหลือไม่เกิน 100 ล้านบาท ทุกรายที่มีสถานะชำระปกติ จนถึงที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3เดือน ณ วันที่ 31 มี.ค.63 ซึ่งจะมีผลโดยอัตโนมัติทันทีตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ถึง วันที่ 30 ก.ย.63 โดยลูกค้าไม่ต้องยื่นแสดงความจำนงที่ธนาคารออมสินแต่อย่างใด
“เดิมธนาคาร ช่วยลูกค้าเงินกู้เคหะที่มียอดเงินต้นคงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าลูก ค้าเดือดร้อนกันทุกราย จึงพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการได้ทั้งหมดแต่ถ้าลูกค้าไม่ต้องการพักชำระก็สามารถแจ้งกับธนาคารได้ หรือต้องการชำระเป็นบางเดือนที่ลูกค้าคิดว่า สามารถจ่ายได้ เช่น จ่ายเดือน เว้นเดือน หรือเดือนแรกถึง 2 เดือนแรก ยังจ่ายไม่ไหวก็หยุดชำระ เดือนที่ 3 มีรายได้พอตั้งตัวได้แล้ว อยากจะชำระได้ ก็มาติดต่อขอชำระได้”
ทั้งนี้ธนาคาร ได้ยืดหยุ่นการชำระเงินงวดให้ลูกค้าเป็นกรณีพิเศษ เพื่อช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังให้ลูกค้าสามา รถกลับมายืนได้แข็งแรงใช้ชีวิตได้ตามปกติได้เมื่อสถานการณ์นี้คลี่คลายลง โดยธนาคารผ่อนปรนให้ถือว่าเป็นสถานะลูกค้าปกติ ไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ส่วนลูกหนี้ที่ถูกฟ้องอยู่ในสถานะหลังจากมีการพิพากษาแล้วจะได้รับการช่วยเหลือด้วย แต่จะพิจารณาเป็นกรณีเฉพาะราย
สำหรับดอกเบี้ยของเงินงวดในระหว่างพักชำระหนี้ 6 เดือนในโครงการนี้ จะให้ลูกค้าไปชำระในงวดสุดท้ายของสัญญา หรือเลือกวิธีเฉลี่ยจ่ายหลังพ้นจากช่วงพักชำระไปแล้วก็ได้ ทั้งนี้ หลังจากครบกำหนดระยะเวลาการพักชำระเงินต้น และดอกเบี้ยดังกล่าวแล้ว ให้ลูกค้าชำระงวดค้างเดิมก่อนเข้ามาตรการ (ถ้ามี) แล้วจึงผ่อนชำระเงินงวดในเงื่อนไขเดิมตามสัญญาปกติหรือสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก่อนหน้าเข้ามาตรการพักชำระเงินต้น และดอกเบี้ย 6 เดือนข้างต้น แต่หากไม่สามารถชำระได้ ให้เข้าร่วมมาตรการพักชำระเงินต้นได้อีก 2 ปี ตามที่ธนาคารได้ประกาศไปแล้ว ซึ่งเป็นมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ขณะที่ด้านการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (21 เม.ย.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงาน หรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.63 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้การใช้เงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยกำหนดให้สำนักงบประมาณ มีหน้าที่จัดสรรเงินกู้ที่ ครม.อนุมัติ และกำหนดหลักเกณฑ์ ให้กรมบัญชีกลาง มีหน้าทีรับฝากเงินกู้ไว้ในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง
ขณะเดียวกัน ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ จัดหาเงินกู้และดำเนินการกู้เงิน ส่วนการพิจารณากลั่นกรอง และกาอนุมัติโครงการต้องมี เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับแผนในบัญชีท้าย พ.ร.ก. และเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ เป็นโครงการที่มีความพร้อม ดำเนินการได้ทันที และเป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าในการดำเนินงานและก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือสังคม สำหรับการเก็บรักษาเงินกู้และการเบิกจ่ายเงินกู้ เป็นการกำหนดให้สำนักงานบริการหนี้สาธารณะนำเงินกู้ฝากบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลังชื่อบัญชี “เงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา COVID-19” และกำหนดแนวการเบิกจ่ายเงินกู้ให้เป็นไปตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินของทางราช การ และหลักเกณฑ์หรือวิธีปฏิบัติที่กระทรวงการคลังกำหนด
ส่วนการติดตามประเมินผล และการรายงานผลการใช้เงินกู้เป็นการกำหนดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ รมว.คลังกำหนด โดยความเห็นชอบของ ครม.ตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ส่วนการใช้วงเงินกู้สำหรับรายการเงินสำรองจ่าย กำหนดให้ในกรณีที่หน่วยงานเจ้าของโครงการมีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ก็ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอคำขอใช้เงินกู้พร้อมแสดงเหตุผลด้วย โดยการใช้เงินดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเข้มงวดของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อไม่ให้มีนักการเมืองหรือนายทหารยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยว.