“หวั่นอยู่ไม่รอด” ผู้ประกอบการ 8 สายการบินวิกฤติหนัก ออกโรงทวงรัฐอย่าลืมธุรกิจการบิน ที่ผ่านมารัฐยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือ ส่งหนังสือย้ำ ขอรัฐช่วยหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2.5 หมื่นล้าน ประคองชีวิต หากยังไม่ได้ลอตแรก เม.ย.นี้ อาจรักษาการจ้างงานไม่ไหวแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการสายการบินในประเทศทั้ง 8 แห่ง ประกอบด้วย 1.สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส 2.สายการบินไทยแอร์เอเชีย 3.สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ 4.สายการบินไทย ไลอ้อนแอร์ 5.สายการบินไทยเวียตเจ็ท 6.สายการบินไทยสมายล์ 7.สายการบินนกสกู๊ต และ 8.สายการบินนกแอร์ ได้ประชุมร่วมกัน และทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อสอบถามความคืบหน้ามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด -19 ทำให้ต้องหยุดทำการบินเกือบ 100% ว่า ในส่วนของภาครัฐจะมีการดำเนินการและความช่วยเหลืออย่างไร
ทั้งนี้ รายละเอียดในเอกสารดังกล่าว ระบุว่า ก่อนหน้านี้ สายการบินในประเทศไทยทั้ง 8 แห่งได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลังเพื่อขอความช่วยเหลือเงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) วงเงินโดยประมาณ 25,000 ล้านบาท เพื่อประคองธุรกิจและรักษาสภาพการจ้างงานให้มากที่สุด ซึ่งขอติดตามในประเด็นเหล่านี้ คือ
1.ขอสอบถามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวว่าอยู่ในขั้นตอนอย่างไรบ้าง
2.รัฐบาลจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในกรอบใด เพราะตามมาตรการการช่วยเหลือตามมติ ครม.ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเน้นการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นหลัก แต่ยังไม่มีการกล่าวถึงประเด็นการช่วยเหลือ หรือหามาตรการที่เหมาะสมรองรับธุรกิจสายการบินแต่อย่างใด
3.รัฐบาลจะให้มีเงื่อนไข หรือรายละเอียดอย่างไร สำหรับวงเงินกู้ดังกล่าวแก่สายการบิน เช่น จะให้ธนาคารใดเป็นเจ้าภาพ และมีเงื่อนไขอย่างไรให้เข้าถึงวงเงินดังกล่าวได้จริงอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีกับสถานการณ์ฉุกเฉินในปัจจุบัน เช่น อาจจะมีการผ่อนผันสายการบิน ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และใช้ระยะเวลาในการอนุมัติไม่นาน
4.ธุรกิจสายการบิน เป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในกรณีวิกฤติโรคระบาดได้คลี่คลายลง เพราะเป็นส่วนที่จะนำพานักท่องเที่ยวและเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น การรักษาให้ทุกสายการบินในประเทศไทยยังคงอยู่ได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลมองเรื่องนี้อย่างไรต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกครั้ง
5.ธุรกิจสายการบินในประเทศไทยมีพนักงาน 20,000 - 30,000 คน ซึ่งในช่วงเดือน มี.ค. และ เม.ย.เกือบทุกสายการบินได้หยุดทำการบินทุกเส้นทาง หมายความว่า ทุกสายการบินไม่มีรายได้เข้ามา แต่ยังคงจ้างงานพนักงานของตนไว้ให้มากที่สุด ดังนั้น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลจึงเป็นหัวใจสำคัญต่อธุรกิจสายการบินเป็นอย่างมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การขอรับความช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในวงเงิน 24,150 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 8 สายการบินเสนอขอกู้เงินในช่วงก่อนหน้า จะจัดสรรให้แต่ละสายการบินตามความจำเป็น ประกอบด้วย
1.สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส วงเงิน 3,000 ล้านบาท
2.สายการบินไทยแอร์เอเชีย วงเงิน 4,500 ล้านบาท
3.สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ วงเงิน 3,000 ล้านบาท
4.สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ วงเงิน 3,750 ล้านบาท
5.สายการบินไทยเวียตเจ็ท วงเงิน 900 ล้านบาท
6.สายการบินไทยสมายล์ วงเงิน 1,500 ล้านบาท
7.สายการบินนกสกู๊ต วงเงิน 3,500 ล้านบาท
และ 8.สายการบินนกแอร์ วงเงิน 4,000 ล้านบาท
โดยขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในอัตรา 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 60 เดือน มีระยะเวลาพักหนี้ และเริ่มชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในวันที่ 1 ม.ค.64 เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติของการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อสภาวะทางการเงินของสายการบินอย่างมหาศาล โดยสายการบินมีความจำเป็นที่ต้องขอเบิกเงินงวดแรกเป็นจำนวน 25% ของวงเงินกู้ภายในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อใช้ประคองธุรกิจ รักษาสภาพการจ้างงานของพนักงานบริษัทในแต่ละสายการบินได้อย่างทันท่วงที.