นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้เตรียมเสนอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ขอใบอนุญาตต่างๆของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ที่ประชุม ครม.เร็วๆนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ 42,000 ราย คิดเป็นมูลค่า 310 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับระบบราชการโดยตรง เช่น การตรวจโรงงานโดยเจ้าหน้าที่ราชการ, การขอใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) คาดว่า ช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ 30,000 ราย มูลค่า 210 ล้านบาท 2.ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องใช้การตรวจสอบโรงงานจากบุคคลภายนอก คาดว่าช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ 12,000 ราย มูลค่า 100 ล้าน
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เพื่อเพิ่มช่องทางเสริมสำหรับประชาชนและธุรกิจ ที่ต้องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือต้องการความช่วยเหลือจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) จึงได้เปิดช่องทาง “ทางด่วนแก้หนี้” ขึ้น เพื่อเป็นตัวกลางในการติดต่อสถาบันการเงิน เพื่อลดการแพร่กระจายของโควิด-19 ใน 2 กรณี คือ
1.ลูกหนี้ไม่สามารถติดต่อสถาบันการเงินได้เนื่องจากมีคนติดต่อเข้าไปจำนวนมาก สามารถส่งเรื่องผ่านช่องทางนี้ได้
2.กรณีที่ติดต่อได้แล้วแต่ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ขอให้สถาบันการเงินระบุเหตุผลเพื่อ ธปท.จะเข้าไปช่วยดูว่ามีอะไรที่พอจะทำได้บ้าง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายหาข้อยุติร่วมกันได้
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า กรณีที่ลูกค้าธนาคารได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 5,000 บาท จากรัฐบาลเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร และไม่สามารถเบิกเงินได้ เนื่องจากระบบธนาคารได้มีการนำไปหักชำระหนี้เงินกู้ ที่เป็นหนี้ค้างชำระโดยอัตโนมัติ และได้ขอให้ลูกค้าที่ถูกหักเงินแจ้งเรื่องได้ที่เว็บไซต์ www.gsb.or.th ล่าสุด ธนาคารจะเร่งโอนเงินกลับเข้าบัญชีลูกค้าได้ภายใน 3 วันหรือในสัปดาห์นี้.